หนึ่งในนครสำคัญของชาวมายาโบราณยุคคลาสสิก (Classic Period) ที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศเม็กซิโกระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 คือนคร “ปาเลงเก” (Palenque) อันเป็นที่ตั้งของพีระมิด, วิหารและอาคารนับร้อยแห่งที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ป่าฝนอันเขียวชอุ่มของรัฐเชียปัส (Chiapas)
นักมายันวิทยาเปรียบเปรยปาเลงเกประหนึ่ง “เพชรเม็ดงาม” แห่งอาณาจักรมายา ด้วยว่าผลงานสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างในนครแห่งนี้ ล้วนยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะผลงานที่กษัตริย์ผู้โด่งดังแห่งปาเลงเกที่ปกครองนครแห่งนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.615 ถึง ค.ศ.683 พระนามว่า “คอินิช ฮานาบ ปาคาล” (K’inich Janaab Pakal) ได้รังสรรค์เอาไว้อย่าง “วิหารแห่งคำจารึก” (Temple of Inscriptions) ซึ่งถูกใช้งานเป็นสุสานของพระองค์ก็มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นทางด้านทิศตะวันตกติดกับวิหารแห่งคำจารึกยังมี สุสานอีกแห่งหนึ่งที่ใช้สำหรับฝังศพสตรีนิรนามที่นักมายันวิทยาเรียกขานกันว่า “ราชินีสีโลหิต” (Red Queen) อีกด้วย ว่าแต่สตรีลึกลับผู้นี้จะเป็นใคร และสุสานของนางจะน่าทึ่งขนาดไหน ขอเชิญแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน มาร่วมแกะรอยสุสานบันลือโลกจากรัชสมัยของกษัตริย์ปาคาลมหาราชแห่งอาณาจักรมายาไปพร้อมๆกันเลยครับ
ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1949 นักโบราณคดีนามว่า “อัลเบอร์โต รูซ (Alberto Ruz)” ได้เข้าไป ทำการศึกษาอาคารที่เรียกว่า “วิหารแห่งคำจารึก” ซึ่งมีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได 9 ขั้น เท่ากับจำนวน “ชั้น” ของยมโลกตามความเชื่อของชาวมายาโบราณ ชื่อของวิหารแห่งนี้มาจากอักษรภาพภาษามายาโบราณจำนวนมหาศาลที่สลักเสลาเอาไว้บนผนังห้องด้านบนสุดของพีระมิดทำให้นักมายันวิทยาเข้าใจได้ในทันทีว่าวิหารแห่งนี้รังสรรค์ขึ้นโดยกษัตริย์ปาคาลมหาราช
...
และเมื่อรูซขึ้นไปสำรวจห้องที่อัดแน่นไปด้วยอักษรภาพด้านบนวิหาร ก็พบว่าแผ่นหินที่ปูพื้นห้องนี้อยู่บางส่วนสามารถเปิดออกได้ ช่องเปิดนี้เผยให้เห็นโถงทางเดินพร้อมขั้นบันไดที่ทอดตัวลึกลงไปในตัวพีระมิดซึ่งนำพาไปยังห้องสำคัญที่สุดที่ยังคงถูกผนึกเอาไว้ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล
13 มิถุนายน ค.ศ.1952 แสงจากไฟฉายได้ส่องผ่านเข้าไปในช่องที่ถูกเปิดออกเพื่อเข้าไปสำรวจเบื้องหลังของประตูหิน ภาพของห้องขนาดประมาณ 9×4 เมตร ที่มีโลงศพหินขนาดยักษ์วางอยู่เกือบเต็มพื้นที่ของห้องปรากฏแก่สายตาฝาโลงและตัวโลงศพที่สกัดจากหินปูนขนาดมหึมาได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อสายราชวงศ์ของกษัตริย์ปาคาลเอาไว้ เราได้เห็นภาพของบุคคลสำคัญแห่งปาเลงเกหลากหลายพระองค์ ตั้งแต่สตรี “โยล อิคนัล” (Yohl Ik’nal) ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่าของกษัตริย์ปาคาลที่ปรากฏพระองค์ถึงสองครั้งสองคราบนโลงศพ รวมถึงภาพของบรรพกษัตริย์แห่งปาเลงเกพร้อมทั้งวันสิ้นพระชนม์ของทุกพระองค์ก็มีอยู่อย่างครบถ้วน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักมายันวิทยาเข้าใจประวัติศาสตร์ของปาเลงเกในยุคแรกเริ่มได้ชัดเจนขึ้นอีกโข
เมื่อโลงศพถูกเปิดออก สิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในถือได้ว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะทีมสำรวจของรูซได้พบกับร่างไร้วิญญาณของกษัตริย์ปาคาลที่ปกคลุมเอาไว้ด้วย “แร่ปรอท” หรือ “ซินนาบาร์” (Cinnabar) ที่มีชื่อทางเคมีว่า “เมอร์คิวริกซัลไฟด์” ทำให้โครงกระดูกของปาคาลกลายเป็นสีแดงชาด นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับทำจากหยกจำนวนมหาศาลกระจัดกระจายอยู่ภายในโลง นิ้วมือทุกนิ้วของปาคาลสวมใส่แหวนทำจากหยก และที่โดดเด่นที่สุดคือ “หน้ากากหยก” ที่ปิดคลุมใบหน้าของพระองค์เอาไว้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของช่างฝีมือแห่งนครปาเลงเกเลยก็ว่าได้ครับ
ในขณะที่วิหารแห่งคำจารึกอันเป็นสุสานของกษัตริย์ปาคาลอัดแน่นไปด้วยอักษรภาพมายาโบราณที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของนครปาเลงเกในรัชสมัยของกษัตริย์ปาคาลจนเกือบหมดเปลือก สุสานอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่เคียงกันกลับไร้ซึ่งอักษรภาพที่จะบอกเล่าเรื่องราวใดๆเกี่ยวกับเจ้าของสุสานแห่งนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านักมายันวิทยาจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าของสุสานนิรนามคนนี้เสียเลยหรอกครับ อย่างน้อยเราก็ทราบว่านางเป็น “สตรี” และด้วยว่าสุสานของนางตั้งอยู่ติดกับวิหารแห่งคำจารึกของกษัตริย์ปาคาล นั่นย่อมหมายความว่าสตรีผู้นี้จะต้องเป็นบุคคลสำคัญในราชสำนักของนครปาเลงเกอย่างแน่นอน
...
สุสานของ “สตรีนิรนาม” ไม่ได้มีชื่อเรียกเฉพาะอย่างเช่นสุสานของกษัตริย์ปาคาลหรอกครับ นักมายันวิทยาเรียกสุสานแห่งนี้ด้วยตัวเลขว่า “วิหาร 13” (Temple XIII) วางตัวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารแห่งคำจารึก เชื่อมต่อกันด้วยแท่นยกพื้นทำจากหิน แต่ด้วยว่าแรกเริ่มเดิมทีอาคารแห่งนี้พังทลายลงไปมาก จึงทำให้นักมายันวิทยายุคแรกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
วิหาร 13 มีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันไดที่สร้างจากหิน ด้านบนสุดของพีระมิดเป็นห้องขนาดเล็กที่ในปัจจุบันพังทลายลงไปแล้ว เรื่องราวของการสำรวจวิหารแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1994 เมื่อนักโบราณคดีหญิงท่านหนึ่งชื่อแฟนนี โลเปซ จิเมเนซ (Fanny López Jiménez) ค้นพบรอยแตกเล็กๆ ด้านหน้าบันไดทางขึ้นไปยังด้านบนของวิหาร 13 เธอจึงได้ส่องไฟฉายเข้าไปในรอยแตกนั้น สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคือวัชพืชที่อัดแน่นพร้อมด้วยกองหินที่เกะกะขวางทาง ทว่าเธอแน่ใจว่าเธอเห็น “โถงทางเดิน” ที่นำพาไปสู่ประตูบานหนึ่งซึ่งถูก “ปิดผนึก” เอาไว้เหมือนกับบรรยากาศเมื่อครั้งที่รูซค้นพบสุสานของกษัตริย์ปาคาลในช่วงปี ค.ศ. 1952 ไม่มีผิดเพี้ยน
...
จิเมเนซไม่รอช้า รีบรายงานนักมายันวิทยาที่ควบคุมดูแลการขุดค้นชื่อ “อาร์โนลโด กอนซาเลซ” (Arnoldo González) ทันที และเมื่อเขาเข้ามาสำรวจก็มั่นใจว่านี่จะต้องเป็นสุสานอีกแห่งหนึ่งของนครปาเลงเกเป็นแน่ ดังนั้น ถ้าจะรีบเร่งขุดค้นเจาะทะลวงเข้าไปก็คงไม่เหมาะกอนซาเลซจึงใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์วางแผนขุดค้นให้เกิดความเสียหายกับวิหารแห่งนี้น้อยที่สุด เพราะถ้า “วิหาร 13” เกิดอัดแน่นไปด้วยอักษรภาพมายาโบราณที่จะบอกเล่าเรื่องราวของผู้วายชนม์ที่นอนหลับใหลอยู่ภายในแล้วล่ะก็ การขุดเจาะอย่างเร่งรีบอาจจะทำลายข้อความภายในสุสานจนทำให้ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่าต้องเสียหายไปอย่างไม่อาจกู้คืนก็เป็นได้
สุดท้ายแล้วทีมงานของกอนซาเลซก็หาทางเปิดช่องเข้าไปจนถึงด้านในของตัววิหารจนได้ครับ เขาพบว่าโครงสร้างภายในประกอบไปด้วยห้องสามห้อง สองห้องในนั้นว่างเปล่า ไม่หลงเหลือหลักฐานอะไรให้ศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นห้องที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมในอดีต ทว่าห้องสุดท้ายคือห้องที่ถูกปิดผนึกเอาไว้มาอย่างยาวนานถึง 1,300 ปี เมื่อเปิดเข้าไปสิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือห้องขนาด 3.8x2.5 เมตร ที่มีโลงศพหินขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง กินพื้นที่เกือบเต็มห้อง บรรยากาศโดยรวมคล้ายคลึงกับห้องฝังศพของกษัตริย์ปาคาลในวิหารแห่งคำจารึกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
...
ก่อนที่ทีมของกอนซาเลซจะเปิดโลงศพ พวกเขาค้นพบโครงกระดูกสองร่างนอนอยู่เคียงข้างโลงศพหินยักษ์ด้านละหนึ่งร่าง แน่นอนครับว่าทั้งคู่ถูก “บูชายัญ” ให้สิ้นชีพตามไปรับใช้ผู้วายชนม์ที่เป็นเจ้าของสุสาน ศพแรกเป็นเด็กชายอายุเพียงแค่ราว 10 ถึง 11 ขวบเท่านั้นเองครับ ศพของเด็กชายคนนี้อยู่ในท่านอนหงาย กะโหลกศีรษะผิดรูป นอกจากนั้นศีรษะของเด็กคนนี้ยังถูกตัดออกจากร่างอีกด้วย!! ส่วนโครงกระดูกอีกด้านหนึ่งของโลงศพเป็นของสตรีที่เสียชีวิตในท่านอนคว่ำ ประเมินอายุอยู่ในช่วงราว 30 ถึง 35 ปี และที่น่าสนใจก็คือกระดูกของเธอแสดงหลักฐานว่าก่อนสิ้นลม เธอน่าจะถูกของมีคมจ้วงแทงจนเกิดเป็นบาดแผลฉกรรจ์หลายแผลด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นนางยังถูกควักหัวใจออกจากร่างเพื่อนำไปเผาบูชาเทพเจ้าอีกด้วย!!
แต่ศพที่ถูกบูชายัญทั้งสองร่างก็ยังไม่สร้างความพิศวงได้เท่ากับร่างของเจ้าของสุสานที่หลับใหลอย่างสงบอยู่ภายในโลงศพหิน โชคดีครับที่ชาวมายาโบราณได้เจาะช่องขนาดเล็ก (Psychoduct) เอาไว้ ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นช่องทางให้ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ได้ใช้ติดต่อกับโลกภายนอก ทีมของกอนซาเลซจึงนำเอากล้องส่องเข้าไปดูบรรยากาศภายในโลง และภาพแรกที่ปรากฏให้เห็นคือสรรพสิ่งทุกชนิดที่อยู่ในโลงล้วนปกคลุมไปด้วย “สีแดง” ทั้งโครงกระดูกเจ้าของสุสาน หน้ากากหยกที่ควรจะเป็นสีเขียว รวมถึงเครื่องประดับนานาชนิดที่ชาวมายาโบราณนำมาตกแต่งร่างกายของผู้วายชนม์ล้วนเป็นสีแดงชาดจาก “ซินนาบาร์” ไม่ต่างจากสุสานของปาคาลเลยล่ะครับ คำถามที่นักมายันวิทยาให้ความสนใจก็คือ ผู้ที่นอนหลับใหลอยู่ในโลงศพนี้คือใครกัน
ด้วยว่าวิหาร 13 ไม่ปรากฏข้อความหรือจารึกใดๆที่จะช่วยระบุตัวตนของบุคคลนี้ได้เลย นักมายันวิทยาจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีอื่นๆเข้ามาช่วยตามหาคำตอบแทน ซึ่งข้อมูลจากกระดูกเชิงกราน เครื่องประดับและตำแหน่งของวิหาร 13 ทำให้นักมายันวิทยาตีความได้ว่าร่างไร้วิญญาณในโลงศพเป็น “สตรี” ที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งยวดในราชสำนักของปาเลงเก นักมายันวิทยามีสตรีในใจอยู่ 3 นางด้วยกัน คนแรกคือ “โยล อิคนัล” ซึ่งเป็น “ย่า” ของปาคาล คนที่สองคือราชินี “ซัค คุค” (Sak K’uk’) มารดาแท้ๆของปาคาล ส่วนคนสุดท้ายคือ “ทซัคบู อเฮา” (Tz'akbu Ajaw) ราชินีคู่บัลลังก์ของกษัตริย์ปาคาล แต่ในเมื่อยังระบุไม่ได้ว่านางคือใคร ประกอบกับร่างกายของนางปกคลุมไปด้วยซินนาบาร์ ที่ชาวมายาโบราณจงใจนำมาทาเอาไว้ เพื่อสื่อความหมายถึง “เลือด” หรือ “แสงอาทิตย์” ทำให้นักมายันวิทยาตัดสินใจตั้งชื่อให้เธอว่า “ราชินีสีโลหิต”
หลังจากนั้นนักมายันวิทยาได้เลือกเทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์สามวิธีหลักๆเข้ามาช่วยในการระบุตัวตนว่า “ราชินีสีโลหิต” ควรจะเป็นใครกันแน่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ถือว่าน่าทึ่งทีเดียวล่ะครับ
วิธีแรกที่นักมายันวิทยาใช้คือการตรวจหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 (C-14)จากโครงกระดูก แต่ด้วยว่าโครงกระดูกของราชินีสีโลหิตปนเปื้อนจากซินนาบาร์ ทำให้ผลการตรวจสอบอายุมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง โชคดีครับที่เหยื่อบูชายัญสองร่างที่นอนอยู่ด้านนอกของโลงศพไม่ได้รับการปนเปื้อนไปด้วย ผลการตรวจสอบอายุระบุว่าโครงกระดูกของเด็กชายน่าจะถูกฝังในช่วงระหว่างปี ค.ศ.540 ถึง ค.ศ.660 ส่วนโครงกระดูกของสตรีระบุช่วงเวลาได้ระหว่างปี ค.ศ.650 ถึง ค.ศ.780 ช่วงเวลาที่ซ้อนทับกันทำให้มีความเป็นไปได้ว่าราชินีสีโลหิต น่าจะถูกฝังในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 ส่งผลให้ “โยล อิคนัล” ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.604 ไม่น่าจะเป็นราชินีสีโลหิตได้อีกแล้ว
วิธีที่สองที่นักมายันวิทยาใช้คือการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) จากโครงกระดูกของราชินีสีโลหิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาระบุว่าราชินีผู้นี้ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับกษัตริย์ปาคาล ทำให้ “ซัค คุค” ซึ่งเป็นมารดาแท้ๆ ถูกตัดออกไปอีกเช่นกัน ส่วนวิธีสุดท้ายคือวิธีการจำลองใบหน้าจากกะโหลกเทียบกับใบหน้าของสตรีทั้งสามจากศิลปะมายาโบราณ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่ากะโหลกของสตรีสีโลหิตมีความคล้ายคลึงกับ “ทซัคบู อเฮา” มเหสีของกษัตริย์ปาคาลเป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายราชินีสีโลหิตที่ถูกฝังอยู่ภายใต้ “วิหาร 13” จะเป็นราชินี “ทซัคบู อเฮา” หรือไม่ ยังไม่มีนักมายันวิทยาคนใดสามารถฟันธงได้ในเวลานี้หรอกครับ ตราบเท่าที่ยังไม่มีผลตรวจดีเอ็นเอ จากบุตรชายของนางมายืนยัน “ราชินี สีโลหิต” ก็จะยังคงเป็นสตรีปริศนาแห่งปาเลงเกเช่นนี้ต่อไป.
โดย : นนทพัทธ์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน