โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางใจที่ทำให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเองมามาก สาเหตุโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายอย่างร่วมกัน ส่วนหนึ่งคือสารเคมีในสมองเสียสมดุลย์ หรือบางคนมีแนวคิดมองแง่ลบมาก เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงจากปกติ ก็จะมักจะเห็นทางออกที่กดดันตัวเองอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออกว่าเป็นภาวะซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์กันแน่

อาการโรคซึมเศร้า เป็นอย่างไร

ผู้ที่จะประเมินตัดสินว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็คือ "จิตแพทย์" เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอาจจะเจอกับแพทย์อายุรกรรมมาประเมินอาการตรวจสอบเบื้องต้น เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ยังไม่รู้ตัวส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการปวดหัว นอนไม่หลับ และอื่นๆ โดยไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร แต่เมื่อได้รับการวิเคราะห์จากจิตแพทย์ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการต่อไปนี้

  • อารมณ์เปลี่ยน กลายเป็นคนที่สะเทือนใจง่ายกับเรื่องเล็กน้อย จากคนที่สนุกกลายเป็นคนหดหู่ และอาจกลายเป็นคนหม่นหมอง ฉุนเฉียว อารมณ์ร้าย อย่างที่ไม่เคยเป็น
  • ความคิดเปลี่ยน มักมองย้อนไปค้นหาความผิดพลาดในอดีตของตัวเองมาคิดซ้ำๆ ทำให้ตัวเองรู้สึกไร้คุณค่า จนนำไปสู่ความคิดเศร้าหมอง รวมถึงหาทางออกด้วยการคิดสั้นอยู่บ่อยๆ จนอาจทำร้ายตัวเองชั่ววูบ
  • ความจำแย่ลง สมาธิสั้น จำไม่ได้ว่าตัวเองจะทำอะไร ดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง ลืมว่าวางอะไรไว้ตรงไหน
  • ร่างกายเปลี่ยนแปลง ส่วนมากมักรู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากตื่นเช้า นอนหลับยาก ไม่เจริญอาหารหรือกินมากเกินไป รวมถึงอาการท้องผูก ปากแห้ง แตกต่างกันในแต่ละคน
  • ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ไม่ค่อยอยากพูดกับใคร อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดบ่อย แม่อาจทนความซนของลูกไม่ได้ หรือมีปัญหากับสามี
  • การทำงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่างๆ ทำได้ไม่ดีเท่าเดิม เพราะไม่มีสมาธิและไม่มีแรงบันดาลใจอยากจะทำ
  • มีอาการทางจิต มีความกังวล หูแว่ว ที่อาจเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อรับการรักษาจะดีขึ้น

...

โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุอะไร

ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล ได้กล่าวถึงสาเหตุโรคซึมเศร้าไว้ในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีไว้ว่า มี 3 สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนี้

  • พันธุกรรม 
  • สารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
  • ลักษณะนิสัยมองโลกในแง่ร้าย

ข้อสังเกตในผู้ที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลายๆ ครั้ง มีโอกาสมาจากกรรมพันธุ์จากญาติพี่น้องที่เคยพบว่าเป็นโรคนี้ แต่ในภาพรวมโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันโดยเฉพาะความกดดันทางด้านจิตใจ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงก็ต้องติดตามรักษาอย่างใกล้ชิด

โรคซึมเศร้ารักษาได้ด้วยการให้ยา โดยผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือปรับยาด้วยตัวเอง และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก็ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ และผู้ป่วยที่ไม่รับประทานอาหาร รวมถึงผู้ที่มีความคิดพยายามทำร้ายตัวเอง

วิธีสังเกตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เมื่อเราพบเห็น เพื่อน ญาติ คนรู้จัก มีอาการเศร้า อยู่นิ่งๆ อยากปลีกวิเวก ก็ไม่ควรระบุว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความกังวลของแต่ละคนมีสาเหตุสร้างความไม่สบายใจที่แตกต่างกัน แต่ทางการแพทย์ หากผู้เข้ารับการรักษามีเกณฑ์ต่อไปนี้มากกว่า 5 ข้อ นานกว่า 2 เดือน คุณหมอจะมีคำแนะนำให้เข้าสู่กระบวนการรักษา

1. มีอารมณ์เศร้าตลอดทั้งวัน
2. ความสนใจต่างๆ ลดลง
3. น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน
4. นอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินไป
5. กลายเป็นคนอารมณ์แปรปรวน เชื่องช้า หรือ กระวนกระวายใจ อยู่ไม่สุข
6. กลายเป็นคนอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
7. รู้สึกต้อยต่ำ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า
8. ไม่มีสมาธิ ลังเล
9. คิดเรื่องทำร้ายตัวเองซ้ำๆ


โดยคลิกเข้าไปทำแบบทดสอบอาการโรคซึมเศร้าได้ที่นี่ หากมีคะแนนมากกว่า 20 คะแนน ควรปรึกษาแพทย์

การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรมอบให้แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ หรือคนในครอบครัวของเรา เขาไม่ได้เลือกที่อยากจะป่วย บุคคลใกล้ชิดและผู้ดูแลควรใจเย็น และให้อภัยในสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงออกมา โดยไม่ต้องแสดงความเป็นห่วงมากเกินไปจนผู้ป่วยรู้สึกขุ่นเคือง ผู้ดูแลควรช่วยประคับประคองความรู้สึก และช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ดังนี้

  • ช่วยเตือนให้ผู้ป่วยกินยาตามที่แพทย์สั่ง
  • ช่วยสังเกตความผิดปกติทางร่างกายและอารมณ์ของผู้ป่วย เพื่อชี้แจงกับแพทย์ในการปรับยา
  • ช่วยดูแลเรื่องการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ
  • ช่วยหากิจกรรมมาให้ทำลดความคิดที่อยู่กับตัวเองของผู้ป่วย
  • ให้ความสนใจเมื่อผู้ป่วยคิดทำร้ายตัวเอง และพร้อมรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจ

อีกกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ คุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่หลังคลอด เพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันหลังคลอดบุตร ร่วมกับอาการพักผ่อนน้อยเมื่อลูกต้องร้องกินนมตลอดเวลาในช่วงเดือนแรกๆ รวมถึงความเครียดจากการเลี้ยงลูก ซึ่งหลายปัจจัยนี้ทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue) และอาจเกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

...

เพราะฉะนั้นแล้วหากรู้สึกตัวว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า เพราะการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม ให้หลีกเลี่ยงเอาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมนั้น หันหน้าปรึกษาคนใกล้ชิดและลองทำแบบประเมินอาการของโรคซึมเศร้าก่อน ถ้าพบว่าตัวเองเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการรักษา โดยปรึกษาเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง และอยู่กับคนที่คิดบวก อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อะไรที่เก็บไว้แล้วเป็นผลเสียต่อจิตใจ ตัดทิ้งได้ก็ตัดเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม