ถ้าพบค่าไฟแพงผิดปกติจะแจ้งไปที่ใคร และจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าไฟหน่วยละกี่บาท ใครได้รับบิลค่าไฟแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบมาถึงค่าไฟ เนื่องจากเมื่อประชาชนอยู่บ้านก็ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบค่าไฟแล้วคิดว่าบ้านเราใช้ไฟเท่าเดิมแต่ทำไมค่าไฟขึ้นเยอะ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมาหาคำตอบเรื่องนี้กันครับ
...
ค่าไฟหน่วยละกี่บาท
ค่าไฟหน่วยละกี่บาทนั้นจะถูกเก็บโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) ผู้มีหน้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้กับบ้านเรือน และผู้ใช้งานอื่น ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อัตราค่าไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้งาน ได้แก่ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, กิจการขนาดกลาง, กิจการขนาใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์กรไม่แสวงหากำไร, กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว
การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะจัดอยู่ในประเภทที่ 1 ในกลุ่มนี้ยังแบ่งประเภทของการใช้ไฟฟ้าเป็น 3 แบบ ได้แก่
- อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1 คือ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน เริ่มต้นที่หน่วยละ 2.3488 บาท ถึง หน่วยละ 4.4217 บาท (ค่าบริการ 8.19 บาทต่อเดือน)
- อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 2 คือ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน เริ่มต้นที่หน่วยละ 3.2484 บาท ถึง หน่วยละ 4.4217 บาท (ค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน)
- อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 3 หรือ TOU คือ บ้านอยู่อาศัยที่ขอติดตั้งมิเตอร์แบบคิดค่าไฟตามช่วงเวลาของการใช้งาน ในช่วง Peak หรือ Off Peak เริ่มต้นที่หน่วยละ 2.6037 บาท ถึง หน่วยละ 5.7982 บาท (ค่าบริการ 38.22 หรือ 312.24 บาทต่อเดือน)
สำหรับผู้อยู่อาศัยประเภทห้องพัก ห้องเช่า อาจจะไม่ถูกเรียกเก็บจากการไฟฟ้าโดยตรง โดยห้องพัก ห้องเช่าส่วนใหญ่จะคิดค่าไฟเป็นหน่วยด้วยอัตราคงที่ไม่ว่าจะใช้ไฟมากหรือน้อยก็ตาม ทั้งนี้สามารถสอบถามอัตราค่าไฟจากผู้ให้บริการห้องพักได้
อัตราการคิดค่าไฟฟ้า และค่าบริการ
สูตรหาค่าไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ.
เมื่อพิจารณาลงมาว่าค่าไฟบ้านหน่วยละเท่าไหร่ ? (หรือค่าไฟยูนิตละเท่าไหร่) จะต้องกลับไปดูอัตราการใช้งานของการไฟฟ้าว่าเก็บค่าไฟฟ้ากิโลวัตต์ละกี่บาท โดยทั้ง กฟน. และ กฟภ. มีวิธีคิดเก็บค่าไฟฟ้า จาก 3 ส่วนนี้รวมกัน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน คิดจากจากค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการ
ส่วนที่ 2 ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)** คิดจากจำนวนพลังงานไฟฟ้า x ค่า Ft
ส่วนที่ 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดจาก (ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน + ค่า Ft) x 7/100
**หมายเหตุ : ค่าไฟฟ้าผันแปร Ft คืออะไร
เป็นค่าผันแปรที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของการไฟฟ้า คือ ค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่เป็นต้นทุนของการจำหน่ายไฟฟ้า
เมื่อนำทั้ง 3 ส่วนมารวมกันเราก็จะทราบว่าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้ากี่บาทในเดือนนี้ หรือหากไม่มีเวลานั่งคำนวณ ก็เข้าเว็บไซต์คำนวณค่าไฟอัตโนมัติได้ที่นี่
อัตราค่าไฟฟ้า 2563
อัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันใช้ตามประกาศค่าไฟใหม่ตั้งแต่ปี 2561 ตามอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ แต่กระทรวงพลังงานจะลดราคาให้ในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2563 นี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้านนานขึ้น เปิดแอร์ พัดลม ไฟฟ้ามากกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะได้รับส่วนลดค่าไฟ ดังนี้
- ส่วนลดใช้ไฟฟรี 150 หน่วยแรก สำหรับอัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1
- จ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับ อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 2 ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย
- ส่วนลด 50% จากส่วนที่เกินยอดเรียกเก็บเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับ อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 2 ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย
- ส่วนลด 30% จากส่วนที่เกินยอดเรียกเก็บเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับ อัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 2 ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย
...
และเนื่องจากเพิ่งมีประกาศส่วนลดค่าไฟฟ้าในเดือนเมษายน ผู้ที่จ่ายบิลของเดือนมีนาคมไปแล้วจะได้รับเป็นส่วนลดในบิลของเดือนถัดไป
วิธีชำระค่าไฟ
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังระบาดอยู่ การจ่ายค่าไฟผ่านบัตรเครดิต หรือ จ่ายผ่าน Mobile Banking ก็กำลังเป็นที่นิยมอยู่ แต่หากคุณไม่ได้ใช้บริการของทั้งสองอย่างนี้ก็จ่ายที่เคาน์เตอร์ที่เปิดรับบริการจ่ายค่าไฟโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ได้ถึง 30 มิถุนายน 63
การค้างชำระค่าไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้ค่าไฟฟ้าค้างชำระได้ 15 วัน - 2 เดือน ขึ้นอยู่กับวันที่ระบุอยู่ในรอบบิลของแต่ละบ้าน โดยจะได้รับแจ้งเป็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟมาเสียบไว้ที่ประตูบ้านเหมือนเคย และหากไม่จ่ายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะถูกยกเลิกการจ่ายไฟหรือที่เรียกกันว่าถูกยกหม้อ แต่ปี 2563 นี้ ทั้ง กฟน. และ กฟภ. จะขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าเป็น 6 เดือน สำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในกลุ่มที่ถูกคิดค่าไฟในอัตราค่าไฟบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1 และกลุ่มประเภทที่ 5 คือผู้ใช้ไฟฟ้าในโรงแรมและกิจการให้เช่าอาศัยเท่านั้น ต้องตรวจสอบบิลค่าไฟบ้านว่ามีค่าไฟฟ้าค้างชำระหรือเปล่า มีข้อสงสัยโทรสอบถาม Call Center กฟน.1130 และ กฟภ.1129
...
ค่าไฟฟ้าแพงผิดปกติหรือไม่
ถ้าเดือนนี้ตรวจสอบแล้วว่ามิเตอร์ไม่ตรงกันกับที่ใช้งานจริง มีค่าไฟแพงขึ้น สามารถเข้าไปเช็กค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ การไฟฟ้านครหลวง ได้ที่ www.mea.or.th หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค www.pea.co.th และหากพบค่าไฟผิดปกติแจ้งที่การไฟฟ้าเขตที่ดูแลมิเตอร์ตามที่ตั้งของที่อยู่อาศัยของคุณ
ที่มา : www.egat.co.th, www.mea.or.th, www.pea.co.th