ปรากฏการณ์ของบริจาคที่ถาโถมเข้าสู่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 คราวนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก ทั้งในแง่ความขาดแคลน และการระดมบริจาค
แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากขาดระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ บางครั้งเรื่องดีๆ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาได้ เช่น ของที่บริจาคไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม ของบริจาคไม่มีคุณภาพส่งผลต่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลบางแห่งได้รับของบริจาคเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น ขณะที่ บางแห่งไม่มีคนไปบริจาคและต้องอยู่ในภาวะขาดแคลน และอีกด้านหนึ่ง คนที่ต้องการบริจาคแต่
ไม่รู้ว่าจะบริจาคอะไร และควรไปบริจาคที่ใดจึงจะทำให้ของที่บริจาคนั้นได้ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆ
...
พลวัฒน์ ศุขจรัส ผอ.โครงการ Help from Home ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง นิด้า คือ ปวริศา ชุมวิกรานต์, ถานิต นิ่มละออ และ พรรณอวิกา ลิมปะพันธุ์ ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ www.helpfromhome.info มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลความต้องการอุปกรณ์แต่ละชนิดของสถานพยาบาลเป็นข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อถือได้ เข้าใจง่าย ถึงสถานะความต้องการอุปกรณ์ป้องกันตนเองของบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ประสงค์จะบริจาคกับโรงพยาบาลของรัฐในทุกภาคส่วน
รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้ในการคัดเลือกอุปกรณ์ที่จะนำไปบริจาค ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของโรงพยาบาล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ และสุดท้าย คือ เป็นสื่อ กลางในการให้องค์ความรู้ในการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้กับบุคลากร ทางการแพทย์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด
ผอ.โครงการ Help from Home บอกด้วยว่า เว็บไซต์จะมีการอัปเดตข้อมูลตลอดเวลา โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการรวบรวมข้อมูลความต้องการอุปกรณ์ต่างๆจากโรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้จริงๆ
พลวัฒน์ บอกว่า เว็บไซต์ www.helpfromhome.info ไม่มีเป้าหมายใดๆในเชิงธุรกิจ จัดทำขึ้นเพื่อทำให้การบริจาคอุปกรณ์ป้องกันตนเองของบุคลากรทางการแพทย์แก่สถานพยาบาลต่างๆทั่วประเทศเป็นไปอย่างทั่วถึง กระจายตัว ไม่กระจุกอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ตามสถานะความจำเป็นเร่งด่วนของสถานพยาบาลนั้นๆ
“เราเป็นเพียงตัวเชื่อมหรือสื่อกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับ ไม่ใช่ตอบโจทย์แค่ความต้องการ แต่เราให้ความรู้ความเข้าใจทั้งผู้บริจาคในการคัดเลือกอุปกรณ์ที่นำมาบริจาคให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของ บุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์เองก็มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรในภาวะวิกฤติได้” พลวัฒน์บอก
...
ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รอง ผอ.สรพ. บอกว่า การเข้าร่วมกับโครงการครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสถาบัน โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการอย่างมีส่วนร่วม หรือ 2P Safety (Patient and Personnel Safety) ในการสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการสนับสนุนข้อมูลรายละเอียดในการคัดเลือกอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้กับผู้ที่ประสงค์จะบริจาค
...
“การทำงานร่วมกับโครงการครั้งนี้ สรพ.ทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือกับ สวทช.และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัย ด้วยการส่งเสริมข้อมูลความรู้ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ต้องการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากาก ถุงเท้า หรือชุด PPE ได้มีข้อมูลความรู้ในการเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาบริจาค เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร”
...
พญ.ปิยวรรณ บอกและว่า ได้ทำแบบสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์การสนับสนุน รพ.ในการทำงานให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยในสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลประมาณ 200 แห่ง ส่งข้อมูลเข้ามาในระบบแล้ว ประชาชนที่ต้องการจะบริจาคอุปกรณ์ป้องกันตนเองแก่บุคลากรทางการแพทย์สามารถคลิกเข้าไปดูความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลได้ที่เว็บไซต์ www.helpfromhome.info ขณะที่โรงพยาบาลที่ต้องการส่งข้อมูลความต้องการของอุปกรณ์ต่างๆ สามารถเข้าไปกรอกแบบสอบถามได้ที่ลิงก์ https://docs.google.com/forms/d/1v8JpnAe0gT8a4_fwkUdIj6CaglkjVKW5FLS1QwPbQ9o เพื่อให้ทุกการ “ให้” และ “รับ” มีความหมาย อย่างแท้จริง.