วัคซีนโควิด-19 เป็นความหวังของคนทั่วโลก และทุกประเทศยังไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิดที่ยืนยันผลสร้างภูมิคุ้มกันกับมนุษย์ได้อย่างเป็นทางการ ในขณะที่ความต้องการวัคซีนโควิด-19 สูง ประเทศไทยไม่รอช้ารวมตัวนักวิจัยจากจุฬาฯ มหิดล ศิริราช เพื่อผลิตวัคซีนโควิดไทยเพื่อให้ทันใช้เร็วที่สุด

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในประชุมวิชาการวาระพิเศษผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 8 พ.ค. 63 ไว้ว่า ประเทศไทยไม่ควรรอซื้อวัคซีนโควิด-19 จากต่างชาติในภาวะการระบาดใหญ่ที่ไม่ปกติ

เนื่องด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการระบาดในสภาวะไม่ปกติ และมีจำนวนความต้องการวัคซีนจำนวนมาก เมื่อมองไปยังจำนวนประชากรทั่วโลกกว่า 7.782 พันล้านคน โดยเฉพาะจีน และสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง และมีความต้องการวัคซีนอยู่มาก ก็เป็นตัวเลขที่โรงงานผลิตวัคซีนทั่วโลกอาจจะต้องทำงานหนัก ไทยจึงไม่ควรรอการพัฒนาวัคซีนจากต่างชาติ และศูนย์วัคซีนจุฬาฯ กับหน่วยงานในประเทศ ก็เร่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่ประมาณ 10 วัคซีน

...

วัคซีนโควิดไทยมีโอกาสใช้ได้เร็วสุดเมื่อไร

การบรรยายครั้งนี้จึงเป็นการชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้ทราบว่า การพัฒนาวัคซีนโควิดไทยอยู่ในขั้นตอนใดแล้วบ้าง 

การวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต่างจากการพัฒนาวัคซีนตามปกติอย่างไร

ปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนโรคทั่วไปจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี โดยทดลองในสัตว์ ก่อนจะทดลองในอาสาสมัคร แต่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ลดระยะเวลาในขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเชื้อ เพราะทราบสายพันธุ์ไวรัสแล้ว ก็คาดว่าจะได้วัคซีนออกมาใช้จริงได้เร็วที่สุดในระยะเวลา 1 ปี - 1 ปีครึ่ง

ทั่วโลกมีวัคซีนโควิดล่าสุดกี่ชนิด และมีกี่ประเทศที่ทดสอบในมนุษย์แล้ว

ปัจจุบันนี้มีรายงานวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบ 115 ชนิด ถ้ารวมวัคซีนที่กำลังศึกษาอยู่ที่จุฬาฯ มหิดล ศิริราช และหน่วยงานอื่น จะมีมากกว่า 120 ชนิด และประเทศที่พัฒนาวัคซีนระยะ 2 แล้วมี 5 ประเทศ ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี และแคนาดา

ประเทศไทยมีบทบาทพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างไร ?

เนื่องจากไวรัสโคโรนา 2019 มีดีเอ็นเออยู่หลายชิ้นส่วน ทางกลุ่มผู้ศึกษาวัคซีนโควิด-19 ในไทย จึงได้แยกศึกษาในชิ้นส่วนต่างๆ โดยคณะแพทย์จุฬาฯ ค้นพบว่า การใช้รหัสพันธุกรรมชิ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นหัวเข็มหมุดของไวรัส กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เกือบ 100%


การพัฒนาวัคซีนโควิดไทย อยู่ในขั้นตอนใดแล้ว

วัคซีนโควิดล่าสุดของไทยที่ศูนย์วัคซีนจุฬาฯ ได้ทดลองกับหนูสำเร็จแล้วนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะใช้กับลิง และวัคซีนโควิด-19 จากหน่วยงานต่างๆ ในไทยกว่า 10 แบบ จะถูกคัดเลือกโดยใช้มาตรฐานสากล คือ

  • วัคซีนต้องไม่ติดสิทธิบัตร
  • วัคซีนจะต้องอยู่ในเกณฑ์ว่ากระตุ้นภูมิได้ในระดับที่เหมาะสม
  • มีโรงงานผลิตได้เกิน 10,000 โดสขึ้นไป
  • ราคาต้องไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม
  • เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วต้องสร้างภูมิคุ้มกันในระยะเวลาที่เหมาะสม
ภาพจากการบรรยายเรื่อง Covid 19 Vaccine : Global and Thailand Update  โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ภาพจากการบรรยายเรื่อง Covid 19 Vaccine : Global and Thailand Update โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

...

ความท้าทายของวัคซีนโควิด-19 มีอะไรบ้าง

วัคซีนโควิดทั้งหมดทั่วโลกนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อรอบสองได้หรือไม่ หรือหากใช้ได้แล้วจะป้องกันได้กี่ปี กี่เดือน เพราะต้องศึกษาให้ทันการระบาดของโรค ทางสหรัฐอเมริกาเองก็ตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กับประชากรได้จริงภายในปี 63 นี้ แต่ของไทยน่าจะได้ใช้ในกลางปีหน้า ด้วยจำนวนความต้องการที่มีมากทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเราควรจะพัฒนาวัคซีนไว้เอง เพื่อป้องกันการระบาดในบ้านเรา

ข่าวดี คือ ไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 เร็วสุด ก.ย. 63

ทางศูนย์วัคซีนจุฬาฯ คาดผลิตวัคซีนโควิด-19 ในลอตแรกจำนวน 10,000 โดสจากอเมริกาเพื่อส่งมอบได้เร็วสุดในเดือนสิงหาคม 63 และจะนำมาใช้กับอาสาสมัครได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งการพัฒนาวัคซีนจากคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์ คาดหวังว่าจะได้วัคซีนที่มีราคาไม่เกิน 1,000 บาทต่อโดส เพื่อการเข้าถึงได้ทุกภาคส่วน

ภาพจากการบรรยายเรื่อง Covid 19 Vaccine : Global and Thailand Update  โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ภาพจากการบรรยายเรื่อง Covid 19 Vaccine : Global and Thailand Update โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

...

เมื่อคาดการณ์ต้นทุนพบว่า ผลิตจำนวน 2 ล้านโดส ค่าวัคซีนจะอยู่ที่ไม่เกิน 700 บาทต่อเข็ม และถ้าต้องผลิตให้ครบจำนวนประชากร 60 ล้านโดส ราคาจะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐว่าจะผลิตในจำนวนเท่าใด และหากได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยจากทุกภาคส่วน การใช้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยจะได้ใช้กับกลุ่มบุคคลทั่วไปได้เร็วสุดภายในเดือน พ.ย.นี้


ที่มา : ประชุมวิชาการวาระพิเศษ COVID-19 Lecture Series ครั้งที่ 3 "Covid 19 Vaccine: Global and Thailand Update" / “Treatment Guidelines in COVID-19 for Clinical Practice” บรรยายโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย