ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีประดิษฐกรรมล้ำอนาคตในด้านต่างๆ มากมายจนผู้คนละเลยความสนใจต่อสิ่งประดิษฐ์แสนธรรมดาซึ่งมีความสำคัญในพัฒนาการเทคโนโลยีมากระทั่งบัดนี้ไปแล้ว ผลงานการคิดของมนุษย์ชิ้นนี้คือ “วงกลมหมุน” ซึ่งกินนัยไปถึง “ล้อ” และ “เฟือง”
ว่าแต่วงกลมหมุนซึ่งมีความสำคัญขนาดนี้เริ่มต้นขึ้นจากที่ใดกันแน่ ในเมื่อช่วงเวลานับพันปีจากที่คนเราเรียนรู้การเพาะปลูกและสร้างเมืองเป็นครั้งแรก วงกลมหมุนซึ่งจะนำมาพัฒนาต่อยอดใช้ในเทคโนโลยีภายหลัง ยังไม่เป็นที่รู้จัก และจะแปลกใจต่อไป
อีกไหมหากจะเล่าว่า อุบัติแรกของมันกลับมาจากแป้นหมุนของช่างปั้นหม้อและอาจเป็นไปได้ว่ามาจากสมัยเมโสโปเตเมียเมื่อ 5,500 ปีก่อน ซึ่งพบหลักฐานจากชุมชนช่างปั้นหม้อเป็นแป้นหมุนชิ้นแรกๆ ลักษณะเป็นจานกลมแบนเท่านั้น
แป้นหมุนปั้นหม้อยุคนี้ทำจากวัสดุทั้งไม้และหิน ด้านล่างของแป้นมีหลุมตื้นอยู่ตรงกลาง สวมครอบบนกับหินหรือไม้แข็งรูปโดมตั้งอยู่บนพื้นดิน แรกๆ แป้นก็หมุนไปอย่างง่ายๆ ด้วยการใช้มือหมุนไปพลางขึ้นรูปดินเหนียวด้วยวิธีเบื้องต้น แล้วจึงตกแต่งด้านต่างๆ แป้นหมุนทำให้ไม่ต้องย้ายดินเหนียวทำภาชนะบ่อยครั้งจนเสียรูปขณะดินยังอ่อนตัว แต่ต่อมาคนก็เริ่มเรียนรู้เทคนิคในการหมุนแป้นที่เร็วกว่า จึงมีการพัฒนาต่อยอดเทคนิคการขึ้นรูปดินอย่างรวดเร็วไปด้วย พัฒนาการแบบนี้มาจากหลักฐาน เช่น แป้นหมุนที่พบยังนครเออร์แห่งเมโสโปเตเมียโบราณ มีอายุระหว่างราว 3,250 ปีก่อน ค.ศ. มันมีร่องตามแนวเส้นรอบวง ร่องนี้อาจทำขึ้นเพื่อให้ช่างจับยึดแป้นหมุนไปได้ง่ายขึ้น นักโบราณคดีสามารถตามรอยวิวัฒนาการแป้นหมุนช่างปั้นหม้อได้จากรายละเอียดรอยพิมพ์นิ้วมือที่เห็นชัดเจน และจากทิศทางของเนื้อดินปรากฏยังผิวด้านนอกของเครื่องปั้นแป้นหมุน
...
แต่ส่วนเรื่องที่ว่าจานหมุนแบบนี้ถูกนำไปใช้กับพาหนะให้เป็นล้อเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ หรือที่ไหน ยังคงเป็นปริศนาคาดว่าน่าตามหลังแป้นหมุนของช่างปั้นมาติดๆ เพราะตัวอย่างล้อชิ้นแรกๆ ไม่เหลือรอดมาถึงเรามากนัก แต่ก็คาดกันว่า มันน่าจะเกิดจากการที่นำวงกลมแบนๆ นั้นมาติดเข้ากับเกวียนลาก 4 ล้อ กลายเป็นล้อรถวงแรกๆ
นักวิชาการพวกหนึ่งคาดว่า ภูมิภาคที่น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของเครื่องมือนำวิวัฒนาการนี้คือ นครรัฐของเมโสโปเตเมีย อารยธรรมแรกๆ ของโลก อาจเป็นเพราะความเจริญมั่งคั่งจากการค้าขายด้วยก็เป็นได้ แต่ความเห็นนี้ยังมีอีกฝ่ายโต้แย้ง อ้างหลักฐานสมัยนั้น คนเราไม่ใช้ถนน แต่เดินทางและขนส่งกันทางแม่น้ำ ง่ายกว่าและสะดวกกว่าทางถนนเป็นไหนๆ นักวิชาการพวกหลังนี้คิดว่าล้อเกิดขึ้นจากทุ่งหญ้าสเตปส์ในเอเชียกลาง ทุ่งหญ้าสเตปส์เป็นที่โล่งเปิด เหมาะแก่พาหนะใช้ล้อมากกว่าแถบที่มีทรายนุ่มๆ อย่างเมโสโปเตเมีย ฝ่ายหลังนี่ค้านฝ่ายแรกว่า การที่ไม่พบหลักฐานจากทุ่งหญ้าสเตปส์ เป็นเพราะคนถิ่นนั้นใช้ชีวิตร่อนเร่ ไม่มีการสร้างเมืองอยู่อาศัยเป็นที่เป็นทางเหลือให้นักโบราณคดีสมัยนี้สำรวจ
การอ้างถึงสองภูมิภาคว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ล้อกันแน่...น่าจะมีเหตุผลน่าเชื่อทั้งสองฝ่าย เราย่นระยะการขัดแย้งว่าใครคิด “ล้อ” กันแน่มาสู่ตอนต่อไปว่าจากนั้นเป็นต้นมามนุษย์เรารับ “ล้อ” ไว้ใช้อย่างรวดเร็ว
ถึงแม้นักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อว่า ล้อถูกประดิษฐ์จากที่ใดที่หนึ่งแน่ๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดแล้วบังเอิญโคจรมาพบกัน จากพื้นฐานตามความเชื่อมั่นเพราะล้อมีการออกแบบเป็นรูปทรงเดียวกันแทบไม่ผิด ดังที่ค้นพบเกวียนโบราณในอารยธรรมห่างไกลกัน ตั้งแต่ยุโรปตะวันตก อียิปต์ อินเดีย และจีน และเกวียนลากเหล่านี้ยังใช้วิธีการสำคัญสองอย่าง แม้ไม่เหมือนกันนัก แต่ก็มีลักษณะสามัญเดียวกันคือ คานหน้าที่ออกแบบเพื่อเทียมสัตว์สองตัว ส่วนแผ่นล้อทำจากไม้สามชิ้นยึดติดกันด้วยเพลา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากพาหนะติดล้อถูกประดิษฐ์จากภูมิภาคที่ต่างกัน มันน่าจะต้องแตกต่างด้วยวิธีการชักลากและโครงสร้างล้อ
...
ส่วนเรื่องสัตว์ลาก ตอนแรกๆ คงน่าจะใช้วัวเป็นสัตว์ลากเกวียนแบบเดียวกับที่เคยใช้สัตว์ชนิดนี้ลากคันไถมานับพันปี ต่อมาพอมีแผ่นล้อมาช่วย คนเราก็เลยจัดการใช้วัวมาลากเกวียนด้วย อีกช่วงหนึ่งหลังจากนั้น เกวียนและวัวซึ่งบรรทุกผลผลิตทางการเกษตรหนักอึ้งจนเคลื่อนที่ไปได้อย่างอืดอาดงุ่มง่าม ก็พัฒนาไปสู่การเดินทางของมนุษย์โดยเฉพาะ โดยเปลี่ยนไปใช้ล้อติดกับรถลากด้วยม้า
รถลากด้วยพลังม้าเป็นพาหนะเพิ่มความเร็วได้มาก กลายเป็นที่มาของพาหนะสังหารในสงคราม เกิดเป็นพัฒนาการทั้งสองอย่างคือ การฝึกม้าและพัฒนาการของล้อ คือไม่ใช่จานกลมแต่เดิมอีกต่อไป แต่มีทั้งกงล้อ (วงรอบนอก) และกำล้อ (ดุมและซี่ล้อ) น่าจะเกิดขึ้นไม่มากไม่น้อยในราว 2,000 ปีก่อน ค.ศ. ทำให้เกิดรถศึกที่เบา สามารถพุ่งทะยานออกหน้ากองทัพได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุที่ล้อถูกนำไปติดไว้กับรถศึกนี่เอง พลธนูแห่งฮิคซอส เผ่าชนร่อนเร่ในทะเลทราย ก็สามารถรุกรานและพิชิตจักรวรรดิอียิปต์ในศตวรรษที่ 17 ก่อน ค.ศ.ได้ ภาพโบราณจากลูกกลิ้ง ตราประทับ หรือตราดินซึ่งพ่อค้าใช้ประทับรับรองสินค้า เท่าที่พบ แสดงให้เห็นภาพม้าลากรถศึกด้วยล้อรถมีซี่ล้อแล้ว ตราประทับ (ซึ่งก็คือวงล้อเหมือนกัน) ที่มีรูปดังกล่าวมีอายุระหว่าง 2,200 ปี และ 1,900 ปี ก่อน ค.ศ. พบที่ภาคเหนือของตุรกีและอิหร่าน
ถึงอย่างนั้นนักโบราณคดีจำนวนมากเชื่อว่า รถศึกยุคแรกๆ พัฒนาขึ้นยังที่ไกลออกไปทางเหนือบนที่ราบเอเชียกลาง ซึ่งมีการฝึกม้าโดยพวกชนเร่ร่อน
...
สิ่งประดิษฐ์ใหม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง มันแพร่สะพัดข้ามโลกโบราณอย่างน่าทึ่ง ปลุกให้ผู้คนตามแถบที่มันไปถึงตื่นขึ้นจากโลกเก่า จากยุโรปตะวันตกเมื่อราว 1,550 ปีก่อน ค.ศ.ไปถึงจีนเมื่อราว 1,300 ปีก่อน ค.ศ. พาหนะติดล้อซึ่งมีประสิทธิภาพทำให้เกิดความต้องการโครงข่ายถนนหนทางที่ดีขึ้น และถนนหนทางที่ดีขึ้นก็นำไปสู่พัฒนาการด้านการค้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น พ่อค้า ขุนพลและกองทัพล้วนเดินทางได้ไกลขึ้นกว่าเดิม นักโบราณคดีเสนอแนวคิดว่า หากไม่มีล้อชนิดมีซี่ล้อ บางทีอาจเป็นไปได้ว่า นักรบฮิตไทต์จากเอเชียกลางคงไม่สามารถพิชิตที่ราบอนาโตเลียของตุรกีกลางดังที่พวกเขาทำเมื่อราว 1,850 ปีก่อน ค.ศ. หรือพวกอัสสิเรียนก็อาจไม่ได้ควบคุมแผ่นดินใหญ่ของกรีซไว้ในอาณัติ และราชวงศ์ชางอาจไม่สามารถก่อตั้งอาณาจักรใหญ่ของจีนสำเร็จ
แทบไม่น่าเชื่อว่า ล้อและซี่ล้อธรรมดาๆ นั้น ทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนโฉมทีเดียว แต่อย่าเพิ่งนึกว่าทั่วโลกโบราณจะต้องรู้จักล้อกันไปทั้งหมดซีกโลกที่ไม่รับรู้เรื่องล้อก็ยังมี แถบถิ่นนั้นคือ บริเวณแผ่นดินโลกใหม่-อเมริกา
เหตุใดล้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันเป็นสากลในโลกเก่าตั้งแต่ราว 1,000 ปีก่อน ค.ศ. จึงยังคงไม่มีใช้ในแผ่นดินโลกใหม่อเมริกามาตลอด 2,500 ปี แต่ถึงแม้จะไม่นิยมใช้ล้อ แต่หลักการล้อก็น่าจะเป็นที่รับรู้ ณ ที่นั่น (ในช่วงเวลาเดียวกับพระคริสต์) เนื่องจากมีการพบตุ๊กตารูปสัตว์ติดล้อในสุสานเม็กซิโกมีอายุราวศตวรรษแรก แต่แค่ความรู้เรื่อง ล้อ กลับไม่มีการนำมาปฏิบัติจนกระทั่งพวกคองกีสตาดอร์สเปนมาถึงเมื่ออีก 1,500 ปีต่อมา!
นักวิชาการคาดกันว่า เป็นเพราะสองเหตุผลใหญ่ อย่างแรก ในเวลาเมื่อวงล้อถูกประดิษฐ์คิดขึ้น แผ่นดินในทวีปใหม่ ก่อนโคลัมบัสไปถึงไม่มีสัตว์ลากจูงดังเช่นวัว หรือม้า อย่างที่สองเป็นเพราะผืนดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าทึบของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ไม่เหมาะกับการใช้พาหนะมีล้อ
...
ดังนี้แล้ว มีคำถามต่อมาอีกว่า ถ้าไม่สนใจล้อ เหตุใดพวกมายาแห่งเม็กซิโก และพวกอินคาแห่งเปรู จึงสร้างถนนชั้นเลิศระหว่างเมืองของตนจากวิธีวิศวกรรมอันล้ำเลิศ
คำตอบคือ ที่พวกอินคาสร้างถนนจนเป็นเครือข่ายประสานกันนั้น เขาใช้เป็นทางเดินนั่นเอง
ถนนที่เป็นทางเดินพวกนี้ทำด้วยหินชนิดดีระดับเดียวกับสะพานทอดข้ามหุบเหวและอุโมงค์ตามยอดเขาหินในแอนเดียน น่าทึ่งว่า ผู้คนของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ก็สร้างอารยธรรมอันเลอเลิศทั้งหมดโดยไม่พึ่งล้อ และก็ยังทำได้สำเร็จอย่างงดงามอีกเสียด้วย
ในเวลาเดียวกับที่นักเดินทางในยุโรปสมัยกลางยังคงฝันร้ายกับโคลนติดล้อและโรงเตี๊ยมค้างคืนที่ไว้ใจไม่ได้ คนส่งสาส์นของเผ่ามายาและอินคาก็สามารถถือสาส์นคำสั่งส่งทอดตามผลัดจากปลายอาณาจักรด้านหนึ่งไปตามโครงข่ายถนน ซึ่งมีบ้านพักพร้อมอาหารแทรกตัวตามระยะทาง ทั้งที่พวกเขาเดินด้วยเท้า
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่อาจอธิบายถึงรูปสัตว์ติดล้อที่ขุดขึ้นเมื่อราวช่วงทศวรรษ 1940 จากสุสานที่เมืองพานูโค (ใกล้แทมปิโคบนชายฝั่งด้านตะวันออกของเม็กซิโก) และที่เทรส ซาโปเทรส ไกลออกไปทางใต้ของจังหวัดเวราครูซ
ตุ๊กตาตัวเล็กอายุกว่า 2,000 ปี กลายเป็นหลักฐานอันแปลกประหลาด ทำให้นักวิชาการพากันขบคิดหาที่มา บางคนอ้างว่า ตุ๊กตาดินพวกนี้เป็นการคิดค้นของชนอเมริกัน แม้มันจะดูแปลกที่คนออกแบบมีจินตนาการมากพอจะคิดตุ๊กตาดินติดล้อ แต่กลับไม่สร้างล้อขนาดใหญ่ไว้ใช้งาน นักวิชาการอื่นเห็นในทางตรงกันข้าม พวกเขาเบนความสนใจไปสู่การออกแบบที่เหมือนกันระหว่างตุ๊กตาดินติดล้อกับวัตถุติดล้อจากจีน ความสงสัยซึ่งนำไปสู่ความน่าสนใจอย่างใหม่ นั่นคือ มีความเป็นไปได้ของการติดต่อระหว่างจีนกับดินแดนโลกใหม่ อันเป็นการติดต่อซึ่งมีมานานก่อนโคลัมบัสถึง 1,000 ปีหรือไม่
หากว่าถึงเรื่องประสงค์การใช้สอยของตุ๊กตาดินติดล้อ ก็อาจพูดได้ว่า มันน่าจะเป็นแค่ของเล่น แต่การที่มันถูกวางไว้ในสุสานอย่างหนึ่ง และของเล่นก็ดูไม่เหมือนของปลอบขวัญสำหรับคนตายอีกอย่างหนึ่ง จึงอาจหมายความถึง การใช้สอยในพิธีกรรมทางศาสนาก็ได้
แต่ไม่ว่ากรณีใด การนำตุ๊กตาดินติดล้อไปวางไว้ในสุสานก็ชวนให้งงทั้งสิ้น มันจึงกลายเป็นความพิศวงทางโบราณคดี เป็นคำถามที่ไร้คำตอบในซีกโลกตะวันตกซึ่ง...ไร้ล้อ.
โดย :ภัสวิภา
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน