ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตกันปลอดภัยหรือยัง หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หากโรคนี้หยุดระบาดเมื่อไหร่ พฤติกรรมบางอย่างของพวกเราต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสวมหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในห้องปิด หรือพนักงานอาจจะขอ Work from Home ทันทีเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยด้วยอาการไอจามเพื่อแสดงความรับผิดชอบของสังคม
ก่อนหน้านี้ เราต่างใช้ชีวิตกันโดยที่ไม่รู้ว่าพฤติกรรมเดิมเอื้อต่อการระบาดของโรคใดโรคหนึ่งอยู่หรือเปล่า ตอนนี้โควิด-19 เริ่มถูกพูดถึงว่าเป็นสาเหตุให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ในเร็วๆ นี้หรือไม่
ความหมายของความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal)
ความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) เป็นคำที่ Bill Gross ผู้จัดการกองทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่โด่งดังในชวงวิกฤติการเงินสำคัญๆ ของโลก ได้กล่าวไว้ในปี 2008 ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น การถือกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อการกักตัว 14 วันผ่านพ้นไป คนทั้งโลกมองไปยังประเทศจีนเป็นประเทศแรกว่าจะปรับตัวกับโควิด-19 อย่างไร ในแต่ละประเทศจะเกิดสิ่งใหม่หลังโควิด-19 ที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงเหมือนกันทั่วโลกก็คือ การใส่ใจสุขอนามัยของตัวเองมากขึ้น อย่างการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หรือการทักทายด้วยวิธีสัมผัสร่างกายจะต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ถูกทบทวน ความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน มีดังนี้
ปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) ในด้านธุรกิจ
...
ปัจจุบันนี้บริษัท และธุรกิจต่างๆ ก็เปิดให้บริการได้แล้ว โรงงานก็เปิดให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานได้มากขึ้น การกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ได้แปลว่าไวรัสหยุดระบาดไปแล้ว แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจกันดูแลตัวเองและปฏิบัติตามแผนของผู้นำท้องถิ่น และใครที่มีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ต้องกักตัวเอง 14 วัน รวมถึงคนที่ไม่ป่วยก็ต้องวัดไข้และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันในทุกๆ วัน
เหตุการณ์นี้พอเป็นไกด์ไลน์แก่ประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญโรคระบาดนี้ได้ว่าหากโควิด-19 ยังไม่จบ เราจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือเปล่า ดูตัวอย่างจากจีนกสรุปได้ว่าธุรกิจไปต่อได้ แต่ต้องควบคู่กับการดูแลสุขภาพของแรงงานและสิ่งที่จะทำให้การกักตัวปิดเมืองไม่ประสบความสำเร็จคือความล้มเหลวของรบบการดูแลสุขภาพของประชากร หากทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ โรคระบาดก็อาจอยู่ทำลายเศรษฐกิจไปอีกนาน
ตัวอย่าง สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในที่ทำงาน
- ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยในห้องปิด
- การจัดโต๊ะนั่งของพนักงานจะถูกปรับเปลี่ยนให้ห่างกัน
- งานของแม่บ้านจะเพิ่มขึ้นด้วยหน้าที่ที่ต้องเปิดหน้าต่างห้องทำงานให้อากาศระบายบ่อยๆ
- การพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งตึกจะถูกบรรจุอยู่ในเรื่องความปลอดภัยให้สำคัญพอกับการฉีดปลวก
- พนักงานจะได้รับอนุญาตให้ลาทำงาน Work from Home ได้หากมีอาการไอ จาม ตัวร้อน
สิ่งที่ตามมาก็คือ บริษัทจะต้องลงทุนจัดเก็บข้อมูลผ่าน Cloud มากขึ้น และจัดระบบสวัสดิการให้กับพนักงานใหม่โดยคำนึงถึงวันลาทำงานอยู่บ้าน หรือการเลือกใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปแทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการจัดรถรับส่งพนักงานเพื่อลดโอกาสการรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม
ปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) ในด้านเทคโนโลยี
โควิด-19 กดดันให้ประชากรพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีมากขึ้น เราติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นจนเกิดคำถามว่าหากต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไปนานๆ เราจะสามารถใช้ทรัพยากรอินเทอร์เน็ตได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการหรือเปล่า
กรณีการใช้เทคโนโลยีสังคมไร้เงินสด เมื่อเราต้องโอนเงิน ชำระบิล ทำธุรกรรมออนไลน์พร้อมๆ กันหลายล้านคนต่อวินาที แอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ มีความพร้อมที่จะรองรับ Transection นี้หรือไม่ และมีความปลอดภัยเพียงพอหรือเปล่า รวมถึงอุปกรณ์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นมือถือระบบ 3G, 4G แต่อนาคตที่กำลังจะเปิดใช้ 5G นั้น จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อใช้เทคโนโลยี 5G นี้ได้ จึงเป็นแนวโน้มสำคัญว่าปี 2020 เป็นต้นไป ประชาชนจะหันมาใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กทั้งหมดที่เชื่อมต่อสัญญาณไร้สายที่รับ 5G ได้ เพราะมีความเร็วเทียบเท่าการใช้เน็ตบ้านนั่นเอง
...
ตัวอย่างสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในด้านเทคโนโลยี
- ผู้บริโภคจะหันไปใช้อุปกรณ์ที่รองรับอินเทอร์เน็ตได้ดีที่สุด
- แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตและค่าโทรต่างๆ จะต้องปรับราคาเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น
ปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) ในด้านการบริโภค
โควิด-19 ทำให้เกิดคำถามที่ว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นสะอาดแค่ไหน ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้ประกอบอาหารเองจะมั่นใจในความสะอาดได้หรือเปล่า รวมถึงกระบวนการจัดส่งอาหารสด อาหารแปรรูป ผัก ฯลฯ ทั้งหมดเห่านี้เป็นคำถามที่ทุกคนบนโลกกำลังให้ความสนใจพร้อมๆ กัน
ส่วนหนึ่งของความรุนแรงโรคโควิด-19 ที่มาจาจากโรคแทรกซ้อนมาจากการบริโภคอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม อันเป็นสาเหตุส่งผลให้เกิดโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ฯลฯ ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้มีโอกาสเกิดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเรื่องการกินจะต้องใส่ใจตั้งแต่วันนี้
ตัวอย่าง สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพฤติกรรมการบริโภค
- เมื่อเราใช้วิธีการสั่งซื้ออาหารออนไลน์กันมากขึ้น หน้าร้านต่างๆ มีระบบจัดการรอคิวเพื่อความปลอดภัยให้แก่พนักงานส่งอาหารหรือไม่ จากบางร้านที่เคยตั้งเก้าอี้ให้นั่งรอ อาจจัดระบบให้คอยเพื่อรักษาความสะอาดของอาหารด้วย
- ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้การนั่งรับประทานอาหารที่ร้านหลังโควิด-19 จบ จะไม่เป็นที่นิยมเท่าแต่ก่อน
- ร้านอาหารต่างๆ อาจจะต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อให้คนรู้จักร้านมากขึ้น
- จำนวนผู้ที่สั่งกลับบ้านมากขึ้นทำให้ทางร้านต้องลดการจ้างพนักงานเสิร์ฟ
- บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นพลาสติกขยะจะต้องได้รับการควบคุมมากขึ้นด้วย
...
ปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) ในสถาบันการศึกษา
เด็กเล็กตกเป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 เพราะภูมิต้านทานยังน้อย และมักมีอาการรุนแรงหากได้รับโรคต่างๆ โรคระบาดในเด็กเล็กวัยอนุบาล และประถมศึกษามักติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะต้องใช้เวลาเรียนในห้องนานๆ และนั่งติดกับเพื่อนๆ เป็นไปได้ว่าช่วงโควิดนี้จะทำให้เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน หรือต้องลดเวลาเรียนลง
ตัวอย่างสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระบบการศึกษา
- วัคซีนเสริมบางตัวอาจถูกบรรจุเป็นวัคซีนหลักเพื่อให้เด็กไทยได้รับโอกาสฉีดวัคซีนมากขึ้น
- ปลูกฝังให้เด็กเล็กสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่ชั้นอนุบาล
- สวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าเรียน-สอบ
- เพิ่มจำนวนก๊อกน้ำให้เด็กๆ ได้ล้างมือได้มากขึ้น
- ช่วงเวลาปล่อยพักของเด็กแต่ละชั้นไม่ควรพักพร้อมกัน ลดความแออัดของโรงอาหาร
- เปลี่ยนระบบการเรียนการสอนออนไลน์ รองรับสถานการณ์ Learn from home
ปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) ในด้านศาสนา
...
ในประเทศอิตาลี พบจำนวนบาทหลวงเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างน่าใจหาย เพราะเกิดจากพฤติกรรมระหว่างปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยที่ขาดกำลังใจ เมื่อมีการสัมผัสมือ (หรือแม้กระทั่งเช็ดน้ำตาให้กัน) ก็ทำให้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างง่ายดาย
แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็พบพระสงฆ์ สามเณรที่ต้องกักตัวเองเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 อยู่มาก เนื่องจากบุคคลลกลุ่มนี้มักต้องพบเจอกับคนหมู่มากอยู่เสมอ เริ่มจากช่วงเช้าที่ต้องเดินบิณฑบาต ระหว่างชาวบ้านมาวันถวายเพล นิมนต์เชิญไปงานพิธีสำคัญๆ ตอนเย็นมีสวดอภิธรรม ซึ่งตอนนี้โควิด-19 ทำให้นักบวชทั่วโลกต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น
นอกจาก Social Distancing ที่ทำให้เราต้องเว้นระยะห่างในการพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กัน หลังจบสถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปแล้ว คาดว่าผู้คนส่วนหนึ่งจะปรับตัวเพื่อป้องกันการติดต่อโรคทางเดินหายใจกันมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากพฤติกรรมเดิมๆ ทีละเล็กละน้อย หรือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากขึ้น ซึ่งโควิด-19 ทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวกันในระยะยาว
ในด้านเศรษฐศาสตร์ “New Normal” ถูกแปลว่า “ความปกติใหม่” ซึ่งวัดเป็นตัวเลขที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม ในอนาคตไทยรัฐออนไลน์จะนำมาเจาะประเด็นนี้อีกครั้ง โปรดรอติดตาม