“ข้าคือไซรัส กษัตริย์แห่งอาเคเมนิด” คือประโยคที่ถอดความมาจากอักษรลิ่มภาษาเปอร์เซียเก่าบ่งบอกถึงพระนามของกษัตริย์ “ไซรัสมหาราช” (Cyrus the Great) ผู้สถาปนาจักรวรรดิ “อาเคเมนิด” (Achaemenid) ขึ้นมาเมื่อราว 550 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิของพระองค์เป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรที่สุดในโลกโบราณ อีกทั้งยังแผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างไกลจากคาบสมุทรบอลข่านทางทิศตะวันตกจดอินเดียทางทิศตะวันออก ศูนย์กลางของจักรวรรดิตั้งอยู่ในประเทศ “อิหร่าน” ทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า “จักรวรรดิเปอร์เซีย” (Persia) ซึ่งรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนานราว 200 ปี ปกครองโดยกษัตริย์หลากหลายพระองค์ที่รังสรรค์ผลงานโดดเด่นขึ้นมามากมาย
ซึ่ง “สุสาน” ของกษัตริย์ชาวเปอร์เซียนแห่งอาเคเมนิดเหล่านี้ก็มีความยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้กัน และในวันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนก็จะพาแฟนานุแฟนไปแกะรอยสุสานของเหล่าผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิเปอร์เซียในประเทศอิหร่านกันครับ
จักรวรรดิเปอร์เซียมีเมืองหลวงหลากหลายแห่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นชื่อกับมหานครอย่าง “เพอร์เซโพลิส” (Persepolis) มากกว่าเมืองอื่นๆของชาวเปอร์เซียน ด้วยว่าเป็นที่ตั้งของพระราชวังอันโอ่โถง รวมถึง “สุสาน” ของกษัตริย์แห่งเปอร์เซียอีกอย่างน้อย 6 พระองค์ แต่ถึงอย่างนั้น “เพอร์เซโพลิส” ก็ไม่ใช่นครหลวงแห่งแรกที่กษัตริย์อย่างไซรัสมหาราชได้สถาปนาขึ้นหรอกครับ เมืองหลวงของพระองค์อยู่บริเวณที่ราบกว้างใหญ่ในจังหวัดฟาร์ส (Fars) ประเทศอิหร่านปัจจุบัน ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “พาซาร์กาด” (Pasargadae) ทว่าอาคารส่วนใหญ่ในเมืองนี้ได้พังทลายลงไปจนเกือบหมดแล้ว และเมื่อพระเจ้าไซรัสมหาราชสิ้นพระชนม์ลงในช่วงประมาณ 530 ปีก่อนคริสตกาล กลุ่มอาคารต่างๆ รวมถึงป้อมปราการในเมืองพาซาร์กาดก็ถูกทิ้งร้าง หลังจากนั้นไม่นานนักมหานคร “เพอร์เซโพลิส” ก็ได้เป็นนครหลวงแห่งใหม่ของชาวเปอร์เซียนไปแทน
...
แต่ถึงอย่างนั้นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของพาซาร์กาดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งก็คือ “สุสาน” ของพระเจ้า ไซรัสมหาราช ผู้สถาปนานครพาซาร์กาดแห่งนี้นี่ล่ะครับ สุสานของพระองค์ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยว่าแตกต่างออกไปจากสถาปัตยกรรมสุสานของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อาเคเมนิดพระองค์อื่นๆที่สร้างสุสานใกล้กับเมืองเพอร์เซโพลิสในลักษณะของการ “เจาะ” เข้าไปด้านในหน้าผา สุสานของพระเจ้าไซรัสมหาราชคือ สุสานแบบลอยตัวที่ก่อขึ้นจากหินปูน ฐานของสุสานมีลักษณะเป็นขั้นบันไดเรียงกัน 6 ขั้น ความสูงของขั้นบันไดแต่ละขั้นค่อยๆลดระดับลงจากชั้นล่างถึงชั้นบนสุด ขนาดฐานกว้าง 12.3 เมตร ยาว 13.4 เมตร เสนอกันว่าเลียนแบบมาจากสถาปัตยกรรม “ซิกกูแรต” (Ziggurat) หรือ “พีระมิด” ของชาวเมโสโปเตเมียนั่นเองล่ะครับ ด้านบนคือ ห้องสี่เหลี่ยมรูปทรงคล้ายโลงศพ คลุมด้วยหลังคาโค้งขนาดยาว 6.4 เมตร กว้าง 5.4 เมตร ด้านหน้ามีประตูทางเข้าเพียงแค่ช่องเดียว ขนาดความสูง 1.4 เมตร กว้าง 0.8 เมตร เรียกได้ว่ากว้างเพียงพอแค่ให้บรรจุโลงศพของพระเจ้าไซรัสมหาราชเข้าไปได้เท่านั้นเองล่ะครับ ส่วนห้องด้านในก็ไม่ได้ใหญ่โตมากเท่าใดนัก ด้วยว่าลึกเข้าไปเพียงแค่ 3.2 เมตร และกว้างเพียงแค่ 2.1 เมตร น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วทั้งโลงศพและพระศพของพระเจ้าไซรัสมหาราชก็ไม่เหลือรอดมาถึงมือของนักโบราณคดี แต่ถึงอย่างนั้นก็พอจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสุสานแห่งนี้จากนักเดินทางชาวกรีกให้เราได้พอจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของสุสานนี้อยู่บ้าง
เอกสารฉบับแรกเขียนโดย “แอร์เรียน” (Arrian) ช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 บันทึกของเขากล่าวถึงช่วงเวลาที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) มีบัญชาให้ “อริสโตบูลุส” (Aristobulus) เข้าไปสำรวจในสุสานของพระเจ้าไซรัส และสิ่งที่อริสโตบูลุสได้เห็นก็คือ เตียงทำจากทองคำ โต๊ะอาหารและภาชนะเครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องประดับแกะสลักจากหินมีค่า และที่น่าสนใจที่สุดก็คือในนั้นมี “โลงศพ” ที่ทำจาก “ทองคำ” ด้วยเช่นกันครับ!!
นอกจากผลงานของแอร์เรียนที่พอจะทำให้มองเห็นความอลังการของสุสานแห่งนี้แล้ว งานเขียนของ “สตราโบ” (Strabo) ยังได้ให้มุมมองด้านอื่นเกี่ยวกับสุสานของพระเจ้าไซรัสด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่า สุสานของพระเจ้าไซรัสมีจารึกประโยคหนึ่งสลักเอาไว้ แปลความได้ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าคือไซรัสมหาราช ผู้สถาปนาจักรวรรดิเปอร์เซีย ข้าคือกษัตริย์แห่งเอเชีย ท่านอย่าอิจฉาเราเลยที่เราเป็นมหาจักรพรรดิ เพราะบัดนี้ก็เหลือแต่แผ่นดินที่ห่อหุ้มกายเราเพียงเท่านี้”
แต่ถึงอย่างนั้นนักโบราณคดีก็ยังไม่พบข้อความใดๆจากสุสานของพระเจ้าไซรัสในเมืองพาซาร์กาดแห่งนี้เลยครับ อีกทั้งสุสานของพระองค์ก็มีขนาดเล็กพอสมควร จึงทำให้มีการตั้งคำถามกันว่าจะเคยมีเตียงทองคำ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ดังที่แอร์เรียนเคยบันทึกเอาไว้จริงแท้แค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องให้นักโบราณคดีออกตามหาคำตอบกันต่อไป
...
สุสานของกษัตริย์แห่งเปอร์เซียที่มีรูปทรงคล้ายโลงศพขนาดยักษ์บนขั้นบันไดไม่ได้มีเพียงแค่สุสานของกษัตริย์ไซรัสมหาราชในพาซาร์กาดเท่านั้นหรอกนะครับ นักโบราณคดียังค้นพบสุสานอีกแห่งหนึ่งในประเทศอิหร่านที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเหมือนกันเป็นอย่างยิ่ง ทว่ามีขนาดเล็กกว่า สุสานที่ว่าตั้งอยู่ทางชายแดนฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัดฟาร์ส ห่างออกมาจากเมืองพาซาร์กาดเกือบ 400 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สุสานที่ว่านี้มีชื่อว่า “สุสานแห่งผู้บริสุทธิ์” (Tomb of the Virgin) ซึ่งดูประหนึ่งว่าเป็นสุสานของกษัตริย์ไซรัสฉบับย่อส่วนยังไงยังงั้นเลยครับ นักโบราณคดีเสนอว่า “สุสานแห่งผู้บริสุทธิ์” นี้คือ สุสานของ “ไซรัสผู้เยาว์” (Cyrus the Younger) บุตรแห่งกษัตริย์ “ดาริอุสที่ 2” (Darius II) ซึ่งปกครองจักรวรรดิเปอร์เซียอยู่ในช่วงระหว่าง 424 ถึง 401 ปีก่อนคริสตกาลนั่นเอง
ถัดจากสมัยของพระเจ้าไซรัสมหาราช จักรวรรดิเปอร์เซียโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้งหลังจากที่พระเจ้าดาริอุสที่ 1 (Darius I) ย้ายเมืองหลวงมายังมหานครเพอร์เซโพลิส นอกจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองหลวงจะเปลี่ยนไปแล้ว สถาปัตยกรรมของสุสานก็เปลี่ยนไปด้วยครับ
สุสานของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อาเคเมนิด ตั้งแต่ยุคสมัยของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 เป็นต้นมา (ยกเว้นสุสานของไซรัสผู้เยาว์) เปลี่ยนรูปแบบจากสุสานที่สร้างจากหินปูนมาเป็นสุสานแบบเจาะเข้าไปในหน้าผาหิน ซึ่งบริเวณที่พระเจ้าดาริอุสที่ 1 เลือกเป็นสถานที่สร้างสุสานของพระองค์ก็คือ หน้าผาทางทิศเหนือของพระราชวังแห่งเพอร์เซโพลิส ห่างออกมาราว 12 กิโลเมตร ในปัจจุบันเรารู้จักสถานที่ฝังศพเหล่านี้กันในชื่อ “นัค-เช รอสตัม” (Naqsh-e Rustam) ครับ
...
นัค-เช รอสตัม คือ หน้าผาสูงชันที่ชาวเปอร์เซียนเชื่อมโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ไม่ใช่เพียงแค่กษัตริย์จากราชวงศ์อาเคเมนิดเท่านั้นหรอกนะครับ ที่เข้ามาฝากผลงานเอาไว้ เพราะนอกจาก “สุสาน” ของกษัตริย์แล้ว ยังมีภาพสลักจากสมัยของจักรวรรดิซาสซานิยะห์ (Sassanid Empire) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ปรากฏให้เห็นอยู่บริเวณด้านล่างสุสานของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อาเคเมนิดอย่างชัดเจนอีกด้วย ส่วนใหญ่เป็นภาพของกษัตริย์แห่งจักรวรรดิซาสซานิยะห์กำลังขี่ม้าและรบกับเหล่าทหารโรมัน หนึ่งในฉากที่โดดเด่นก็เช่นภาพของกษัตริย์ชาปูร์ที่ 1 (Shapur I) มีชัยเหนือจักรพรรดิแห่งโรมันสองพระองค์คือ จักรพรรดิ “วาเลเรียน” (Valerian) และ “จักรพรรดิฟิลิปชาวอาหรับ” (Philip the Arab) ที่สลักขึ้นระหว่างช่วงปี ค.ศ.240 ถึงปี ค.ศ.270 ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงแห่งนัค-เช รอสตัมเลยทีเดียวครับ
...
ก่อนที่จะหลุดจากราชวงศ์อาเคเมนิดไปไกลกว่านี้ เรากลับมาที่เรื่องราวของ “สุสาน” แห่งนัค-เช รอสตัมกันต่อดีกว่าครับ ถ้าได้ลองพิจารณาหน้าผาอันเป็นที่ตั้งของสุสานโดยละเอียดแล้ว จะพบว่านอกจากภาพสลักผลงานศิลปินแห่งจักรวรรดิซาสซานิยะห์ในยุคหลังแล้ว ยังโดดเด่นสะดุดตาด้วยอาคารแกะสลักรูปทรงคล้ายไม้กางเขนขนาดยักษ์เจาะลึกเข้าไปด้านในหน้าผารวมทั้งสิ้น 4 แห่งด้วยกัน และอาคารเหล่านี้นี่ล่ะครับ คือ “สุสาน” ของผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิอาเคเมนิด และผู้ที่ริเริ่มสร้างสุสานในรูปแบบนี้ขึ้นมาก็คือพระเจ้าดาริอุสที่ 1 นั่นเอง
ถึงแม้ว่าสุสานแบบเจาะเข้าไปในหน้าผาแห่งนัค-เช รอสตัมจะมีทั้งหมด 4 แห่ง แต่นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานที่แน่ชัดพอจะระบุถึงตัวเจ้าของสุสานได้เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้นก็คือ สุสานของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 ซึ่งเป็นสุสานลำดับที่ 3 จากด้านซ้ายเมื่อมองตรงเข้าไปที่หน้าผา ส่วนเจ้าของสุสานแห่งอื่นๆนั้น นักโบราณคดีทำได้เพียงแค่คาดเดาเท่านั้น
สุสานของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 สูง 23 เมตร กว้าง 18 เมตร ด้านหน้าแกะสลักลวดลายเสาสูง 4 ต้น ประดับเคียงข้างทางเข้า บริเวณกึ่งกลางคือช่องเปิดเข้าไปยังห้องด้านในซึ่งใช้เป็นสุสานที่แท้จริง สุสานอีกสามแห่งที่ตั้งอยู่เคียงข้างก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่คล้ายคลึงกับสุสานของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 เช่นกันครับ ขาดเพียงแค่ “จารึก” ที่จะช่วยให้นักโบราณคดีฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าสุสานเหล่านี้เป็นของใครกันแน่ ดังนั้นในตอนนี้นักโบราณคดีจึงทำได้เพียงแค่เสนอเป็นสมมติฐานเอาไว้ก่อนว่าสุสานทางด้านซ้ายมือสุดเป็นของพระเจ้าดาริอุสที่ 2 สุสานถัดมาเป็นของพระเจ้าอาร์ตาเซอร์ซิสที่ 1 (Artaxerxes I) และสุสานที่ตั้งอยู่ขวามือสุดเป็นของพระเจ้าเซอร์ซิสที่ 1 (Xerxes I) นอกจากสุสานแล้ว อีกหนึ่งโครงสร้างพิศวงที่น่าสนใจในพื้นที่ของนัค-เช รอสตัมก็คือ อาคารรูปทรงคล้าย “กล่อง” ทรงสูงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุสานซ้ายสุด ที่เสนอกันว่าเป็นของพระเจ้าดาริอุสที่ 2 เรียกขานกันในชื่อ “ลูกบาศก์แห่งโซโรอัสเตอร์” (Cube of Zoroaster) เป็นอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดฐานกว้างยาวด้านละประมาณ 7.3 เมตร มีช่องเปิดทรงสี่เหลี่ยมอยู่บริเวณกึ่งกลางของอาคาร นักโบราณคดีเสนอว่าอาคารนี้ไม่น่าจะเป็นสุสาน แต่อาจจะเป็น “วิหารแห่งการบูชาไฟ” ตามความเชื่อในศาสนาของชาวเปอร์เซียนโบราณเสียมากกว่า
กษัตริย์ที่ปกครองเปอร์เซียหลังจากพระเจ้าดาริอุสที่ 2 คือพระเจ้าอาร์ตาเซอร์ซิสที่ 2 (Artaxerxes II) และอาร์ตาเซอร์ซิสที่ 3 (Artaxerxes III) ทั้งคู่ย้อนกลับมาสร้างสุสานแบบเจาะผาเช่นกันทางทิศตะวันออกของพระราชวังแห่งเพอร์เซโพลิส ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สลักเอาไว้บนหน้าผาสูง ทว่าก็ยังคงประดับตกแต่งด้วยลวดลายของเสาสี่ต้นบริเวณด้านหน้าทางเข้าไปยังห้องสำหรับใช้เป็นสุสานอยู่เช่นเดิม เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกเข้ามาในช่วง 332 ปีก่อนคริสตกาล ราชวงศ์อาเคเมนิดก็สิ้นสุดลงพร้อมกับความปราชัยของพระเจ้าดาริอุสที่ 3 (Darius III) สุสานของพระองค์ยังไม่สมบูรณ์ดี แต่ก็ตั้งอยู่ในเมืองเพอร์เซโพลิสดังเช่นเหล่าบรรพชนของพระองค์เช่นกันครับ.
โดย : นนทพัทธ์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน