นอกจากจะติดหนึ่งในทำเนียบมหาเศรษฐีฟอร์บส์ใจกุศลของเมืองไทย ที่อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างยาวนานหลายทศวรรษ “มร.ฮาราลด์ ลิงค์ประธาน บี.กริม ยังมุ่งมั่นทำงานด้านการอนุรักษ์เต็มที่ โดยปิดทองหลังพระร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) ต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว เพื่อรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย หยุดการทำลายป่า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเจ้าป่า รวมถึงหยุดการล่าเพื่อการค้า พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มจำนวนของเสือโคร่งในประเทศไทยก่อนจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้

“ทั้งหมดเป็นภารกิจยิ่งใหญ่เพื่อพิทักษ์เสือโคร่ง ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต โดยเป้าหมายเร่งด่วนอันดับแรกคือ การเพิ่มจำนวน “เสือโคร่ง” ในป่าธรรมชาติของไทย ให้ได้ถึง 300 ตัว จากปัจจุบันที่มีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติเพียง 200 ตัว ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเสือที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรงซะอีก”...มร.ลิงค์แสดงความห่วงใยต่ออนาคตของเสือโคร่งในประเทศไทย

...

การเสี่ยงสูญพันธุ์ของเสือโคร่งในประเทศไทยใกล้จุดวิกฤติขนาดไหน

ประเทศไทยคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศและเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติมากเพียงพอต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากร ซึ่งเราตระหนักดีว่าหากเสือโคร่ง ซึ่งอยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศถูกทำลาย จะส่งผลกระทบเพียงใดต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพทั้งหมดและจะเป็นการยากแค่ไหนในการรักษาสมดุลธรรมชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง กระนั้น สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ถือว่าเรายังมีโอกาสจะเพิ่มจำนวนเสือโคร่งได้ ไม่ถึงกับหมดหวัง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่พวกเราจะต้องเดินหน้าเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าเหล่านี้ ซึ่งชะตาชีวิตล้วนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ผมขออาสาเข้าไปร่วมเปลี่ยนชะตา ชีวิตของเสือโคร่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง

คุณลิงค์เข้าไปมีส่วนทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สัตว์ป่าอย่างไรบ้าง

บี.กริมเป็นผู้สนับสนุนองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) เพื่อการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ประจำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว เราสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆให้เจ้าหน้าที่อุทยานทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ เพื่อสามารถระบุตัวตนที่ชัดเจนของพวกมัน ทำให้กำหนดจำนวนของเสือโคร่งในป่าธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกล้องดังกล่าวช่วยให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะเสือโคร่งแต่ละตัวต่างมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์จากลวดลายบนตัวที่แตกต่างกัน ผมยังสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยาน ด้วยการสร้างสถานีรับส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารกันได้ในระยะไกล เพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องสัตว์ป่าจากนายพราน ที่มีการข้ามเขตจากประเทศอื่นเข้ามาล่าสัตว์ในป่าประเทศไทย รวมทั้งได้ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถลาดตระเวนในบริเวณดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสื่อสารโดยรวมให้ดีขึ้น นอกจากภารกิจอนุรักษ์เสือโคร่งแล้ว ทางบี.กริมยังช่วยฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ให้อยู่ในสภาพดีขึ้นที่ผ่านมาพนักงานของเราลงพื้นที่ช่วยกันฟื้นฟูทุ่งหญ้าและสร้างลานดินโป่งสำหรับสัตว์กินพืชในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ธรรมชาติของเสือโคร่งแตกต่างจากสัตว์ป่าชนิดอื่นมากน้อยอย่างไร

บทบาทของเสือโคร่งคือผู้ล่า ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นแมวป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีอาณาเขตออกล่าในรัศมีเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อเสาะหาอาหารและผสมพันธุ์ พฤติกรรมของเสือโคร่งมักชอบอยู่โดดเดี่ยว น้อยครั้งที่จะได้พบเห็นการรวมกันเป็นฝูง หรืออยู่ร่วมกับมนุษย์แต่ข่าวร้ายคือ จำนวนเสือโคร่งในป่าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จนเหลือน้อยกว่าเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง ปัจจุบันประเทศไทยมีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติเพียง 200 ตัว ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้ได้ถึง 300 ตัวในอนาคต

...

ความพยายามที่ทุ่มเทไป ช่วยลดความเสี่ยงสูญพันธุ์ของเสือโคร่งได้อย่างที่คาดหวังไหม

สถานการณ์ดีขึ้นมากครับ ด้วยกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานสามารถติดตามรอยเท้าของเสือโคร่งเพศเมียได้ 5 ตัว รวมถึงพบลูกเสือโคร่งเกิดใหม่ 3 ตัว แสดงให้เห็นว่า เสือโคร่งมีการสืบพันธุ์อยู่ในอุทยานแม่วงก์และอุทยานคลองลาน ซึ่งจากที่เราให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งมาตลอด 7 ปี ทำให้มีลูกเสือโคร่งเกิดใหม่จำนวนหนึ่งและยังไม่มีรายงานการสูญเสีย ผมถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลงานที่ดีในการฟื้นฟูเสือโคร่ง

ดูแล้วเป็นภารกิจไม่ง่ายเลย ทำไมถึงทุ่มสุดตัวขนาดนี้ ทั้งๆที่มีงานรัดตัวมากมาย?!

ภารกิจนี้ไม่ง่าย แต่เป็นไปได้ถ้าทุกคนช่วยกัน อย่างน้อยปัจจุบันก็มีความร่วมมือระดับประเทศเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2010 โดยผู้นำจาก 11 ประเทศ ที่ยังคงมีเสือโคร่งหลงเหลืออยู่ ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, จีน, อินเดีย, อินโด– นีเซีย, มาเลเซีย, เมียนมา, เนปาล, รัสเซีย, ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำด้านเสือโคร่งครั้งแรก ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์– สเบิร์ก และจากนั้นเป็นต้นมา ทั้ง 11 ประเทศก็ร่วมกันรับรองโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งทั่วโลก เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งขึ้น 2 เท่า ให้ถึงเป้าหมาย 6,400 ตัว ภายในปี 2022

...

เอาจริงๆแล้วปัจจุบันสถานการณ์ของ เสือโคร่งทั่วโลกน่าเป็นห่วงเพียงใด

ข้อมูลของ WWF ประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ทั่วโลกมีเสือโคร่งตามธรรมชาติเหลืออยู่ประมาณ 100,000 ตัว แต่จำนวนประชากรของเสือโคร่งได้ลดลงต่อเนื่อง จนเหลือ 3,200 ตัว ในปี 2010 ถึงวันนี้ไม่เพียงแค่เสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สัตว์ป่าหลายชนิดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์จาก ระบบนิเวศ เพราะที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลาย ผมมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึง ผลลัพธ์น่าตกใจของการไร้สมดุลของระบบนิเวศ และที่น่าตกใจมากก็คือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินไว้ว่า 70-75% ของโรคติดต่อใหม่ที่เกิดขึ้นสามารถส่งต่อจากสัตว์ถึงมนุษย์ได้ ดังนั้น ผมเชื่อว่า ความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง ไม่เพียงสามารถปกป้องและพิทักษ์รักษาสิ่งมีชีวิตได้เท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่จะส่งผลถึงความเป็นอยู่ของผู้คนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

แสดงว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งสัญญาณเตือนมนุษย์เข้าแล้ว

ผมมองว่าเราทุกคนต่างเชื่อมโยงกันหมด ถ้าสัตว์ป่าอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือเครื่องเตือนความจำอันแสนเจ็บปวดว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์ป่าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ฉะนั้นการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นนักล่าขั้นสูงสุด พร้อมๆไปกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่แต่เฉพาะเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์เสือโคร่งเท่านั้น ผมว่ายังหมายถึงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติด้วย

...

อะไรคืออุปสรรคใหญ่ที่ขวางการอนุรักษ์เสือโคร่ง

เรามีลูกเสือเกิดใหม่จริง แต่โครงการนี้ยังต้องการเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีกมาก ที่จะทำให้เป้าหมายการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยสำเร็จ โดย WWF ประเทศไทย ยังต้องการเงินอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง และเรียกร้องให้มีการลงทุนอย่างเร่งด่วนสำหรับพื้นที่เขตอนุรักษ์เสือโคร่ง อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อุทยานให้เพียงพอ เพื่อสกัดกั้นการล่าอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการเพิ่มปริมาณถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับเสือโคร่งและการหยุดยั้งการล่าเสือโคร่ง ต้องเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า อวัยวะของเสือโคร่งมีสรรพคุณพิเศษในการบำรุงและรักษาโรค

บทเรียนที่อยากจะฝากไว้เตือนสติทุกคน?!

มนุษย์ใช้แหล่งทรัพยากรเดียวกับสัตว์อีกหลายล้านสายพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพของสรรพชีวิตในผืนป่า ได้ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สัตว์ป่าต้องพบกับการคุกคามและถูกล่าอย่างผิดกฎหมาย จึงทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีและบางชนิดก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เหตุผลที่เราต้องเร่งอนุรักษ์เสือโคร่ง เพราะจำนวนประชากรเสือโคร่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของผืนป่าได้ดีที่สุด เนื่องจากเสือโคร่งเป็นผู้ล่าที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ฉะนั้น การจะเพิ่มจำนวนประชากรของเสือโคร่ง จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือด้วย โดยจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดคือ แนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 63,239 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลายชนิด รวมถึงเสือโคร่งและช้าง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในประเทศไทยยังดีกว่าประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะปัจจุบันเสือโคร่งในเวียดนาม, กัมพูชาและลาว สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ขณะที่ในมาเลเซีย, อินโดนีเซียและเมียนมา ก็กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ถึงวันนี้จึงแทบไม่มีประเทศไหน จะเข้าใกล้เป้าหมาย เพิ่มประชากรเสือโคร่งเป็น 2 เท่า ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การอนุรักษ์เสือโคร่งและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เป็นภารกิจใหญ่ที่เร่งด่วนมาก เพราะไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์เสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติด้วย.

ทีมข่าวหน้าสตรี