เมื่อพูดถึงพันธุ์ทุเรียนไทยจะมีชื่อคุ้นหูมาไม่กี่พันธุ์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง, ทุเรียนชะนี, ทุเรียนป่าละอู แต่ทราบหรือไม่ว่ามีทุเรียนไทยกว่า 600 สายพันธุ์ และพันธุ์ทุเรียนไทยเป็นที่นิยมกันมาแล้วกว่า 600 ปี มีบันทึกไว้ว่ากลิ่นของมันรัญจวนใจ จนชาวต่างชาติเคยนำไปลองปลูกที่ประเทศของตัวเองกันเลยทีเดียว
วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมารู้จักกับพันธุ์ทุเรียนไทย และประโยชน์ของทุเรียนไปพร้อมๆ กัน
พันธุ์ทุเรียนยอดนิยม
จากที่เกริ่นมาว่าประเทศไทยมีพันธุ์ทุเรียนกว่า 600 สายพันธุ์ แต่ก็มีพันธุ์ที่นิยมปลูกกันไม่กี่ชนิด เพราะเนื้อที่สุกงอมหอมอร่อยโดนใจคนรักทุเรียน ดังนี้
- ทุเรียนก้านยาว
ก้านยาวเป็นพันธุ์ทุเรียนที่นิยมกันมากพันธุ์หนึ่ง เนื่องจากกลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อละเอียด หอมอร่อย ผู้ปลูกจะชอบเพราะติดผลได้ดี
- ทุเรียนหมอนทอง
หมอนทองเป็นอีกทุเรียนหนึ่งที่มีความนิยมสูง เนื่องจากราคาดี ปลูกง่ายในทุกภาค เมื่อสุกแล้วเก็บได้นาน นำไปแปรรูปได้หลายแบบ
...
- ทุเรียนชะนี
คนรักทุเรียนกลุ่มหนึ่งนิยมทุเรียนชะนี เพราะเมื่อสุกแล้วเนื้อสุกสม่ำเสมอทั้งลูก และมีเนื้อที่เหนียวกว่าพันธุ์อื่น
- ทุเรียนป่าละอู
พันธุ์ทุเรียนที่มีชื่อว่าทุเรียนป่าละอู ราคาปานกลาง ไปจนถึงสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อที่ออกมาในปีนั้น ทุเรียนป่าละอูมีความนิยมมากเนื่องจากเป็นพันธุ์ผสมระหว่างหมอนทองและชะนี ให้เนื้อทั้งสองแบบ และแตกต่างกันตามสถานที่ปลูก
- ทุเรียนนนท์ ทุเรียนจันทบุรี ทุเรียนระยอง
สามจังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่เกษตรกรนิยมนำพันธุ์ทุเรียนไปปลูกแล้วขึ้นดึ จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อใกล้ออกผลก็มีพ่อค้าแม่ค้าไปขอตัดจากสวนมาขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางสวนเปิดให้เข้าไปชิมแบบบุฟเฟต์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย
พันธุ์ทุเรียนที่แพงที่สุด 5 สายพันธุ์
- ทุเรียนนนท์
ขึ้นชื่อว่าทุเรียนนนท์ย่อมมาพร้อมกับคำร่ำลือว่าแพงที่สุด กิโลกรัมละเป็นหมื่น ปัจจุบันนี้หารับประทานยากถึงยากที่สุด เพราะเหลืออยู่ไม่กี่สวน และจะมีคนรักทุเรียนไปจับจอง แต่เริ่มมีการนำกิ่งและพันธุ์ไปขยายปลูกที่อื่น ทำให้คนรักทุเรียนมีโอกาสรับประทานทุเรียนนนท์กันมากขึ้น
- ทุเรียนหลงลับแล
ทุเรียนปลูกด้วยดินภูเขาไฟ จากจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง เริ่มปล่อยออกจากสวนตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท ซึ่งถือว่าราคาถูกกว่าปีก่อนๆ เพราะติดโควิด ถนนปิดกลางคืนขนส่งไปตลาดกลางจังหวัดต่างๆ ไม่ได้ แม่ค้าจึงนำออกมาขายออนไลน์ลดราคา จัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทย
- ทุเรียนป่าละอู
ราคาทุเรียนป่าละอูปี 2563 นี้ถือว่าเบาลงกว่าปีก่อนๆ บ้าง เริ่มต้นกิโลกรัมละ 280-300 บาท ด้วยเหตุผลเดียวกับหลงลับแล เพราะติดโควิด เนื่องจากทุเรียนป่าละอูราคาเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการติดบาร์โค้ดรับรองจากอำเภอหัวหิน จัดทำโดยเกษตรอำเภอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
- ทุเรียนพวงมณี
ทุเรียนพวงมณีที่ออกมาจากสวนพวงมณีได้จำหน่ายลอตสุดท้ายหมดไปตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2563 ด้วยราคากิโลกรัมละ 180-200 บาท จากสวน ด้วยลักษณะลูกที่เล็กๆ หนามเล็กๆ และเนื้อหวานมันอร่อย และปัจจุบันมีสวนอื่นๆ นำไปเพาะพันธุ์ คาดว่าอนาคตจะราคาถูกลงเมื่อต้นทุเรียนพวงมณีออกผลเพิ่ม
- ทุเรียนหมอนทอง
ทุเรียนหมอนทองปี 2563 เปิดตัวมาด้วยราคากิโลกรัมละ 150 บาท แม่ค้าบอกว่าราคารับซื้อจากสวนก็สูงมากแล้ว แต่โชคดีที่ปี 2563 ทุเรียนหมอนทองจังหวัดต่างๆ ยังออกมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเราจะมีทุเรียนหมอนทองรับประทานกันนานขึ้นกว่าปีก่อนๆ
พันธุ์ทุเรียนไทยมีอะไรบ้าง
เมื่อพิจารณาจากทรงผลทุเรียน จะแบ่งออกตามลักษณะของผล ดังนี้
- ทุเรียนกลุ่มกบ จำแนกจากใบที่มีขอบขนาด การออกผลแบบกลมรี กลม และกลมแป้น รวมถึงลักษณะของหนามแบบโค้งงอ สวนต่างๆ นำไปเพาะพันธุ์จนตั้งชื่อตามผู้ปลูกก็มี ทุเรียนกลุ่มกบ ได้แก่ 1.กบแม่เฒ่า 2.กบเล็บเหยี่ยว 3.กบตาขำ 4.กบพิกุล 5.กบวัดกล้วย 6.กบชายน้ำ 7.กบสาวน้อย (กบก้านสั้น) 8.กบสุวรรณ 9.กบเจ้าคุณ 10.กบตาท้วม (กบดำ) 11.กบตาปุ่น 12.กบหน้าศาล 13.กบจำปา (กบแข้งสิงห์) 14.กบเบา 15.กบรัศมี 16.กบตาโห้ 17.กบตาแจ่ม 18.กบทองคำ 19.กบสีนาค 20.กบทองก้อน 21.กบไว 22.กบงู 23.กบตาเฒ่า 24.กบชมพู 25.กบพลเทพ 26.กบพวง 27.กบวัดเพลง 28.กบก้านเหลือง 29.กบตานวล 30.กบตามาก 31.กบทองเพ็ง 32.กบราชเนตร 33.กบแก้ว 34.กบตานุช 35.กบตามิตร 36.กลีบสมุทร 37.กบตาแม้น 38.กบการะเกด 39.กบซ่อนกลิ่น 40.กบตาเป็น 41.กบทองดี 42.กบธีระ 43.กบมังกร 44.กบลำเจียก 45.กบหลังวิหาร และ 46.กบหัวล้าน
- ทุเรียนกลุ่มลวง จำแนกตามใบลักษณะป้อม ฐานใบแหลมมน ให้ผล 2 แบบ คือ ทรงกระบอก และรูปรี หนามมีลักษณะเว้า ทุเรียนกลุ่มลวงที่นิยมคือ ทุเรียนชะนี และชะนีก้านยาว ทุเรียนกลุ่มลวง ได้แก่ 1.ลวง 2.ลวงทอง 3.ลวงมะรุม 4.ชะนี 5.ชะนีกิ่งม้วน 6.ชมพูศรี 7.ย่ำมะหวาด 8.สายหยุด 9.ชะนีก้านยาว 10.ชะนีน้ำตาลทราย 11.มดแดง และ 12.สีเทา
- ทุเรียนกลุ่มก้านยาว จำแนกจากใบป้อมปลายใบ และปลายใบเรียวแหลม ให้ผลเป็นรูปไข่กลับ และกลมรี หนามลักษณะนูน มีความหลายหลายทางสายพันธุ์น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ทุเรียนกลุ่มก้านยาว ได้แก่ 1.ก้านยาว 2.ก้านยาววัดสัก (เหลืองประเสริฐ) 3.ก้านยาวสีนาค 4.ก้านยาวพวง 5.ก้านยาวใบด่าง 6.ทองสุก 7.ชมภูบาน และ 8.ต้นใหญ่
- ทุเรียนกลุ่มกำปั่น จำแนกจากปลายใบยาวเรียวและปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ผลเป็นทรงขอบขนาด หนามตรง พันธุ์ทุเรียนกลุ่มกำปั่นที่รู้จักกันดีคือ ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนกลุ่มกำปั่นทั้งหมด ได้แก่ 1.กำปั่นเดิม (กำปั่นขาว) 2.กำปั่นเหลือง (เจ้ากรม) 3.กำปั่นแดง 4.กำปั่นตาแพ 5.กำปั่นพวง 6.ชายมะไฟ 7.ปิ่นทอง 8.เม็ดในกำปั่น 9.เห-รา 10.หมอนเดิม 11.หมอนทอง 12.กำปั่นบางสีทอง และ 13.ลุงเกตุ
- ทุเรียนกลุ่มทองย้อย จำแนกจากปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมนหรือรูปไข่ ผลเป็นรูปไข่ และหนามนูนแหลม
ทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด จำแนกจากใบ ผล และหนาม ที่แตกต่างกันจาก 5 กลุ่มแรก คาดว่าเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ของสวนต่างๆ พบมากกว่า 80 ชนิด ได้แก่ 1.กะเทยเนื้อขาว 2.กะเทยเนื้อแดง 3.กะเทยเนื้อเหลือง 4.กระดุมทอง 5.กระดุมสีนาค 6.กระโปรงทอง 7.กระปุกทอง (กระปุกทองดี) 8.ก้อนทอง 9.เขียวตำลึง 10.ขุนทอง 11.จอกลอย 12.ชายมังคุด 13.แดงช่างเขียน 14.แดงตาน้อย 15.แดงตาเผื่อน 16.แดงสาวน้อย 17.ดาวกระจาย 18.ตะพาบน้ำ 19.ตะโก (ทองแดง) 20.ตุ้มทอง 21.ทศพิณ 22.ทองคำตาพรวด 23.ทองม้วน 24.ทองคำ 25.นกกระจิบ 26.บาตรทองคำ (อีบาตร) 27.บางขุนนนท์ 28.เป็ดถบ 29.ฝอยทอง 30พวงมาลัย 31.พวงมณี 32.เม็ดในยายปราง 33.เม็ดในบางขุนนนท์ 34.ยินดี 35.ลำเจียก 36.สีทอง 37.สีไพร 38.สาวชมเห็ด 39.สาวชมฟักทอง (ฟักทอง) 40.หางสิงห์ 41.เหรียญทอง 42.ไอ้เข้ 43.อินทรชิต 44.อีล่า 45.อีลีบ 46.อียักษ์ 47.อีหนัก 48.ตอสามเส้า 49.ทองนพคุณ 50.ทองหยอด 51.ทองหยิบ 52.นมสด 53.เนื้อหนา 54.โบราณ 55.ฟักข้าว 56.พื้นเมืองเกาะช้าง 57.มะนาว 58.เม็ดในกระดุม 59.เม็ดในก้านยาว 60.เม็ดในลวง 61.เมล็ดพงษ์พันธุ์ 62.เมล็ดเผียน 63.เมล็ดลับแล 64.เมล็ดสม 65.เมล็ดอารีย์ 66.ย่ามแม่วาด 67.ลวงเพาะเมล็ด 68.ลุงไหล 69.ลูกหนัก 70.สาเก 71.สาวใหญ่ 72.หมอนข้าง 73.หมอนละอองฟ้า 74.หลงลับแล 75.ห้าลูกไม่ถึงผัว 76.เหมราช 77.เหลืองทอง 78.อีงอน 79.ไอ้เม่น 80.ไอ้ใหม่ และ 81.กะเทยขั้วสั้น
...
ประโยชน์ของทุเรียน รู้แล้วบอกต่อ
ทุเรียน เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง เพราะฉะนั้นไม่ควรรับประทานเยอะต่อวัน และไม่ควรรับประทานติดกันถี่ๆ หลายวัน ในเนื้อทุเรียน 100 กรัม ให้พลังงาน 124 กิโลแคลอรี และให้แร่ธาตุหลายชนิด ประโยชน์ของทุเรียนมีตั้งแต่รากจนถึงใบ ดังนี้
- รากทุเรียน ใช้แก้ไข้ แก้ท้องร่วง
- ใบทุเรียน ใช้แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ ทำให้หนองแห้ง
- เปลือกทุเรียน ช่วยรักษากลากเกลื้อน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ฝี ซึ่งมีการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ว่าช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย
- เนื้อทุเรียน แก้จุกเสียดแน่นท้อง ให้ความร้อนแก่ร่างกาย บำรุงร่างกาย และขับพยาธิไส้เดือน รวมถึงมีการศึกษาในระดับหลอดทดลองว่าช่วยต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ลดไข้มันในเลือด
...
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนว่าไม่ควรรับประทานทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด และยิ่งใครที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดัน โรคไต ควรลดปริมาณลง และระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อรับประทานทุเรียนแล้วควรออกกำลังกายเป็นประจำ ลดการสะสมพลังงานส่วนเกิน เพื่อสุขภาพที่ดีด้วย
อ่านเพิ่มเติม
ที่มา :
สารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย เล่มที่ 28, คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้) โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล