ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายและไม่ใช่แค่ฝันร้าย เพราะมีการกระทำซ้ำ เลียนแบบ เกิดขึ้นตามมาเหมือนกับโดมิโน

ข้อมูลจาก Gun Violence Archive (GVA) รายงานว่า ในปี 2562 ประเทศสหรัฐอเมริกามีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้น 417 ครั้ง ในจำนวนนี้ 31 ครั้งเป็นการสังหารหมู่ โดยตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2557

ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นเพื่ออธิบายเหตุผลของตัวเลขที่สูงขึ้นคือ เรื่องของพฤติกรรมเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า copycat กลายเป็นเหมือนโรคระบาดไปทั่วทั้งในสหรัฐ-อเมริกาและยุโรป ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมโรคติดต่อที่เรียกว่า contagion แม้ว่าความรุนแรงหรือการกราดยิงจะไม่ใช่เชื้อโรค แต่ก็มีงานวิจัยที่รองรับและสนับสนุนว่า เมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

ที่สำคัญที่สุดและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย ก็คือ พฤติกรรมที่ถูกเลียนแบบนั้น โดยทั่วไปมักจะไม่ได้มาจากการสังเกตการณ์ในชีวิตจริงของผู้ก่อเหตุเอง แต่มักจะเป็นข้อมูลที่ได้รับผ่านรายงานข่าวของสื่อไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ

...

มีผลการศึกษาจากหลายที่ สรุปตรงกันว่า ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพใบหน้า ชื่อของฆาตกร รวมทั้งวิธีที่ฆาตกรใช้ ยิ่งละเอียดมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงตามมาได้มากขึ้น โดยผ่านกลไกของ contagion effect

ผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรรมระบุว่า ก่อนที่คนร้ายจะก่อเหตุรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เขามักจะได้เห็นสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นๆ มาก่อน ข่าวเหล่านั้นทำให้เขารู้สึกถึงความเชื่อมโยงบางอย่างที่คล้ายกับตน เกิดแรงบันดาลใจที่จะลงมือทำมันให้สำเร็จ เพราะเห็นคนต้นแบบและวิธีการอย่างละเอียดแล้วจากสื่อ

งานวิจัยด้านจิตวิทยาบอกว่า วิธีการรายงานข่าวของสื่อเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเลียนแบบโดยเฉพาะปริมาณการนำเสนอข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งภาพ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ รวมถึงรายละเอียด ของเหตุการณ์ ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการเลียนแบบ

เหตุการณ์แต่ละครั้งยิ่งเกิดความอื้อฉาวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแปลความได้ถึงการให้ความสำคัญของผู้ก่อเหตุมากขึ้นเท่านั้น การเผยแพร่ภาพผู้ก่อเหตุถือปืน จำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการรายงาน เป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จของการก่อเหตุ รวมไปถึงการรายงานลำดับเหตุการณ์ การปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เกิดบุคคลอื่นทำการเลียนแบบพฤติกรรม

...

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เคยเผยแพร่เทคนิคการลดอัตราการเลียนแบบทั่วไปซึ่งได้ผลมาแล้วกับอัตราการฆ่าตัวตายคือ ลดระดับความเข้มข้นของพาดหัวข่าว การลดรายละเอียดที่นำเสนอในข่าวหรือการรายงานข่าวซ้ำไปซ้ำมา ยุติการนำเสนอขั้นตอนการก่อเหตุ และควบคุมจำนวนภาพหรือวิดีโอที่เผยแพร่

ในสหรัฐอเมริกา FBI กรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิง ได้มีการเพิ่มนโยบายไม่เผยแพร่ชื่อ หรือ “Don’t Name Them” เพื่อลดการให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ และรวมไปถึงการปฏิเสธการเผยแพร่ข้อความหรือวิดีโอใดๆของผู้ก่อเหตุด้วย รวมถึงข้อเสนอแนะให้รายงานพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุในแง่ลบ เผยแพร่การกระทำของผู้ก่อเหตุในลักษณะที่เป็นเรื่องน่าอายหรือขี้ขลาด รวมทั้งให้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษ ซึ่งโดยความน่าอายทั้งหลายนั้นมักจะส่งผลแง่ลบต่อความพยายามเลียนแบบพฤติกรรมด้วย

...

FBI สรุปว่า การลดการให้ข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับสาเหตุของการก่อเหตุก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง เพื่อลดความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ก่อเหตุและผู้สังเกตการณ์ลง เช่นเดียวกับการรายงานข่าวของสื่อเองจะต้องลดจำนวนลงทั้งในการนำเสนอข่าวประเภทไลฟ์สด หรือการติดตามข้อมูลต่อเนื่อง รวมไปถึงการนำเสนอข่าวแต่เพียงข้อเท็จจริงโดยไม่เพิ่มสีสัน หรือสิ่งกระตุ้นความน่าสนใจอื่นๆลงในเหตุการณ์ที่นำเสนอ

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่จะช่วยลดความกระหายการเสพข้อมูลของบุคคลทั่วไปรวมไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคน ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นการป้องกันการเกิด copycat และ contagion effect ได้ดีที่สุด.