แม้ว่ารัฐจะออกสินเชื่อโควิดจากธนาคารออมสิน และธนาคาร ธ.ก.ส. แต่ก็มีอีกหลายคนที่กำลังตามหาสินเชื่อธนาคารไหนอนุมัติง่าย ๆ บ้าง เพื่อจะนำมาต่อยอดใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โควิด-19 ทำให้ทุกบ้านต้องปรับตัวกันเรื่องสุขภาพและการเงินทั้งหมด คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญในการแถลงข่าวผ่านการประชุมออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ค. 2563 เรื่อง “ก่อน COVID-19 มาชน สถานะเป็นหนี้ มุมมองในไตรมาส 1/2563" ไว้ว่า ประชาชน 91% กังวลเรื่องรายได้, 75% ลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงยอดอนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ ในต้นปี 2563 นี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสินเชื่อบ้าน ในเดือน ม.ค. - มี.ค. 2563 ยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านมีเพียง 80,000 สัญญา เทียบจากปีก่อน ๆ ที่ควรจะเกิน 100,000 สัญญาแล้ว รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ตัวเลขผู้ผ่านอนุมัติใหม่ ๆ น้อยลงอย่างน่าใจหาย

เมื่อสอบถามคุณสุรพล ถึงมาตรการผ่อนผันลดขั้นต่ำ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ที่ ธปท. ทำร่วมกับสถาบันการเงิน ว่าระยะเวลา 3 - 6 เดือน นับจากเดือน เม.ย. 2563 เพียงพอไหมที่จะช่วยให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติการเงินช่วงโควิด-19 นี้ไปได้

...

คำตอบคือ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเพียงพอไหม ต้องดูตัวเลขต่าง ๆ ประกอบกันของไตรมาส 2 นี้ และสิ่งที่ทุกสถาบันการเงินกำลังทำ คือรักษาสถานะลูกหนี้ ไม่ให้เป็นหนี้เสียกันเยอะไปกว่านี้

แต่สิ่งที่เป็นข้อเตือนใจให้กับผู้ที่กำลังจะไปขอสินเชื่อเพิ่ม พูดกันง่าย ๆ คือ ผู้ที่กำลังจะไปขอกู้บ้าน ซื้อรถ ขอบัตรเครดิตใบใหม่ในตอนนี้ ใครบ้างที่มีโอกาสกู้ผ่าน

5 ลักษณะของผู้ขอสินเชื่อช่วงโควิด-19 ในปี 2563

1. กู้ไม่ผ่านแน่ ๆ ขอสินเชื่อไม่ผ่านเพราะอะไร
หากคุณเคยกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ แล้วมีประวัติเป็นหนี้เสีย เนื่องจากไม่ได้ชำระหนี้, ปล่อยให้บ้านหรือรถโดนยึด, ไปค้ำประกันให้คนอื่นแล้วเขาไม่จ่ายหนี้ ถ้าขึ้นสถานะหนี้เสียแล้ว ต้องไปปรับโครงสร้างหนี้

สรุป : มีประวัติค้างชำระหนี้ = กู้สินเชื่อไม่ผ่าน
ทางออก : ปรึกษาคลินิกแก้หนี้ โทร. 02-610-2266


2. ยังไม่ควรกู้เพิ่ม
หากรู้ตัวว่าเคยค้างชำระหนี้ใน 24 - 36 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าปิดสินเชื่อนั้นไปแล้ว หรือกำลังทยอยผ่อนอยู่ แล้วตอนนี้มีกำลังจ่ายปกติ ทางสถาบันการเงินก็ยังให้กู้ง่าย ๆ หากคิดจะกู้มาเพิ่ม บอกเลยว่าผ่านยาก

สรุป : มีหนี้อยู่, เคยมีประวัติค้างชำระ = ยังไม่ควรกู้สินเชื่อ
ทางออก : รอมีรายได้เยอะกว่านี้ และปิดหนี้เก่าให้หมด


3. มีโอกาสกู้ผ่าน แต่เจ้าหนี้ขอดูหลักประกัน
หากคุณมีหนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่ใกล้ใช้หมดแล้ว หรือปิดยอดบัตรเครดิต ยอดสินเชื่อส่วนบุคคล ปิดยอดหนี้ต่าง ๆ ในช่วง 24 - 36 เดือนที่ผ่านมา มีโอกาสขอสินเชื่อใหม่ผ่าน แต่สถาบันการเงินจะขอดูหลักประกัน เพื่อให้มั่นใจว่ากู้เขาไปแล้วเขาจะได้คืน

สรุป : มีหนี้อยู่ ไม่มีประวัติค้างชำระ = มีลุ้นว่าจะกู้ผ่าน
ทางออก : เปรียบเทียบดอกเบี้ยสินเชื่อและเงื่อนไขจากหลาย ๆ แห่ง


4. มีโอกาสกู้ผ่าน
หนี้ดี + มีประวัติค้างชำระ
หากคุณมีประวัติค้างชำระหนี้ในช่วง 24 - 36 เดือนที่ผ่านมา แต่ปิดยอดไปหมดแล้ว และมียอดคงค้างอยู่เล็กน้อย มีโอกาสกู้ผ่าน แต่คาดว่าจะได้รับการช่วยเหลือเป็นสินเชื่อที่ให้มาปิดหนี้เก่าก่อน เพื่อลดภาระความสามารถในการชำระหนี้ต่อเดือน

สรุป : มีหนี้อยู่นิดหน่อย, มีประวัติค้างชำระ = มีลุ้นว่าจะกู้ผ่าน
ทางออก : เข้าร่วมโครงการผ่อนผันของเจ้าหนี้ก่อน

5. กู้ผ่านฉลุย
สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อจะขอดูเอกสารเยอะมาก เพื่อความมั่นใจว่าลูกหนี้จะมีแหล่งที่มาของรายได้มั่นคง และในกรณีของลูกจ้างจะมีการดูความมั่นคงไปถึงบริษัทต้นสังกัดด้วย

สรุป : ไม่มีหนี้ หรือมีหนี้อยู่นิดหน่อย, ไม่มีประวัติค้างชำระ = มีโอกาสกู้ผ่านสูง
ทางออก : เตรียมเอกสารให้ครบ มีเงื่อนไขตรงตามคุณสมบัติผู้กู้ของสินเชื่อนั้น หรือมีทรัพย์สินมาค้ำประกันกู้


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่รวมผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ และช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดี ให้ผู้เป็นหนี้เดิมได้ยืดระยะเวลาผ่อนชำระ และนำเงินไปคืนเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของคุณ ให้หนี้หมดไปพร้อมกับโควิด-19

อ่านเพิ่มเติม

...