มังกร (Dragons คำนี้มาจากภาษากรีกว่าดรากา draca แปลว่างูใหญ่) เป็นสัตว์ประหลาดยอดนิยมในหมู่เรื่องตำนานสัตว์ประหลาดทั่วโลกที่แฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนคงรู้จักดี ไม่ว่าบ้านเมืองไหนก็ดูเหมือนจะต้องมีมังกรเอาไว้ให้นับถือเข้าสักตัว ของไทยเราก็มีพญานาคไงครับ จัดอยู่ในหมู่ มังกรนี่เหมือนกัน ไม่มีใครชี้ชัดลงไปได้ว่า ความเชื่อเรื่องมังกรมีกำเนิดที่ไหนกันแน่เพราะตำนานเกี่ยวกับมังกรก็มีมาแต่เก่าแก่เหมือนกันหมด
คุณลักษณะของมังกรคือ ไม่ว่าจะพันธุ์ไหนก็ล้วนเป็นพวกที่มีสายตาแหลมคม แถมด้วยความฉลาดสุขุม กล้าหาญและทรงพลัง ส่วนใหญ่มีความสามารถในการบิน มังกรตะวันตกมีปีกเป็นพังผืดแบบหนังค้างคาว และบินขึ้นลงในแนวดิ่ง มังกรส่วนใหญ่มีต่อมสร้างไฟ ซึ่งทำให้ไฟพ่นออกมาจากจมูกของมันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ ต่อมนี้จุพลังงานได้พอที่จะพ่นไฟเต็มที่ในระยะสั้นๆเท่านั้น
มังกรมีนิสัยคล้ายสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ คือจะวนเวียนอยู่ในอาณาเขตของตัวเองเท่านั้น มันกินอาหารนานๆครั้ง ประกอบด้วยของโปรดคือวัวหรือแกะ ถ้าหาไม่ได้จริงๆมนุษย์ก็เอาครับ มันจับคู่ครั้งหรือสองครั้งในหนึ่งศตวรรษ (เน้น...ศตวรรษนะครับ ร้อยปีทีเดียว) ตัวไหนมีหน้าที่เฝ้าสมบัติมันจะอยู่ในหน้าที่ของมันอย่างมั่นคง อาจจะนั่งๆนอนๆ หรือบินตรวจการณ์อยู่บนฟ้าก็ได้ทั้งสองอย่าง
ด้วยพลังและฤทธีทำให้ ผู้คน ยุคนั้น กลัวมังกรกัน หัวหด แต่ก็ยังประทับใจมนุษย์ถึงขั้น นำฉายามาใช้เปรียบเทียบกับผู้มีความกล้าหาญองอาจ หรือในบางถิ่นประเทศเอาสัญลักษณ์รูปมังกรมาใช้
เป็นตราประจำตระกูลขุนนาง อัศวิน หรือประดับบนธงเพื่อแสดงถึงพลังอำนาจ
...
กระนั้นความเชื่อเรื่องมังกรของคนทั่วโลก ก็ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก ถ้าเราลองแบ่งความเชื่อเรื่องมังกรเป็นสองฟากคือ มังกรฟากตะวันตก กับมังกรฟากตะวันออก ก็จะเห็นความแตกต่างครับ
สำหรับในซีกโลกตะวันตกแม้ว่ายุคแรกๆ มังกรเป็นตัวแทนของพลังอันมหาศาลของโลก เป็นตัวแทนแห่งความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัว แต่พอตกมาถึงยุคคริสต์ศาสนาเข้าครองยุโรป สถานะของมังกร กลับง่อนแง่น กลับกลายเป็นสัตว์ชั่วร้าย เป็นพิษเป็นภัยต่อมวลมนุษย์จนต้องกำจัดซะ และใครก็ตาม
ที่กำจัดได้ย่อมเป็นผู้กล้าเป็นวีรบุรุษไปโน่นเลยทีเดียว นี่แตกต่างจากความเชื่อในมังกรตะวันออกนะครับ เพราะในซีกโลกตะวันออกกลับมองตรงกันข้ามเห็นว่ามังกรเป็นสัตว์ที่มีฐานะกึ่งเทพ บันดาลฝนและความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ สัญลักษณ์แห่งเกียรติยศความสูงส่ง
หลังจากแยกประเภทเป็นมังกรตะวันตกและตะวันออกแล้ว เรามาลงลึกด้วยการจำแนกต่อไปอีกด้วยการแบ่งมังกรในซีกโลกตะวันตกไว้ตามความเชื่อเรื่องถิ่นที่อยู่ของมัน ฝรั่งแบ่งมังกรของพวกเขาออกเป็นสามพวก คือ
มังกรยุโรปเหนือ พบในแถบเหนือของเยอรมนี ในสแกนดิเนเวียและในหมู่เกาะทางแอตแลนติกเหนือ
มังกรยุโรปตะวันตก หรือมังกรออกซิเดนทัล (Occidental) หรือจะเรียกว่ามังกรตะวันตกก็ไม่ผิดครับ ตำนานมังกรพวกนี้มีอยู่ในฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสเปน เป็นตัวสร้างสีสันเรื่องราวความสนุกสนานในตำนานของคนฝรั่งยุโรป ขนาดที่พวกเขามีการศึกษาแบ่งสายพันธุ์ของมันไว้ต่างๆอีกต่างหาก
มังกรเมดิเตอเรเนียน ว่ากันว่าอยู่ที่กรีซ เอเชียไมเนอร์ รัสเซียใต้และแอฟริกาเหนือ หรือจะเรียกมังกรตระกูลกรีกก็ไม่ผิด มังกรตระกูลนี้ก็มีเรื่องราวสนุกไม่ย่อย เอาไว้ในโอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังกัน
สำหรับวันนี้ เราก็มาฟังเรื่องมังกรตะวันตกกันก่อนครับ เป็นพวกที่ทั้งน่าปวดหัวและน่าสนใจเป็นอันมาก ทำไมผมถึงบอกว่าน่าปวดหัวและน่าสนใจล่ะ...ก็เพราะมังกรในภูมิภาคนี้มันมีหลายพันธุ์มากมาย หนำซ้ำ
เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่นับตั้งแต่การ์ตูนญี่ปุ่นเป็นที่นิยม เกมคอมพิวเตอร์เป็นที่แพร่หลาย ซ้ำด้วยหนังสือพ่อมดสมัยใหม่ของคุณเจ เค โรลลิง มังกรตะวันตกยิ่งแตกหน่อต่อพันธุ์หลากหลายหนักเข้าไปอีก
แต่กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการแบบใด ก็ต้องนับว่ามีรากเดียวกันมาจากความเชื่อแบบเดิมๆครับว่า มังกรยุโรปตะวันตก หรือเรียกว่ามังกรออกซิเดนทัล เป็นมังกรขนาดใหญ่ มีขาใหญ่หนาสี่ขา มีตีนที่ทรงพลัง และมีกรงเล็บแหลมคมเหมือนกรงเล็บอินทรี มีทั้งแบบมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด หางเหมือนงู อาจมีปีกหรือไม่มี แต่ถ้าเป็นประเภทมีปีก ปีกของมันก็เป็นพังผืดหนังเหมือนค้างคาว ลำตัวอ้วนสั้น หัวของมันรูปร่างเหมือนลิ่มเช่นเดียวกับจระเข้ หรือจำพวกพันธุ์จิ้งทั้งหลาย บางพันธุ์มีหงอน เขา หรือไม่ก็เป็นกิ่งเขากวาง ในปากของมันมีเขี้ยวแถมยังมีพิษร้าย อาศัยอยู่บนแผ่นดิน
แต่ที่ดูน่าตื่นเต้นสุดๆ คือมันพ่นไฟ หรือพ่นไอต่างๆจากปากได้ มังกรออกซิเดนทัลชอบอยู่ตัวเดียวไม่รวมเป็นฝูง และต่างจากมังกรประเภทอื่นๆอยู่อย่างหนึ่งก็คือ สื่อสารกับคนได้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือจิตสัมผัส มันจึงอาจมีโอกาสตกเป็นทาสพ่อมด หรือผู้ทรงพลังเวทได้ครับ
...
มังกรออกซิเดนทัลยังแบ่งเป็นหลายสายพันธุ์ คือ พวกเวิร์ม ไวเวิร์น ลินวอร์ม และเดรค
มังกรเวิร์ม (Worms, Wurms or Wyrms) ไม่มีขา แต่มีปีก มังกรชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอังกฤษ ต่อมาก็แพร่หลายไปยังฝรั่งเศสและ บางส่วนของยุโรปตะวันตก และเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของมังกรตะวันตก
ยุคต่อมา มังกรเวิร์ม คล้ายกับงูตัวใหญ่ หัวคล้ายม้าหรือจระเข้ บางตัวมีเขา ดวงตาโตเบิกโพลงส่องแสงลุกเรือง มีเขี้ยวขนาดใหญ่ มีหางยาวมากขนาดขดรอบเนินเขาลูกเล็กๆได้สบาย ลำตัวของมันถ้าไม่สังเกตดีๆอาจเห็นเป็นพื้นดินหรือเนินดิน และเมื่อเปรียบเทียบกับมังกรชนิดอื่นๆ พลังเหนือธรรมชาติของมังกรเวิร์มมีจำกัดกว่า แต่สิ่งที่ทดแทนคือมังกรเวิร์มสามารถพ่นไฟหรือสารพิษออกมาและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
มังกรอื่นมักล่าถอยเมื่อเจอคน แต่มังกรเวิร์มกลับพุ่งเข้าใส่ ทำร้ายผู้คนทันทีที่เห็น มักพบพวกมันตามหนอง บึง ทะเลสาบ หรือที่ชื้นแฉะ บางทีถึงกับลงไปอาศัยในบ่อน้ำเลยก็มี บางทีมันก็หลบอยู่ในหลืบที่ลึกที่สุดเพื่อปกป้องโลหะและอัญมณีมีค่า ทั่วยุโรปมีมังกรที่เป็นสาขาย่อยของมังกรเวิร์มมากมาย
...
เรื่องของเวิร์มที่ดังที่สุดเห็นจะไม่พ้นเรื่องของ แลมบ์ตัน เวิร์ม (Lambton Worm) ครับ เรื่องนี้เกิดในอังกฤษ น่าจะตั้งแต่ช่วงสงครามครูเสดโน่นละครับ เขาเล่ากันว่า จอห์น แลมบ์ตัน เป็นหนุ่มนอกรีตนอกรอย ไม่ชอบไปโบสถ์ แต่ชอบยิงนกตกปลาตามประสาเด็กซน วันอาทิตย์หนึ่งที่เกิดเรื่อง เขาไม่ยอมไปโบสถ์ตามเคยแต่เดินเรื่อยไปตกปลา ระหว่างกำลังเกี่ยวเบ็ดเขาเจอชายชราเตือนว่า ถ้าหากไม่ไปโบสถ์เขาจะไม่ได้เจอสิ่งดีๆ
คนหัวรั้นอย่างเขาหรือจะเชื่อ จอห์นยักไหล่แล้วตกปลาต่อ วันนั้นทั้งวันเขา จับปลาไม่ได้เลย กระทั่งมีเสียงระฆังบอกว่าพิธีในโบสถ์เสร็จ เขาก็ตกสัตว์ขึ้นมาได้ตัวหนึ่ง มันดูเหมือนปลาไหลตัวเล็กขนาดไม่เกินหัวแม่มือน่าเกลียดจนทนไม่ไหว ตอนนี้เอง ชายชราคนเดิมก็ปรากฏตัวขึ้น บอกว่าเขาจับได้ปีศาจ จอห์นไม่สนใจก็เลยเหวี่ยงมันลงบ่อใกล้ๆ จากนั้นก็ลืมเสียสนิท
...
ปีเดือนผ่านไป จอห์นเติบโตและอาสาออกรบในสงครามครูเสด ระหว่างนั้นเอง เจ้าหนอนน้อยเติบโตขึ้นเป็น มังกรเวิร์ม มันใหญ่โตและเต็มไปด้วยพิษสง คนในหมู่บ้านเริ่มสังเกตว่าวัวมักหายไปบ่อยๆ และแล้ววันหนึ่ง มังกรเวิร์มที่โตเต็มที่ก็แสดงตัวด้วยการขดอยู่รอบเนินเขา ตั้งแต่นั้นมันเริ่มสร้างความเสียหายแก่ตำบลใกล้เคียง เที่ยวอาละวาดกินแกะและสัตว์ต่างๆ จนแม้ถึงกับเด็กเล็กๆ ผู้คนต้องวุ่นวายหนีภัย ในที่สุดเมื่อหาอาหารไม่ได้ มันก็บ่ายหน้าเข้าหาปราสาทแลมบ์ตันซึ่งท่านลอร์ดผู้ชรา พ่อของจอห์น แลมบ์ตัน เป็นเจ้าของ ท่านลอร์ดใช้วิธีหาอาหารมาให้เพื่อไม่ให้มันเที่ยวอาละวาดอีกต่อไป ด้วยนม 20 แกลลอน จากวัว 9 ตัว
ผู้กล้าหาญต่างๆในตำบลพยายามฆ่ามังกรเวิร์มตัวร้าย แต่ไม่มีใครทำสำเร็จ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ใครตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของมันได้ ไม่กี่นาทีเนื้อที่ถูกตัดจะลอยกลับไปติดกับตัวมังกรตามเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อมันถูกกวนมากๆเข้า มังกรเวิร์มจะถอนรากต้นไม้เอามาควงกวาดคนที่เข้าไปยุ่งกับมัน ตายกันนักต่อนัก เรื่องเป็นดังนี้จนอีก 7 ปีต่อมา เมื่อจอห์น แลมบ์ตัน กลับจากครูเสด แล้วพบว่าปราสาทของเขากำลังอยู่ในขั้นวิกฤติเพราะมังกรร้าย
จอห์น แลมบ์ตัน ฉุกคิดได้ว่ามันคงเป็นผลพวงจากสิ่งที่เขาทำในอดีต และเขานั่นเองต้องรับผิดชอบ
จอห์น ไปขอคำแนะนำจากแม่มดที่เดอร์แฮม แม่มดบอกให้จอห์นเอาเงี่ยงเหล็กติดชุดเกราะ แล้วล่อมังกรไปจัดการที่แม่น้ำ แต่หลังจากฆ่ามังกรได้ จอห์นจะต้องฆ่าสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่เห็น มิฉะนั้นครอบครัวจะต้องคำสาป ไม่ได้ตายในบ้านไปเจ็ดชั่วอายุคน
จอห์นจัดการติดเงี่ยงบนเกราะ แล้วสั่งบิดาว่า เมื่อใดก็ตามที่ฆ่ามังกรได้ จะเป่าเขาสามครั้ง ให้พ่อช่วยปล่อยหมาออกจากปราสาท เขาจะฆ่าหมาซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่เห็นแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย แล้วจอห์นก็สวมเกราะเดินทางไปถึงตรงที่มังกรขดตัวอาบแดด เขาล่อมันไปถึงแม่น้ำ หลอกล่อให้มันรัดจนเงี่ยงแหลมคมมากมายที่ติดอยู่บนเกราะบาดลึกลงไปในเนื้อมังกร ยิ่งรัดยิ่งเฉือนลึก ในที่สุดเนื้อมังกรก็หลุดเป็นชิ้นๆ ร่วงลงไปในแม่น้ำ สายน้ำ
พาเนื้อมังกรไหลลับไป กลับมาต่อกับร่างไม่ได้ มังกรเวิร์มตัวร้ายก็สิ้นชีพ
จอห์นเป่าเขาบอกข่าว ทว่าลอร์ด แลมบ์ตันยินดีจนลืมคำของลูก แทนที่จะปล่อยหมา กลับวิ่งไปหาเสียเอง ดังนั้น สิ่งมีชีวิตแรกที่จอห์น แลมบ์ตันเห็นจึงเป็นพ่อของเขา ก็แน่นอนละครับ ใครจะฆ่าพ่อได้ลงคอ แม้ว่าต่อมาจะมีการปล่อยหมาแล้วฆ่ามันดังที่ตั้งใจเพื่อป้องกันคำสาป แต่ก็ไม่ทันแล้วละ ครอบครัวแลมบ์ตันถูกสาป ผู้สืบสกุลทั้งหลายต่างตายนอกบ้าน อย่างน้อยก็สามชั่วอายุคนเลยทีเดียว
จบแล้วครับ เรื่องของแลมบ์ตัน เวิร์ม ก็ให้เห็นความร้ายกาจของมังกรเวิร์มสักตัวอย่างหนึ่งละครับ โอกาสหน้าจะหามังกรตัวอื่นมาเล่าให้ฟังกันอีกครับ.
โดย : คอสมอส
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน