“การเดินทางไปยังยมโลกของชาวไอยคุปต์นั้นสุดแสนจะอันตราย ดังนั้นคุณควรจะมีหนังสือคู่มือท่องยมโลกดีๆ สักเล่มติดมือไปด้วยในยามที่คุณสิ้นลม”

ประโยคโฆษณาข้างต้นอาจจะ ฟังดูแปลกประหลาดสำหรับพวกเราในปัจจุบัน แต่สำหรับชาวอียิปต์โบราณที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีก่อนแล้วพวกเขาเชื่อและคิดเช่นนั้นจริงๆ ว่าเส้นทางที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ “ทุ่งต้นกก” (Field of Reeds) หรือ “สวรรค์” นั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าเต็มไปด้วยอุปสรรคและภยันตรายนานัปการ

โชคดีครับที่นักบวชได้ “สรุป” เอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าการเดินทางไปยังแดนสุขาวดีที่ชาวไอยคุปต์จะได้ใช้ชีวิตชั่วนิรันดร์นั้นจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคใดบ้าง ชาวไอยคุปต์ผู้มีอันจะกินจึงยินดีหาซื้อ “คู่มือ” ในการเดินทางหลังความตายมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ตนเองในอนาคต และคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน ก็จะพาแฟนานุแฟนไปทำความรู้จักกับสารพัด “หนังสือคู่มือท่องยมโลก” ที่ชาวไอยคุปต์เคยใช้งานกันครับ

“ทุ่งต้นกก” หรือสวรรค์ของชาวไอยคุปต์.
“ทุ่งต้นกก” หรือสวรรค์ของชาวไอยคุปต์.

...

คู่มือท่องยมโลกฉบับปฐมฤกษ์ที่ชาวไอยคุปต์เขียนขึ้นมีชื่อว่า “จารึกพีระมิด” (Pyramid Texts) คัมภีร์ฉบับนี้ปรากฏในห้องฝังศพของพีระมิดสมัยราชอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) จึงเป็นที่มาของชื่อคัมภีร์ตามไปด้วย สิ่งที่น่าแปลกก็คือคัมภีร์ท่องยมโลกฉบับแรกเริ่มนี้กลับไม่ได้ปรากฏพร้อมกับพีระมิดแห่งแรกของโลกอย่างพีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์ดโจเซอร์ (Djoser) ที่นครสุสานซัคคารา (Saqqara) หรอกครับ อีกทั้งคัมภีร์ที่ว่านี้ยังไม่ปรากฏในกลุ่มมหาพีระมิดทั้งสามแห่งในเมืองกิซา (Giza) อันโด่งดังอีกด้วย พูดง่ายๆว่าฟาโรห์ทั้งคูฟู (Khufu) และคาเฟร (Khafre) ที่รังสรรค์พีระมิดขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของอียิปต์ขึ้นเมื่อราว 2,600 ปีก่อนคริสตกาลไม่ได้จารึกคัมภีร์ท่องยมโลกที่ว่านี้เอาไว้ ณ ส่วนไหนของพีระมิดเลย หลักฐานแรกสุดของจารึกพีระมิดเพิ่งมาปรากฏบนผนังห้องฝังศพของฟาโรห์อูนาส (Unas) เมื่อราว 2,400 ปีก่อนคริสตกาลเท่านั้นเอง

นักอียิปต์วิทยาพบว่าจารึกพีระมิดมักจะปรากฏเพียงแค่ในพีระมิดขององค์ฟาโรห์และราชินีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการเดินทางไปยังโลกหลังความตายสมัยราชอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) อันเป็นยุคทองของการสร้างพีระมิด ยังเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อพระวงศ์ ส่วนขุนนางหรือบุคคลทั่วไปนั้นไม่มีสิทธิ์ใช้จารึกพีระมิดและไม่มีสิทธิ์ในชีวิตหลังความตายเฉกเช่นฟาโรห์

ถึงแม้ว่าข้อความคัมภีร์บนผนังห้องฝังศพจะยาวติดกันเป็นพรืด แต่นักอียิปต์วิทยาก็สามารถแบ่งเนื้อหาของคู่มือท่องยมโลกฉบับแรกของชาวไอยคุปต์ออกได้ราว 760 คาถาที่ต้อง “เปล่งเสียงสวด” (Utterance) โดยเหล่านักบวชเพื่อนำทางเหล่าฟาโรห์และราชินีไปสู่แดนสุขาวดี

จารึกพีระมิดคือคัมภีร์ท่องยมโลกฉบับแรกเริ่มสงวนสิทธิ์สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น.
จารึกพีระมิดคือคัมภีร์ท่องยมโลกฉบับแรกเริ่มสงวนสิทธิ์สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น.

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพีระมิดทุกแห่งจะมีคาถาครบถ้วนทั้ง 760 บทหรอกนะครับ พีระมิดของฟาโรห์อูนาสซึ่งเป็นพีระมิดแห่งแรกที่ปรากฏ คัมภีร์นี้มีสลักเอาไว้เพียงแค่ 227 บท ส่วนพีระมิดที่มีคาถาจารึกเอาไว้มากที่สุดคือพีระมิดของฟาโรห์เปปิที่ 2 (Pepi II) ก็มีคาถาสลักอยู่เพียง 675 บทเท่านั้นเอง จารึกพีระมิดกล่าวว่าฟาโรห์จะเดินทางไปพร้อมกับเรือสุริยะของเทพเจ้ารา (Ra) ผู้มีเศียรเป็นเหยี่ยว เพื่อไปรวมร่างหรือบ้างก็ว่าไปเป็นหนึ่งในเทพเจ้าร่วมกับกลุ่มดาวอื่นๆ บนท้องฟ้าโดยร่ายคาถาที่จะช่วยให้พระองค์สามารถ “บิน” ขึ้นไปได้ประหนึ่งว่าตนเองเป็นนก นั่นหมายความว่ายมโลกขององค์ฟาโรห์คือการเดินทางขึ้นไปรวมกับเทพเจ้าและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับดวงดาวที่ไม่มีวันดับ (Imperishable Stars) ท่ามกลางท้องฟ้ายามราตรีนั่นเองล่ะครับ

ข้อมูลการท่องยมโลกในจารึกพีระมิดมาจาก “ข้อความ” ซึ่งเป็นอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิก (Hieroglyphs) ล้วนๆ ไม่มี “ภาพประกอบ” เข้ามาช่วยอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งคัมภีร์นี้ยังสงวนเอาไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น แต่แนวคิดของการผูกขาดนี้ก็ได้เปลี่ยนไป เมื่ออียิปต์ก้าวเข้าสู่ยุคราชอาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) ในยุคนี้คัมภีร์หลังความตายฉบับใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา นักอียิปต์วิทยาเรียกคัมภีร์เวอร์ชันใหม่นี้ว่า “จารึกโลงศพ” (Coffin Texts)

ที่ได้ชื่อ “จารึกโลงศพ” เพราะคู่มือท่องยมโลกเวอร์ชันนี้มักจะปรากฏอยู่บน “โลงศพ” นั่นเอง แนวคิดการเดินทางไปยังโลกหน้าในสมัยราชอาณาจักรกลางเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยอาณาจักรเก่าพอสมควร เพราะนอกจากสิทธิในการใช้ชีวิตหลังความตายจะไม่ได้สงวนไว้ให้เฉพาะกับเชื้อพระวงศ์เท่านั้นแล้ว จารึกโลงศพยังมี “ภาพ ประกอบ” ให้เราได้เห็นแดนสุขาวดีของชาวอียิปต์โบราณได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย

...

ต้องเอ่ยพระนามของเทพเจ้าเฝ้าประตูในคัมภีร์มรณะให้ถูกต้องจึงจะผ่านประตูต่างๆเข้าไปได้.
ต้องเอ่ยพระนามของเทพเจ้าเฝ้าประตูในคัมภีร์มรณะให้ถูกต้องจึงจะผ่านประตูต่างๆเข้าไปได้.

คาถาของจารึกโลงศพไม่ได้มีเพียงแค่หลัก “ร้อย” เหมือนกับจารึกพีระมิด แต่พุ่งขึ้นไปถึง 1,185 คาถาเลยล่ะครับ!! คาถาที่ปรากฏในคัมภีร์ท่องยมโลกเวอร์ชันใหม่นี้แตกต่างจากจารึกพีระมิดพอสมควร เช่นจารึกพีระมิดกล่าวถึงคาถาที่ฟาโรห์จะ “บิน” ขึ้นไปรวมกับสุริยเทพประหนึ่งเหยี่ยว แต่จารึกโลงศพก้าวล้ำกว่านั้นเพราะคัมภีร์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ “นก” แต่ผู้ถือครองคัมภีร์สามารถแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ เช่นบ้างก็อาจจะอยากเป็นไฟ เป็นอากาศ หรืออยากจะแปลงเป็นจระเข้ก็ยังได้!!

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือจารึกโลงศพริเริ่มนำเอาแนวคิดเรื่อง “ความดีความชั่ว” เข้ามาเป็นตัวตัดสินว่าผู้วายชนม์จะได้ผ่านเข้าไปยังโลกหลังความตายหรือไม่ เพราะเมื่อลองย้อนกลับไปดูจารึกพีระมิดในยุคก่อนหน้าแล้วจะพบว่าฟาโรห์ทุกพระองค์จะได้เดินทางขึ้นไปรวมกับสุริยเทพบนฟากฟ้าโดยไม่มีการกล่าวถึงการตัดสินความดีความชั่วเลย แต่เมื่อจารึกโลงศพเปิดทางให้คนทั่วไป (ที่มีเงินซื้อคัมภีร์) สามารถใช้ชีวิตหลังความตายได้ด้วย แนวคิดเรื่องการตัดสินความดีความชั่วจากการกระทำเมื่อครั้งยังมีชีวิตจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

...

คัมภีร์มรณะบอกวิธีการ “ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา” ต่อเทพตุลาการทั้ง 42 พระองค์.
คัมภีร์มรณะบอกวิธีการ “ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา” ต่อเทพตุลาการทั้ง 42 พระองค์.

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของจารึกโลงศพก็คือ “ภาพประกอบ” ภาพที่ชาวไอยคุปต์บรรยายเอาไว้เคียงคู่กับจารึกโลงศพก็คือ “แผนที่ยมโลก” ตามมโนคติความเชื่อของพวกเขา นักอียิปต์วิทยาเรียกเนื้อหาส่วนนี้ว่า “คัมภีร์สองทาง” (Book of Two Ways) ซึ่งอธิบายถึงเส้นทางสองเส้นที่แบ่งแยกด้วยทะเลสาบแห่งไฟ (Lake of Fire) นำพาผู้วายชนม์เดินทางไปยังยมโลกหรืออาณาจักรแห่งจอมเทพโอซิริส (Osiris) แน่นอนครับว่าระหว่างทางย่อมเต็มไปด้วยภยันตรายรอคอยอยู่ มีทั้งกำแพงไฟ ความมืดและปีศาจหลากหลายตน สิ่งที่น่าสนใจก็คือเส้นทางไปยังยมโลกที่กล่าวถึงในจารึกโลงศพนี้ไม่ได้เริ่มต้นในยามที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ทว่าเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ทางทิศตะวันออก ทั้งนี้ก็เป็นการเปรียบเทียบผู้วายชนม์เข้ากับดวงสุริยา และเมื่อพวกเขาสิ้นลมก็จะร่วมเดินทางไปกับสุริยเทพในเส้นทางเดียวกับพระองค์นั่นเอง

...

ผนังและเพดานสุสานของฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่อัดแน่นไปด้วยคัมภีร์ท่องยมโลก.
ผนังและเพดานสุสานของฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่อัดแน่นไปด้วยคัมภีร์ท่องยมโลก.

มาถึงคัมภีร์ท่องยมโลกเวอร์ชันอัปเกรดจากจารึกโลงศพกันบ้าง ซึ่งก็คือ “คัมภีร์มรณะ” (Book of the Dead) จากสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) คัมภีร์ท่องยมโลกยอดฮิตนี้มีจำนวนคาถาน้อยกว่าจารึกพีระมิดเสียอีก คาถาในคัมภีร์มรณะมีอยู่เพียงแค่ 189 บทเท่านั้นเองครับ (แต่ก็ไม่เคยมีใครซื้อใช้ครบทุกบทหรอกนะครับ) นอกจากนั้นคัมภีร์มรณะยังไม่ได้จำกัดว่าจะต้องปรากฏบนโลงศพหรือสุสานเท่านั้น แต่คู่มือท่องยมโลกฉบับนี้สามารถเขียนลงบนโลงศพ ผนังสุสาน ผ้าพันมัมมี่ หรือกระดาษปาปิรัสก็ได้

นักอียิปต์วิทยาพบว่าในอดีตอาจจะเคยมีธุรกิจค้าขายคัมภีร์มรณะกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยนักบวชจะวาดและเขียนคัมภีร์บทต่างๆเอาไว้ให้ผู้ที่สนใจมาเลือกซื้อโดยจะเว้นช่องเอาไว้สำหรับใส่ “ชื่อ” ของผู้วายชนม์โดยเฉพาะ ประหนึ่งคัมภีร์มรณะกึ่งสำเร็จรูป เพียงแค่เขียนชื่อของตนเองลงไปเท่านั้นก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้

คัมภีร์สองทางในจารึกโลงศพคือภาพประกอบยุคแรกๆ ที่แสดงให้เห็นยมโลก.
คัมภีร์สองทางในจารึกโลงศพคือภาพประกอบยุคแรกๆ ที่แสดงให้เห็นยมโลก.

สิ่งที่คัมภีร์มรณะแตกต่างจากคู่มือท่องยมโลกเวอร์ชันเก่าๆ อย่างชัดเจนคือ “ภาพประกอบ” ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น เราได้เห็นอุปสรรคต่างๆที่ชาวไอยคุปต์ต้องเผชิญ เช่นประตูที่พวกเขาต้องเอ่ยพระนามของเทพเจ้าเฝ้าประตูให้ถูกต้องก่อนจึงจะสามารถผ่านเข้าไปได้ รวมถึงฉากสำคัญที่สุดที่ชาวไอยคุปต์ต้องเข้าร่วมเพื่อที่จะได้ไปใช้ชีวิตใน “ทุ่งต้นกก” หรือดินแดนสุขาวดี อย่างเช่นฉากที่เทพเจ้าอนูบิส (Anubis) ผู้มีเศียรเป็นหมาในสีดำ นำพาดวงวิญญาณของผู้วายชนม์เข้ามาในห้องตัดสินเพื่อชั่งน้ำหนักของหัวใจกับขนนกกระจอกเทศแห่งความเที่ยงธรรมเบื้องหน้าจอมเทพโอซิริสโดยมีเทพเจ้าธอธ (Thoth) ผู้มีเศียรเป็นนกกระสาคอยจดบันทึก ก็ถูกวาดเอาไว้ในคาถาบทที่ 125 อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเลย

เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักหัวใจแล้ว เทพเจ้าโอซิริสจะตัดสินให้ได้ใช้ชีวิตหลังความตายในทุ่งต้นกก.
เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักหัวใจแล้ว เทพเจ้าโอซิริสจะตัดสินให้ได้ใช้ชีวิตหลังความตายในทุ่งต้นกก.

ก่อนที่หัวใจของผู้วายชนม์จะถูกนำไปชั่งสิ่งหนึ่งที่ต้องเผชิญก่อนก็คือการ “ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา” (Negative Confession) ผู้วายชนม์จะต้องกล่าวต่อหน้าเทพตุลาการทั้ง 42 พระองค์ว่าเขาไม่เคยทำชั่วใดๆ มาก่อนเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น “ข้าไม่เคยฆ่าใคร... ข้าไม่เคยลักทรัพย์จากวิหารแห่งเทพเจ้า... ข้าไม่เคยฆ่าวัวศักดิ์สิทธิ์...” ซึ่งคัมภีร์มรณะได้เขียนเอาไว้หมดแล้วครับว่าผู้วายชนม์จะต้องพูดปฏิเสธต่อหน้าเทพตุลาการอย่างไรบ้าง นั่นหมายความว่าผู้วายชนม์มีสิทธิ์ที่จะ “โกหก” อย่างไรก็ได้

แต่สิ่งที่จะโกหกไม่ได้อย่างแน่นอนคือ “หัวใจ” ที่นำมาชั่งกับขนนกกระจอกเทศแห่งความเที่ยงธรรม ถ้าน้ำหนักหัวใจของผู้วายชนม์เท่ากับหรือเบากว่าขนนก นั่นหมายความว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เทพโอซิริสผู้ประทับนั่งบนบัลลังก์ก็จะอนุญาตให้ดวงวิญญาณผ่านเข้าไปสู่ทุ่งต้นกกตามที่ปรารถนาได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนชั่ว หัวใจหนักกว่าขนนกขึ้นมา ก็จะถูกอสูรกายที่มีศีรษะเป็นจระเข้ ขาหน้าเป็นสิงโตและขาหลังเป็นฮิปโปนามว่า “อัมมุต” (Ammut) ที่เฝ้าอยู่ใต้ตาชั่งกัดกินจนไม่สามารถเดินทางไปใช้ชีวิตหลังความตายได้อีกต่อไป

การชั่งน้ำหนักหัวใจเทียบกับขนนกแห่งความเที่ยงธรรมในคัมภีร์มรณะ.
การชั่งน้ำหนักหัวใจเทียบกับขนนกแห่งความเที่ยงธรรมในคัมภีร์มรณะ.

คัมภีร์มรณะเปรียบเสมือนคู่มือท่องยมโลกของ “สามัญชน” ที่ปรารถนาจะเดินทางไปใช้ชีวิตหลังความตายใน “ทุ่งต้นกก” ซึ่งจุดหมายปลายทางนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่ พระองค์ยังคงแนวคิดดั้งเดิมของ “จารึกพีระมิด” ว่าจะต้องเดินทางขึ้นไปรวมกับสุริยเทพบนฟากฟ้า ดังนั้นภาพสลักบนผนังสุสานของเหล่าฟาโรห์ในสมัยราชอาณาจักรใหม่ที่สร้างในลักษณะของอุโมงค์ที่ขุดเจาะเข้าไปในหน้าผาที่เรียกว่า “หุบผากษัตริย์” (Valley of the Kings) จึงอัดแน่นไปด้วยคัมภีร์หลังความตายที่จะนำพาฟาโรห์ร่วมเดินทางไปกับสุริยเทพในยามค่ำคืนเช่นคัมภีร์แห่งอัมดูอัต (Book of Amduat) คัมภีร์แห่งประตู (Book of Gates) คัมภีร์แห่งถ้ำ (Book of Caverns) หรือคัมภีร์แห่งผืนปฐพี (Book of the Earth) สลักเสลาอยู่เต็มพื้นที่ทั้งส่วนผนังและเพดาน

ซึ่งคัมภีร์เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือนำพาดวงวิญญาณขององค์ฟาโรห์ขึ้นไปรวมกับสุริยเทพบนฟากฟ้า เพื่อสื่อถึงการฟื้นคืนชีพและความเป็นอมตะเฉกเช่นดวงสุริยาที่สามารถถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ได้ทุกวันทางขอบฟ้าฝั่งทิศตะวันออกนั่นเองล่ะครับ.

โดย : สืบ สิบสาม
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน