จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น และหลายคนรู้สึกว่าเริ่มใกล้ตัวเข้ามาทุกที จนวิตกกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าตัวเองสัมผัสใกล้ชิดกับบางคนที่เป็นแล้ว เรื่องนี้กรมควบคุมโรค มีข้อปฏิบัติ 10 ข้อ เพื่อจะได้ไม่แพร่ระบาดสู่คนอื่น

เริ่มจากนิยามก่อนว่าใครมีความเสี่ยง เรียกว่า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายไว้ในเอกสาร คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

ผู้สัมผัส ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ป่วยเข้าข่าย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้สัมผัสที่อาจเป็นแหล่งโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย และ 2.ผู้สัมผัสที่อาจรับเชื้อจากผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยนับแต่วันเริ่มป่วย ในกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย 1.ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย

...

2.ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน

สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงดังกล่าว

เมื่อสำรวจแล้วพบว่าตัวเองเข้าเกณฑ์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำดังนี้

1.ควรหยุดเรียน หยุดงาน และอยู่บ้านจนครบ 14 วันหลังสัมผัสแหล่งโรค หรือผู้ป่วย

2.ควรนอนแยกห้อง ไม่ออกนอกบ้าน ไม่ไปที่ชุมชนสาธารณะ

3.รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น

4.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ 

5.หากมีอาการไอให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม โดยปิดถึงคางแล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที

6.เมื่ออยู่กับผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อย ประมาณหนึ่งช่วงแขน

7.หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ

8.ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุด เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ

9.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 °C

10.เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย โดยวัดไข้และรายงานอาการต่อทีมสอบสวนโรคทุกวัน

ในกรณีที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ผ่านทางน้ำนม มีน้อยมาก แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร

ทั้งนี้หากพบว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422 ทันที.

...