ประวัติสุนทรภู่เป็นเรื่องที่เราอาจจะไม่ได้ทราบมากนัก แต่นิทานคำกลอนต้องเคยผ่านตาเด็กนักเรียนไทย เพื่อเรียนกลวิธีการเขียนอักขระ ผ่านเรื่องเล่าที่จูงใจได้สนุกสนานให้สนใจในการอ่านหนังสือ วันสุนทรภู่ 2565 เรามารำลึกถึงนักเขียนคนนี้กันอีกครั้ง
ทุกปีวันสุนทรภู่ คือวันที่ผู้ที่เคยติดตามผลงานของสุนทรภู่ต่างระลึกถึงนิทานคำกลอน ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณี, กาพย์พระไชยสุริยา, สิงหไตรภพ ที่เคยนำมาทำเป็นละครหลายเวอร์ชั่นแล้ว และหากคุณยังไม่ทราบประวัติสุนทรภู่
ไทม์ไลน์ประวัติสุนทรภู่
...
ผู้ที่เรียบเรียงประวัติของสุนทรภู่เก็บไว้เป็นหลักฐานได้ดีที่สุด คือ หนังสือประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงไว้ กล่าวถึงชีวิตในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เด็กชายภู่เกิดและโตอยู่ทางด้านเหนือของวังหลัง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน เล่ากันว่า มารดาเป็นแม่นมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
เด็กชายภู่โตอยู่ในวังหลัง และได้เรียนหนังสือกับพระในสำนักชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) ตามประเพณีของไทยที่ส่งลูกหลานเข้าไปเรียนหนังสือในวัด
ประวัติสุนทรภู่ช่วงก่อนรับราชการ
- พ.ศ.2329 - 26 มิถุนายน (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
- พ.ศ.2349 - นายภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง จึงได้แต่ง นิราศเมืองแกลง
- พ.ศ.2350 - นายภู่รับราชการเป็นมหาดเล็ก ในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ตามเสด็จไปบูชาพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชาปีนั้นจึงได้แต่งนิราศพระบาท
ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่รับราชการในรัชกาลที่ 2 อยู่ 8 ปี
- พ.ศ.2359 - เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) นายภู่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์
ได้รับตำแหน่งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร” เพราะทดลองแต่งกลอนบทละครรามเกียรติ์ต่อจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาฯ ซึ่งเป็นช่วงที่สุนทรภู่มีชื่อเสียง มีชีวิตการงานที่รุ่งโรจน์
ได้รับเลื่อนเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ได้รับบ้านประจำตำแหน่งที่ท่าช้าง (อยู่ใกล้วังท่าพระ) มีหน้าที่คอยถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์วรรณคดีต่างๆ ที่ได้เลื่อนขั้นเพราะแต่งบทกลอนตอนนางสีดาผูกคอตาย และศึกสิบขุนสินรถ บรรยายฉากรถศึกของทศกัณฐ์ได้ดี
- พ.ศ.2367 - เป็นช่วงปลายรับราชการในรัชกาลที่ 2 คาดว่าสุนทรภู่แต่ง “สวัสดิรักษา” ระหว่างที่ถวายงานเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2
ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่บวชอยู่ 18 ปี
- พ.ศ.2372 - ระหว่างเปลี่ยนรัชกาล สุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุและได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลาง คาดว่าระหว่างนั้นได้แต่งเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท และได้แต่งโคลงกลอนนิทานไว้มากมาย อาทิ พระอภัยมณี, ลักษณวงศ์, สิงหไตรภพ
- พ.ศ.2385 - ก่อนลาสิกขา พบว่าพระสุนทรภู่ได้แต่ง รำพันพิลาป ซึ่งเป็นผลงานที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในปี พ.ศ.2480 ในเกือบ 100 ปีถัดมา โดยพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) เป็นผู้มอบต้นฉบับที่พบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นจึงได้ทราบเป็นหลักฐานเรียงไทม์ไลน์ชีวประวัติของสุนทรภู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- พ.ศ.2394 - เปลี่ยนรัชกาลอีกครั้ง พระสุนทรภู่ลาสิกขา รับราชการเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ได้แต่งนิราศ 2 เรื่อง คือ นิราศเมืองเพชร และ นิราศพระประธม
บ้างก็ว่าบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่อาศัยอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอพระยามณเฑียรบาล (บัว) ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2398 สิริอายุ 69 ปี แต่ข้อมูลจากสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ระบุว่า สุนทรภู่ซื้อบ้านอยู่ย่านธนบุรี และเสียชีวิตที่บ้านนี้เมื่ออายุ 80 ปีเศษ
ภาพกุฏิสุนทรภู่ ภายในวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
...
ผลงานสุนทรภู่ที่โดดเด่น คือ “พระอภัยมณี”
บทกลอนนิทานเรื่องนี้ได้รับการยกย่องครั้งแรกจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และในปี พ.ศ.2529 สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม
ความโดดเด่นของ “พระอภัยมณี” แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่เป็นผู้ที่มีความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จากชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ในพระนครในสมัยนั้น คาดว่าสุนทรภู่จะพูดภาษาอังกฤษได้ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างชาติ ดังสังเกตเห็นได้จากตัวละครผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นเจ้าเมือง และมีสิทธิ์ตัดสินใจ แตกต่างจากสตรีไทยในยุคนั้น ที่จะต้องอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน ไม่มีบทบาทขึ้นมาทำงานเทียบเท่าผู้ชายได้
...
ผลงานสุนทรภู่ทั้งหมด
นิราศ 9 เรื่อง ได้แก่
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ.2349)
- นิราศพระบาท (พ.ศ.2350)
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ.2371)
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ.2374)
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ.2375)
- นิราศอิเหนา (คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3)
- รำพันพิลาป (พ.ศ.2385)
- นิราศพระประธม (พ.ศ.2385)
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ.2388)
นิทานกลอน 5 เรื่อง
- โคบุตร
- พระอภัยมณี
- พระไชยสุริยา
- ลักษณวงศ์
- สิงหไกรภพ
สุภาษิต 3 เรื่อง
- สวัสดิรักษา
- เพลงยาวถวายโอวาท
- สุภาษิตสอนหญิง
บทละคร 1 เรื่อง
- อภัยนุราช
บทเสภา 2 เรื่อง
- ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม
- เสภาพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อมพระบรรทม 4 เรื่อง
- เห่เรื่องพระอภัยมณี
- เห่เรื่องโคบุตร
- เห่เรื่องจับระบำ
- เห่เรื่องกากี
ตามรอยรำลึกถึงสุนทรภู่ 2565 ได้ที่ไหนบ้าง
วันสุนทรภู่ 2565 นี้ถ้าอยากรำลึกถึงสุนทรภู่ หรือต้องการขอพรเรื่องการงาน การเรียน ก็สามารถเดินทางไปยังอนุสาวรีย์เมืองแกลงจังหวัดระยอง หรือใครอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ก็เดินทางไปยังวัดเทพธิดาราม
1. อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง
...
เนื่องจากสุนทรภู่เป็นครูกวี ที่แต่งบทเรียนคำกลอนไว้มากมาย ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่าหากจุดธูปขอพรที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จะสมหวังเรื่องเรียน และเรื่องงาน ณ บริเวณอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แวะเที่ยวเกาะเสม็ดถ่ายภาพเช็กอินกับผีเสื้อสมุทร
บทสวดขอพรเรื่องเรียน เรื่องงาน จากสุนทรภู่
ใช้ธูป 5 ดอก ดอกไม้ 1 กำ ตั้งนโม 3 จบ ตามด้วย
ยะมะหัง ท่านสุนทรภู่ สะระณังคะโต อิมินา สักกาเรนะตัง ท่านสุนทรภู่ อะภิปูชะยามิ
2. วัดกระแสร์คูหาสวรรค์ จ.ระยอง
วัดที่ชาวบ้านสร้างปูนปั้นขึ้นรูปตัวละครในวรรณคดีพระอภัยมณี ตกแต่งรอบวัด ถือเป็นการจำลองตัวละครในจินตนาการขึ้นมาให้ผู้อ่านพระอภัยมณีได้นึกภาพออก (ที่ตั้ง : วัดกระแสร์คูหาสวรรค์ ถนนสายบ้านกระแสบน-บ้านอู่ทอง ตำบลกระแสบน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง)
3. ถ้ำจัน จ.เพชรบุรี
ครั้งหนึ่งที่สุนทรภู่เคยเดินทางแต่งนิราศเมืองเพชร ขณะออกบวช ในปัจจุบันก็ยังคงปรากฏทิวทัศน์สวยงามตามแบบนิราศ และทุกปีชาวเพชรบุรีมักจัดกิจกรรม เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านวรรณกรรมที่นี่ด้วย (ที่ตั้ง : ถ้ำจัน ตำบลธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี)
4. รอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
ในนิราศพระบาทที่คาดว่าสุนทรภู่แต่งก่อนเข้ารับราชการ ได้เคยเดินทางมายังพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สมัยนั้นการเดินทางไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ ความสวยงามแตกต่างจะเป็นอย่างไรต้องแวะมาสักการะ (ที่ตั้ง : วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จ.สระบุรี)
5. พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
พิกัดรำลึกถึงวันสุนทรภู่ 2565 : เมื่อคุณเดินทางมาเที่ยววัดพระแก้ว หรือแวะผ่านมาแถวถนนข้าวสาร ควรข้ามถนนราชดำเนิน มาฝั่งวัดภูเขาทอง สังเกตป้าย “วัดเทพธิดาราม” เพื่อเยี่ยมชมสถานที่พักอาศัยจำพรรษาของพระสุนทรภู่ ซึ่งท่านใช้สถานที่นี้แต่งบทกลอนพระอภัยมณี รวมถึงต้นไม้ต่างๆ ที่เคยกล่าวไว้ในรำพันพิลาป เช่น ต้นทรงบาดาล ชมพู่ ก็ยังอยู่ในวัด และทางวัดยังได้เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องติดต่อกับทางวัดล่วงหน้า (ที่ตั้ง : วัดเทพธิดาราม ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ)
อ่านเพิ่มเติม