วันเวลาผ่านไปจากการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2019 มีอะไรหลายอย่างที่เป็นการพัฒนารูปแบบของการติดเชื้อ โดยมีความหลากหลายของอาการ และที่ในระยะแรกไม่พบกลับเริ่มพบเห็นมากขึ้นทีละน้อย
ความหลากหลายดังกล่าว ไม่น่าจะอธิบายด้วยสายพันธุ์ของไวรัสอย่างเดียว
ในเรื่องของสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่อยู่ในประเทศไทย...ไม่เป็นความจริงที่ไม่มีสายพันธุ์รุนแรง (ข้อมูลจากศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ทางคลินิกและวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย)... จากที่มีความเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสายพันธุ์อ่อนแอหรือไม่มีความรุนแรงนั้น...ไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ เนื่องจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสทั้งตัวในประเทศไทยพบว่ามีทุกสายพันธุ์อยู่แล้วในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดแบ่งสายพันธุ์ในระบบ A B C หรือในระบบ V S G หรือ L S ก็ตาม...การที่ประเทศไทยมีการควบคุมโรคได้นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากความเข้มแข็งของระบบคัดกรองและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและประชาชน รวมกระทั่งถึงระบบสาธารณสุขมูลฐาน อาสาสมัครหมู่บ้านและชุมชนทั้งหมด
...
ดังนั้น การพิจารณาว่าจะรุนแรงหรือไม่ อย่างไร ไม่อาจดูได้จากลักษณะของรหัสพันธุกรรมหรือที่เรียกว่าสายพันธุ์อย่างเดียว ...อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวไวรัส ที่อาจยังเป็นได้ ก็คือการที่ไวรัสยังมีการปรับเปลี่ยนในระดับเหนือยีน (epigenetic) โดยทำให้มีความสามารถต่อต้านกับระบบป้องกันไวรัส เช่น Zap ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆได้ดีขึ้น และมุ่งไปยังระบบที่ไม่เคยถูกกระทบมาก่อน ที่ไม่เคยเห็นในระยะแรกของการระบาด ทั้งนี้คือการเข้าเลือด เม็ดเลือด การผ่านรกไปยังลูกในท้อง
โควิด-19 ติดต่อไปยังทารก จากแม่ที่ติดเชื้อในการตั้งท้องช่วงสุดท้าย
รายงานในวารสาร Nature communications (extracted จาก DG alert) เป็นการรายงานจากฝรั่งเศส มารดาอายุ 23 ปี ติดเชื้อมีไข้ ไอและมีเสมหะสองสัปดาห์ก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาลและตรวจพบไวรัสทั้งในเลือดในจมูกและจากในช่องคลอด...สามวันหลังจากเข้าโรงพยาบาลเด็กต้องมีความจำเป็นได้รับการผ่าตัดออกพบไวรัสในน้ำคร่ำ เลือด และน้ำล้างปอดของเด็ก รวมทั้งในจมูก และจำนวนของไวรัสในจมูกเด็กมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อทำการตรวจซ้ำในวันที่ 3 และ 18
หลังคลอดวันที่สามเด็กมีอาการผิดปกติ ไม่รับนมมีอาการเกร็งลำตัว หลังแอ่น และน้ำไขสันหลังพบเซลล์อักเสบ...การทำคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าวันที่ 11 พบมีความผิดปกติของสมองส่วนสีขาว ทั้ง periventricular ที่อยู่รายล้อมรอบโพรงน้ำในสมอง และ subcortical white matter คือส่วนที่ใต้เปลือกสมอง
อย่างไรก็ตาม เด็กค่อยๆดีขึ้น และเดือนที่สอง ความผิดปกติในเนื้อสมองลดลงบ้าง
ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากหมอเอง ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่พบในไวรัสที่ชื่อ “ซิกา” ที่เข้าสมองเด็กทำให้สมองลีบ ทั้งนี้ เกิดจากการที่ไวรัสจากเลือดแม่ผ่านเข้ามาทางรก ทั้งนี้ ผนังทางด้านนอกของรก placental trophoblast จะมีกลไกป้องกัน Type III interferon และ IL29 และไวรัสสามารถทะลวงการป้องกันชั้นนอกเข้ามาถึงชั้นใน และผ่านแนวป้องกัน type I interferon จากนั้นจึงผ่านเข้าเลือดของเด็กและผ่านเข้าผนังกั้นระหว่างหลอดเลือดกับสมองจนเข้าไปติดเชื้อในสมองเด็ก
รายงานในวารสาร Nature Medicine โดยทดลองในลิงท้อง พบว่าทารกมีความผิดปกติในสมองในส่วนสีขาวเช่นกันและพบไวรัสในสมองและในตำแหน่งต่างๆ
...
ทั้งนี้ การวิจัยโดยการใช้ cerebral organoids สร้างอวัยวะจากเซลล์ต้นกำเนิด และนำมาติดเชื้อไวรัส พบว่าซิก้า ไวรัส รบกวนเซลล์ต้นกำเนิดของสมองและมีการกระตุ้น TLR3 รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่ทำให้เกิดความไม่ปกติในการพัฒนาสมองและเกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง
และจากอาการที่เจอในเด็กติดโควิด-19 ที่มีอาการอักเสบรุนแรงหลายระบบ ที่รู้จักในนามคาวาซากิ (hyper-inflammatory multi-system Kawasaki like syndrome) เริ่มพบว่าผู้ใหญ่มีอาการแบบเด็กได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เป็นรายงานผู้ป่วยสองรายจากสหรัฐฯและจากอังกฤษในวารสาร Lancet โดยที่ผู้ป่วย รายแรกเป็นชายอายุ 45 ปีมีไข้ เจ็บคอ ท้องเสียปวดขาทั้งสองข้าง เยื่อบุตาอักเสบ และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังทั้งตัว ริมฝีปากแตก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
ทั้งนี้ โดยไม่มีอาการใดๆทางระบบ ทางเดินหายใจ แต่เอกซเรย์ปอดพบลักษณะของปอดอักเสบ และ มีความผิดปกติทางหัวใจ (cardiac enzymes) และการบีบตัวของหัวใจผิดปกติ แสดงถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การตรวจเลือดพบมีการอักเสบอย่างรุนแรง (CRP) เม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลสูงมากกว่าหมื่น และลิมโฟไซต์ต่ำ ผู้ป่วยดีขึ้นหลังจากที่ได้รับยาต้านการอักเสบ
...
ผู้ป่วยรายที่สองเป็นชายอายุ 21 ปีมาด้วยอาการไข้และปวดท้องร่วมกับท้องผูก เบื่ออาหารและปวดหัวมาหกวัน นอกจากนั้นมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ที่หายไปเอง และมีเยื่อบุตาอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ริมฝีปากแตก และลิ้นสากเป็นตุ่ม ตรวจพบมีต่อมน้ำเหลืองโตในท้องและลำไส้เล็กส่วนปลายอักเสบ
การตรวจเลือดพบลักษณะคล้ายกับผู้ป่วยรายแรก โดยที่ในเลือดมีเม็ดเลือดอีโอสิโนฟิลด้วย
ผู้ป่วยรายที่สองตรวจหาเชื้อโดยการแยงจมูกและคอไม่เจอ แบบเช่นรายที่หนึ่ง แต่การตรวจเลือดนั้นพบหลักฐานการติดเชื้อที่ไม่นานมานี้ และได้รับการรักษาด้วยสารสกัดน้ำเหลืองโดยมีอาการดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยรายแรกได้รับสารสกัดน้ำเหลืองเช่นเดียวกันแต่ได้รับยาต้าน IL6 ด้วย
จากที่ได้เล่ามาตลอดตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงวันนี้ (ที่เขียนต้นฉบับ คือกลางเดือนกรกฎาคม) มีข้อสังเกต คือเราต้องไม่ลืมว่าโควิด-19 แสดงอาการแบบไม่มาตรฐานคือไข้ เพลีย ไอ และระบบทางเดินหายใจได้ เช่นผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ และยังแสดงอาการทางผิวหนังอย่างเดียว หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส หรือปวดหัวอย่างเดียว ซึม ไม่มีไข้ได้ หรืออาการทางระบบทางเดินอาหารเด่นได้หมด
...
ดังที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นไวรัส (แนบ) เนียน ไปได้หลากหลาย
และที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าเชื้อยังไม่หมดจากในประเทศ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็ได้
ทั้งนี้ จะยังมีอยู่มากน้อยไม่มีตัวเลข เพราะยังไม่มีการตรวจเชิงรุกจริงจังซึ่งต้องมุ่งเป้าไปยังคนติดเชื้อหนุ่มสาวแข็งแรงที่ไม่มีอาการ แต่แพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ หายเองได้โดยปล่อยเชื้อได้ 20-30 วันหรือมากกว่า และหยุดไปเอง ถ้าไม่เจอคนที่อ่อนแอ มีโรคประจำตัวก็จะแพร่ไปเอื่อยๆเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการชุมนุมทางสังคมเป็นกลุ่มก้อน ขาดวินัย.
หมอดื้อ