การอ่านนิยายนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้ซึมซับผ่านทางตัวอักษรนั่นคือเรื่องของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของแต่ละสังคม ที่สะท้อนให้เห็นจากนิยายในทุกๆ เรื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมิติของคุณค่าที่ผู้อ่านจะได้รับจากการอ่านนิยายในทุกๆ เล่ม

วัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม ซึ่งจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปตามแต่ละสังคม ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นดั่งพื้นฐานระบบความคิดของคนในแต่ละพื้นที่ ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งนิยายเป็นเครื่องมือสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่จะสะท้อนของระบบความคิดของคนในพื้นที่นั้นๆ ออกมา ผ่านทางตัวอักษร เพื่อถ่ายทอดความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรมให้กับผู้อ่าน หรือผู้ที่ต้องการที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมนั้นๆ

เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมอะไรบ้างจากการอ่านนิยาย

วัฒนธรรมทางภาษา

นิยายสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางภาษาอย่างชัดเจน เนื่องจากเครื่องมือหลักที่ผู้เขียนใช้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ คือตัวอักษร เรียบเรียงผ่านวิธีการเขียน การร้อยเรียงคำเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการตามเนื้อเรื่อง เป็นการแสดงถึงความซับซ้อนของวัฒนธรรมทางการใช้ภาษา ดังนั้นผู้อ่านนิยายจะได้ซึมซับถึงการใช้ภาษาของผู้แต่งโดยตรง บริบทของการใช้ภาษาก็จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของภาษาที่ผู้แต่งใช้ในนิยายนั้นๆ หากว่าคุณเคยอ่านนิยายไทยในแต่ละภาค จะสังเกตได้ว่าวิธีการใช้คำศัพท์ก็จะมีความแตกต่างกันออกไปค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นวิธีการเรียกสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน หรือการใช้คำภาษาถิ่นตามพื้นเพของตัวละคร

วัฒนธรรมด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่

การอ่านนิยายทำให้เราได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผ่านทางการถ่ายทอดของผู้เขียน นิยายแต่ละเรื่องมักจะมีเวลา และสถานที่ ที่ใช้ในการดำเนินเรื่องผ่านทางตัวละครหลัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนต้องการเล่าสิ่งใด การอ่านนิยายจะพาเราเข้าไปสู่บรรยากาศของเวลา และสถานที่ต่างๆ โดยจะทำให้เราเห็นถึงสภาพบ้านเมือง สถาปัตยกรรม การแต่งกาย รวมถึงวิถีชีวิต ผ่านทางตัวละครและสิ่งแวดล้อม ตามทิศทางการดำเนินเรื่อง ยิ่งโดยเฉพาะนิยายที่มีการอิงประวัติศาสตร์จะทำให้เราได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละครได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากเราอ่านนิยายประวัติศาสตร์สงคราม เรามักจะเห็นการสื่อสารด้านวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่างยากลำบาก พูดถึงความอดอยากและความหวาดกลัว เป็นต้น


วัฒนธรรมด้านปรัชญาและความเชื่อ

ในนิยายแต่ละเรื่องมักจะมีการแฝงแนวคิด ปรัชญาต่างๆ สอดแทรกลงไปในเนื้อเรื่องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของแก่นหลักของเรื่อง หรือสอดแทรกตามบริบทย่อยๆ ระหว่างการดำเนินเรื่องก็ตาม โดยวัฒนธรรมด้านปรัชญาและความเชื่อนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของตัวละครทุกตัว ยิ่งหากเราชอบอ่านนิยายต่างประเทศจะสามารถเห็นถึงวัฒนธรรมด้านปรัชญาและความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในนิยายที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม โดยผู้อ่านจะพบเห็นได้ถึงความแตกต่างที่ชัดเจน อย่างในนิยายจีนที่มักจะแฝงความเชื่อลัทธิขงจื๊อ สอนให้รู้จักความกตัญญู หรือในนิยายทางตะวันตกมักจะมีความเชื่อทางศาสนาคริสต์แฝงมากับนิยายหลายๆ เรื่อง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตัวละครมีพฤติกรรมในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันตามไปด้วย