พระผงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ที่สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังสร้าง นักเลงพระรุ่นตำนาน รุ่นก่อน พ.ศ.2500 เล่าลือและเชื่อถือพระสมเด็จวัดไชโย...ที่เรียกกันตอนนั้นว่า สมเด็จเกศไชโยมาก่อน

ขอเพียงมีคุณสมบัติ มีฐานเรียวเล็ก 7 ชั้น มีสองหูห้อยระย้า เรียกกันว่า 7 ชั้นหูบายศรี พลตรีประจญ กิติประวัติ (ตรียัมปวาย) เขียนไว้ใน “พระเครื่องประยุกต์” งานเขียนเรื่องพระเครื่องเล่มแรก เมื่อปี พ.ศ.2495

ในหนังสือภาพพระเครื่อง ที่ประชุม กาญจนวัฒน์ ราวปี 2515 นอกจากมีพิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น ยังมีอีกพิมพ์ 7 ชั้นเหมือนกัน...“พี่ชุม” ไม่ได้บอกชื่อพิมพ์เอาไว้ แต่ต่อมาพิมพ์นี้ วงการเรียกกันว่าพิมพ์ 7 ชั้นแข้งหมอน

พิมพ์ 7 ชั้นแข้งหมอนนี่แหละ ที่คุณปรีชา เอียมธรรม “จ่าเปี๊ยก” ติดตามไปสืบค้นถึงเมืองอ่างทอง เอามาเขียนไว้ในนิตยสาร “อาณาจักรพระเครื่อง” ว่าเป็นพิมพ์ที่คนอ่างทองเชื่อถือว่าเป็นพิมพ์ที่แตกกรุออกจากองค์พระหลวงพ่อพระพุทธพิมพ์

เรื่องราวพระสมเด็จวัดไชโย...ที่แต่ละผู้รู้บอกเล่า...เกิดขึ้นระหว่างข่าวสับสน สมเด็จวัดไชโยเก๊หรือเปล่า...เพราะหลัง พ.ศ.2500 ราว 3-4 ปี มีพระสมเด็จวัดไชโยทะลักเข้ากรุงเทพฯแล้วแพร่หลายไปต่างจังหวัด

พระรุ่นนั้นที่แม่กลองบ้านผม...เจ๊กกัง ห่อใส่กระดาษหนังสือพิมพ์มาขายให้พระตามวัด พิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น ขาย 600-800 บาท ส่วนพระผงกรุวัดเงินคลองเตย...มาชุดเดียวกัน พิมพ์เล็บมือองค์ 3-5 บาท พิมพ์ซุ้มกอ 20 บาท

พระวัดไชโยชุดนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก แท้หรือเปล่า ถ้าแท้ทำไมจำนวนจึงมากมายนัก

ต่อมาไม่นาน ตลาดพระกรุงเทพฯก็เริ่มกำหนดสามแม่พิมพ์มาตรฐาน พิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น พิมพ์อกตัน 6 ชั้น พิมพ์หกตลอด6 ชั้น...ซื้อขายกันแพร่หลาย

...

ส่วนพิมพ์อื่น พิมพ์ 7 ชั้นแข้งหมอน พิมพ์ 7 ชั้นนักเลงโต ฯลฯ อาจเป็นพระหาดูพระแท้เปรียบเทียบยาก ทั้งยังถูกเรียกว่า “พิมพ์ตลก” นักเลงพระรุ่นใหม่แทบจะไม่สนใจกันเลย

ช่วงเวลานั้น สมเด็จวัดไชโย พิมพ์ตลกที่ว่าจำนวนพระปลอมแทบไม่มี...เห็นพิมพ์ เห็นเนื้อเก่า ส่องแว่นทีเดียวก็ซื้อได้ ราคาแค่หลักพัน

จนกระทั่งคนพื้นที่อ่างทอง ผมจำได้แต่ว่าเป็นเทศมนตรี กับคุณอ้า สุพรรณ รวบรวมพระพิมพ์วัดไชโย ได้ราวๆ 22 พิมพ์ พิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่...พิมพ์ตลกก็แปรไป กลายเป็นพิมพ์นิยม...แม้เป็นรองสามพิมพ์หลักอยู่บ้าง

ข้อสังเกตของผม พระสมเด็จวัดไชโย พิมพ์รองๆที่ว่าเป็นพระที่ถูกจับต้องใช้ แง่มุมกลมกลืน แม้จะมีรอยขัดที่เป็นข้อขัดข้องใจ “เซียนใหญ่” บางคนอยู่บ้าง แต่ทั้งเนื้อหา อายุ ความเก่า และศิลปะ รวมประวัติ

ก็เชื่อมโยงกับพระสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหมได้หนักแน่น

จุดเชื่อมโยงสำคัญในกรุวัดใหม่อมตรส ในคราวเปิดกรุปี 2500 มีสมเด็จวัดไชโยปะปนอยู่ด้วยเกือบสิบองค์ องค์หนึ่งพิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น มีคราบกรุบอกสภาพที่มา

องค์นี้ตั้งแต่มีภาพลงในหนังสือสมเด็จวัดระฆัง 100 ปี ก็ถูกอ้างเป็นหลักฐานการเป็นพระที่สมเด็จพุฒาจารย์โตสร้างเรื่อยๆมา ระดับความน่าเชื่อถือสูงลิ่ว

ในหนังสือพระเครื่องพระศรีสุนธรา ที่เช็ง สุพรรณ จัดพิมพ์เล่มล่า...บอกว่าเปลี่ยนมือครั้งสุดท้าย ราคาถึง 4.5 ล้านบาท

อ่านมาถึงตรงนี้ หันไปมองพระสมเด็จวัดไชโยพิมพ์ใหญ่ 7 ชั้นองค์ในคอลัมน์ เส้นสายลายพิมพ์ รวมตำหนิพิมพ์ ถูกต้องทุกตำแหน่งแห่งที่ เนื้อหาคราบฝ้ารารัก กระทั่งรอยขัดด้านหลัง ก็เป็นธรรมชาติ

ตรงตามค่านิยมของตลาด

นี่คือพระแท้ที่ดูเป็นองค์ครูได้ ดูๆ กันให้คุ้นตาเข้าไว้ พระปลอมวันนี้ฝีมือดีมาก ทำให้คนไม่เป็นพระจริงขยาด... โอกาสได้พระแท้จึงพอมี ถ้าตาดีและมีความมั่นใจพอ.


O พลายชุมพล O