“ศิลปะ” ไม่เพียงแต่จะมีหน้าที่จรรโลงโลกและสร้างสุนทรียศาสตร์ แต่ยังเปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนถึงเรื่องราวทางวัฒนธรรม และสภาพความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสีของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่เขียนไว้ตามถ้ำ ต่างๆ ถือเป็นหลักฐานชั้นดีว่ามนุษย์ในยุคนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับอะไรบ้าง กินอยู่อย่างไร ล่าสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ชนิดใด ขณะที่ภาพเขียนที่ปรากฏบนฝาผนังตามวัดก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของคนในอดีต นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของคนในสังคมได้อย่างแหลมคม
ย้อนกลับไปในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ช่างศิลป์ไทยสร้างสรรค์งานศิลปกรรมโดยอาศัยเรื่องราวคติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเรื่องราวจากวรรณคดี ดังปรากฏให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ, ตามสมุดข่อย, งานประติมากรรม, พระพุทธรูป และพระประธานในพระอุโบสถ ตลอดจนงานประณีตศิลป์ที่ประดับประดาอยู่ในโบสถ์, วิหาร และสถาปัตยกรรมต่างๆ
ในรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 1–3 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างบ้านแปงเมือง ลักษณะของศิลปกรรมไทยจึงได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาปรับเปลี่ยนไปตามอิทธิพลที่เกิดขึ้นใน แต่ละรัชสมัย โดยยุคสมัยที่เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ทั้งในเอเชียและยุโรป ความเจริด้านต่างๆ ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4, 5, 6 ที่มีการเชื่อมโยงกับชาติตะวันตกนั้น กระแสอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกได้ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในสังคมไทย ตลอดจนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชาติบ้านเมืองอย่างมีนัยสำคัญ กระนั้นก็มีความพยายามที่จะรักษารากเหง้าความเป็นไทยเอาไว้ด้วย โดยแนวคิดที่มาแรงที่สุดต้องยกให้แนวคิดศิลปะแบบ “ทัศนียวิทยา” ของชาติตะวันตก ซึ่งเน้นแสดงความลึกแบบสามมิติใกล้ไกลในแบบที่สยามประเทศไม่เคยสัมผัสมาก่อน
...
“ขรัวอินโข่ง” คือจิตรกรหัวก้าวหน้าในยุคสมัยนี้ เป็นผู้นำแนวคิดทัศนียวิทยา และการวางองค์ประกอบของภาพให้แตกต่างจากเดิม อีกทั้งยังนำเรื่องราวจากสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย, อิทธิพลจากการแต่งกายของชาวต่างชาติ และรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก เข้ามาเป็นองค์ประกอบในภาพจิตรกรรมไทยเป็นครั้งแรก
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นรัชสมัยของการทำนุบำรุงและพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริงในทุกด้าน ผลจากการเสด็จเยือนยุโรป 2 ครั้ง 2 ครา ในปี 2440 และปี 2450 ได้ทรง นำแนวคิดจากชาติตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในสยามประเทศอย่างต่อเนื่อง โปรดเกล้าฯให้ศิลปินต่างชาติ ทั้งสถาปนิก, จิตรกรและประติมากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียนเข้ามาถวายงานเพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่สำคัญๆ ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม และงานศิลปกรรมชั้นเลิศ ฝากไว้เป็นมรดกของแผ่นดินมาถึงยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังโปรดให้เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ซึ่งสมัยโบราณไม่นิยมกัน พร้อมโปรดให้จัดการประกวดภาพจิตรกรรมขึ้นหลายครั้ง โดยภาพที่ได้รับรางวัลในยุคนั้น ปัจจุบันติดตั้งอยู่ที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน และบางภาพอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และหอศิลปแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ศิลปินไทยที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือในยุคนี้คือ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” พระราชโอรสองค์ที่ 62 ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงมีความเป็นอัจฉริยะทั้งด้านประวัติศาสตร์, โบราณคดี, วรรณคดี, งานจิตรกรรม, งานสถาปัตยกรรม และงานช่างด้านต่างๆ ทรงถือเป็นเจ้าฟ้าที่มีพรสวรรค์อย่างยิ่งยวดในด้านศิลปะ ทรงศึกษาและฝึกฝนการเขียนภาพด้วยพระองค์เอง ทั้งภาพเขียนแบบไทยและแนวตะวันตก ผลงานของพระองค์จะมีลักษณะไทยผสมแบบเหมือนจริง รูปคนมีกล้ามเนื้อตามหลักกายวิภาค ขณะที่ภาพทิวทัศน์จะมีระยะความลึกตื้นตามแบบนิยมของศิลปินตะวันตก
เมื่อถึง รัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 งานศิลปะของไทยได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้งกรมศิลปากร ในปี 2454 เพื่อทำนุบำรุง, พัฒนางานช่างและส่งเสริมการสร้างศิลปกรรมให้ก้าวหน้าขึ้น ขณะที่โรงเรียนเพาะช่าง ก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคสมัยของพระองค์ เพื่อเป็นที่เรียนที่สอนเกี่ยวกับงานช่างศิลป์แห่งแรกของไทย โดยจิตรกรที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของยุคคือ “พระสรลักษณ์ลิขิต” (มุ่ย จันทรลักษณ์) ซึ่งจบมาจากสถาบันศิลปะแห่งกรุงโรมประเทศอิตาลีโดยตรง
...
ในยุคสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จ้างช่างฝรั่งมาออกแบบตกแต่งพระราชวังและพระที่นั่งอย่างคึกคัก พร้อมโปรดเกล้าฯให้ช่างเขียนอิตาเลียน “คาร์โร ริโกลิ” มาช่วยเขียนภาพร่วมกับช่างไทย ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ประดับบนเพดานโดม พระที่นั่งอนันตสมาคม ตามสมัยนิยมของพระราชวงศ์ยุโรปในยุคนั้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำรูปปั้นอนุสาวรีย์ และเหรียญตราต่างๆ โดยทรงจ้างประติมากรชาวอิตาเลียน “ศาสตราจารย์คอราโด เฟโรจี” ให้เข้ามาถวายงานในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลป์ พีระศรี” และโอนสัญชาติเป็นคนไทย
โดย “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ไทยที่สำคัญๆไว้หลายแห่ง และยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงวงการศิลปะไทย ช่วยวางรากฐานให้กับระบบการศึกษาศิลปะสมัยใหม่
...
จิตรกรเลื่องชื่อแห่งยุคสมัยยังรวมถึง “พระอนุศาสตร์จิตรกร” (จันทร์ จิตรกร) มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 และยังมีผลงานเป็นที่ยกย่องในยุคสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการบูรณะพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเขียนโครงเรื่องขึ้นใหม่จากประวัติศาสตร์ไทยในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่เล่าขานถึงเทคนิคการใช้สีน้ำมันและรูปแบบการแสดงกายวิภาค ผสมผสานกับหลักทัศนียวิทยาอันก้าวล้ำ ทำให้เกิดแสงเงาที่ดูสมจริงเป็นธรรมชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
หลังปี 2486 รูปแบบของศิลปกรรมไทยมุ่งเน้นไปที่ลักษณะเหมือนจริงมากขึ้น ยิ่งใครถ่ายทอดผลงานได้เหมือนจริงเท่าไหร่ก็แสดงถึงทักษะความสามารถที่อยู่ในระดับสูงมากเท่านั้น โดยศิลปินที่มีชื่อด้านความสมจริงก็มีตั้งแต่แสวง สงฆ์มั่งมี, พิมาน มูลประมุข, สิทธิเดช แสงหิรัญ, สนั่น ศิลากรณ์, แช่ม แดงชมภู, แช่ม ขาวมีชื่อ และไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีศิลปินไทยหลายคนฉีกแนวมาสร้างสรรค์ผลงานแนวผสมผสานประเพณี นำขบวนโดยชลูด นิ่มเสมอ, มานิตย์ ภู่อารีย์, ประสงค์ ปัทมานุช ส่วนสายประติมากรรมที่โด่งดังเป็นที่จดจำคือ เขียน ยิ้มศิริ และชิต เหรียญประชา
...
เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปกรรมไทย “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ได้เสนอแนะกรมศิลปากรให้จัดงานศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2492 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในงานศิลปะสมัยใหม่ สร้างความคึกคักแก่วงการศิลปกรรมไทย ถือเป็นการบุกเบิกโอกาสให้ศิลปินไทยได้รับทุนการศึกษาทั้งจากรัฐบาลไทยและยุโรป เพื่อไปศึกษาต่อและดูงานด้านศิลปะในต่างประเทศ โดยศิลปินหลายคนสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ได้นำวิชาความรู้มาช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้เฟื่องฟู
ในช่วงทศวรรษแรกแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด มีการนำรูปแบบ ไทยประเพณีมาพัฒนา แต่ยังคงรักษาโครงสร้างของวิธีการและแนวอุดมคติเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มศิลปินแนวใหม่ที่สนใจสร้างสรรค์ผลงานเหนือจริงแฝงปรัชญาความหมายลึกซึ้งมากกว่าจะถ่ายทอดรูปทรงความเป็นจริง โดยแนวเรื่องมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาผสานกับการสร้างรูปสัญลักษณ์ล้ำจินตนาการ หัวหอกสำคัญของศิลปินกลุ่มนี้ ยกให้ถวัลย์ ดัชนี, อังคาร กัลยาณพงศ์, พิชัย นิรันต์ และพจน์ สง่าวงศ์
กระนั้นในสายของงานประติมากรรม กลับมีศิลปินไม่มากนักที่สร้างสรรค์งานไทยประเพณี โดยยึดถืออุดมคติเดิมอย่างเหนียวแน่น โดยประติมากรที่อุทิศตนให้การทำรูปปั้นพระพุทธรูป และผลงานที่มีคุณค่าน่ายกย่องในแบบฉบับของตนเอง ต้องยกให้ “ชิต เหรียญประชา” ผู้สร้างสรรค์ “พระนาคปรก” จากงาช้าง ขณะที่อีกหนึ่งผลงานโดดเด่นแห่งยุคสมัยรวมถึงประติมากรรมแนวเหมือนจริงของ “สนั่น ศิลากรณ์” ที่นำเอาคติความเชื่อจากสังคมไทยมา
นำเสนอเป็นผลงานชุด “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์”
นับตั้งแต่ปี 2500 วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วยากจะฉุดรั้ง จากรูปแบบศิลปะไทยโบราณที่เป็นทัศนะทางอุดมคติเพื่อรับใช้สถาบัน ก้าวไปสู่รูปแบบใหม่ที่ผสมผสานอิทธิพลตะวันตก และเปิดกว้างให้มีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งในแง่แนวความคิด, เทคนิค, รูปแบบ และวิธีการนำเสนอเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะเพื่อศิลปะอย่างแท้จริง.
อาคีรา