เวลาไปท่องเที่ยวตามประเทศต่างๆ เรามักจะเห็นการอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของชาติ ไม่ว่าจะเป็น ซุ้ม, กำแพง, ประตูเมือง, ปราสาทราชวัง, วัดวาอาราม ตลอดจน ถึงอนุสาวรีย์

ถ้าพูดถึงสัญลักษณ์สะท้อนความภาคภูมิใจ และความสำเร็จของบรรพบุรุษก็จะต้องนึกถึง “อนุสาวรีย์” ลอยเด่นมาแต่ไกล เพราะจับต้องได้มากที่สุด เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าตั้งใจสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญๆของชาติบ้านเมือง

ในจดหมายเหตุเล่าเรื่องอนุสาวรีย์เมืองบางกอก บันทึกไว้ว่า “อนุสาวรีย์” ในวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไป หมายถึงสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณค่า คุณงามความดีหรือเป็นที่ระลึกถึงบุคคล และสัตว์ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญต่างๆของชาติบ้านเมือง มักสร้างเป็นรูปเหมือนบุคคล สัตว์ หรือรูปลักษณ์ที่สื่อถึงวีรกรรม และเหตุการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความคงทน มีขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ง่าย และตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

...

อย่างไรก็ดี การสร้างอนุสาวรีย์ของไทยตามนัยตะวันตก เพิ่งจะปรากฏครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการสร้าง “พระบรมรูปทรงม้า”ลานพระราชวังดุสิต ในปี 2450 โดยก่อนหน้านั้นการสร้างอนุสาวรีย์ในแบบของไทยมักปรากฏในรูปของสถูปเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียในลักษณะของศาสนสถาน มากกว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ตามมาตรฐานของโลกตะวันตก

“พระบรมรูปทรงม้า” หรือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดศักราชการสร้างอนุสาวรีย์ตามแบบสากลนิยม ตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย นับจากนั้นมาก็ได้มีการก่อสร้าง “อนุสาวรีย์แห่งชาติ” ตามมาอีกหลายแห่ง โดยไม่ได้มีแต่เฉพาะอนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เป็นคุณอย่างยิ่งใหญ่แก่ชาติไทย แต่ยังมีการจัดสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ไว้ในที่สาธารณะ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงวีรกรรม และคุณงามความดีที่ได้ประกอบกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง

ย้อนประวัติการสร้าง “พระบรมรูปทรงม้า” เริ่มก่อสร้างในปี 2450 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครบรอบ 42 ปี โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเป็นประธานการจัดงาน

ครั้งนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระราชดำริในที่ประชุมเสนาบดีว่า “...ควรถือเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงปกครองทำนุบำรุงประเทศ และประชาชนชาวสยาม ให้เจริญรุ่งเรือง และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นสุขสำราญมาช้านาน กว่าพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน ด้วยเป็นมงคลอันพึงประสบได้ด้วยยากยิ่งนัก ควรให้ผิดกับงานแต่ก่อนๆ…ข้อนี้เป็นหลักชักชวนชาวสยามทุกชาติทุกภาษาทั่วพระราชอาณาเขตให้บริจาคทรัพย์ตามกำลัง รวมเงินนั้นทูลเกล้าถวายเป็นของชาวสยามรายตัวทั่วหน้า พร้อมใจกันสนองพระเดชพระคุณ อย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ทำขวัญ” แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย…”

...

กระนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำชับไว้ว่า “...อย่าให้เป็นการกะเกณฑ์ อย่างไรแล้วแต่ใจสมัครให้เท่าใด แม้เพียงเป็นจำนวนสตางค์ก็ได้ ให้พยายามบอกทั้งเหตุและการที่ทำบุญนั้น ให้รู้ทั่วทุกตัวคนบรรดาอยู่ในพระราชอาณาเขต…”

ขณะมีการรวบรวมทรัพย์อยู่นั้น เป็นเวลาที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป คณะกรรมการจัดงานทราบข่าวว่า โปรดพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ถึงกับมีพระราชปรารภว่า ถ้ามีพระบรมรูปของพระองค์ทรงม้าแบบนี้ ประดิษฐานในสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ช่วงที่เชื่อมต่อกับถนนราชดำเนิน ก็จะสง่างามดี คณะกรรมการจัดงานจึงมีความเห็นสมควรสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวาย และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้าง ซึ่งได้โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดังความตอนหนึ่ง ในพระราชหัตถเลขาตอบว่า “…ซึ่งจะสร้างรูปขึ้นไว้สำหรับพระนครนั้น ฉันรู้สึกว่าเปนเกียรติยศ แลยิ่งกว่านั้น คือเปนเครื่องหมายความพอใจของคนทั้งปวงในตัวฉัน จึงยอมอนุญาตให้เธอจัดการตามความปรารถนาของเธอ…”

...

การปั้นหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น บริษัทซูซเซอ เฟรส ฟองเดอร์ส ดำเนินการเมื่อปี 2450 ซึ่งในขณะนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตกลงและทรงเลือกชนิดของโลหะ พร้อมประทับเป็นแบบให้นายช่างฝรั่งเศสควบคุมการหล่อ

ทั้งนี้ ได้มีพระราชดำรัสให้ช่างปั้นแก้ไขพระบรมรูปจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังความในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 35 ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ตอนหนึ่งว่า “…ในเรื่องปั้นรูปยังไม่เปนการเลย ทั้งรูปที่สำหรับจะขี่ม้า แลรูปที่สำหรับจะหล่อเล็กๆ เรื่องปั้นรูปนี้จะทำตามรูปถ่ายไม่ได้เปนอันขาด เพราะเงารูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ รูปเล็กที่ทำไว้แบนไปหมด รูปใหญ่แก้มตอบแลเหี่ยวเปนกลีบๆ ปากตุ่ยๆ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริง พอพ่อลงไปนั่ง ฉวยดินปับ ก็แตะหัวก่อน แก้หัวเสร็จแล้วจึงมาแก้หน้า ถมแก้มที่ลึกให้ตื้น ปะขมับที่ทำรัดไว้ให้นูนขึ้น ลดกลีบหน้าแก้คิ้ว ที่ประดักประเดิดมากอยู่ที่ปาก เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆว่าต้องไปนั่ง แต่พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่ามันดี เลยหายฉุน นั่งดูเสียเพลิน…”

...

หลังจากนั้น บริษัทฝรั่งเศสได้ดำเนินการหล่อตามลำดับ โดยขยายส่วนออกเป็นชิ้นเพื่อทำการหล่อด้วยโลหะ ทั้งส่วนองค์พระบรมรูปและส่วนฐาน รวมทั้งต้นเสาที่ล้อมรอบพระบรมรูป เมื่อการปั้นหล่อพระบรมรูปแล้วเสร็จ ได้มีการแยกชิ้นส่วนบรรจุลังไม้ขนาดใหญ่ นำส่งเข้ามายังกรุงเทพฯทางเรือ แล้วประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐานที่ลานพระราชวังดุสิต ในปี 2451

พระบรมรูปนั้นมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเท่าครึ่ง ฉลองพระองค์เครื่องยศจอมพลทหารบก ประทับบนหลังม้าพระที่นั่งตามจินตนาการของช่างปั้น พระหัตถ์ขวาทอดอยู่บนหลังม้า ทรงถือคทาจอมทัพช้างสามเศียร มีพระแสงกระบี่ห้อยอยู่ทางด้านซ้าย และพระหัตถ์ซ้ายทรงรั้งบังเหียน ส่วนม้าพระที่นั่งนั้นเป็นม้าเพศผู้สายพันธุ์นอก มีโครงสร้างสูงโปร่ง ขาทั้งสี่ยืนอยู่ในอาการสงบนิ่ง ขาหน้าข้างขวาวางเหลื่อมขาหน้าข้างซ้ายเล็กน้อย ส่วนขาหลังข้างซ้ายยืนล้ำขาหลังข้างขวา หัวยกขึ้นมองตรงไปข้างหน้า ขนแผงคอยาวปรกลงที่คอข้างขวาของม้าพระที่นั่ง ส่วนหางยาวไม่ยก ไม่มีการแสดงความเคลื่อนไหวของหาง ทั้งส่วนหางและแผงคอนั้น ประติมากรปั้นเส้นขนได้พลิ้วสวยราวกับมีชีวิตจริง ขณะที่หูม้าตั้งชันแสดงถึงความตื่นตัวตามหลักเกณฑ์ของอาชาที่ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องทรงต่างๆของม้าพระที่นั่งนี้ ทั้งบังเหียนและอานม้า ล้วนมีลักษณะของม้าทหารเกียรติยศในแบบยุโรปดั้งเดิม

เจาะลึกถึงรายละเอียดของ “พระบรมรูปทรงม้า” ได้ความว่า หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ มีแท่นโลหะรองรับ กว้าง 3.50 เมตร ยาว 6.50 เมตร ตรงฐานโลหะด้านขวาจารึกอักษรฝรั่งเศส เป็นชื่อช่างปั้นและช่างหล่อชาวฝรั่งเศส นามว่า C. Masson Scuilp 1908 และ G. Paupg Statuaire ขณะที่ด้านซ้ายจารึกชื่อบริษัทและเมืองที่ทำการหล่อพระบรมรูปว่า SUSSE FRERES FONDEURS. PARIS แม้แต่แท่นประดิษฐานพระบรมรูปก็ตั้งใจรังสรรค์อย่างวิจิตร เป็นแท่นหินอ่อน ความสูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร ส่วนบนของแท่นประดับขอบโลหะเป็นลวดลายจักรี คือ ตราจักรกับตรีศูล แทรกระหว่างลายใบไม้ ประกอบเครือเถาอย่างฝรั่ง มีรูปคชสีห์และราชสีห์ หันหน้าออกปกป้องคุ้มครองพระบรมราชวงศ์จักรี ด้านหน้าแท่นหินอ่อน มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทย ติดประดับแสดงพระราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพร ตอนล่างของแท่นเป็นฐานบัวคว่ำอย่างฝรั่ง มีลายใบเทศประกอบสวยงาม ห่างจากฐานของแท่นหินอ่อน กั้นเสาโลหะทรงสี่เหลี่ยม หัวเสาลายใบเทศ ด้านหน้าประดับตราแผ่นดิน จำนวน 10 ต้น มีโซ่เหล็กขนาดใหญ่ โยงระหว่างเสา ซึ่งล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร แต่ละช่วงเสามีโซ่ชนิดกลม 23 ห่วง และชนิดกลมรี 24 ห่วง

เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถม้าพระที่นั่ง ทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมทรงเปิดคลุมพระบรมรูปทรงม้าด้วยพระองค์เอง มีการจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ โดยตกแต่งสถานที่สวยงาม ประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟ และมีการแห่กระบวนเฉลิมฉลองต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชกรณียกิจของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พร้อมจัดงานมหรสพและจุดดอกไม้ไฟนานาชนิด เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ราษฎร

การสร้าง “พระบรมรูปทรงม้า” ถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง เนื่องด้วยอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญส่วนใหญ่ มักสร้างภายหลังจากบุคคลนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ยกเว้นพระบรมรูปทรงม้าของไทยเท่านั้น ที่พสกนิกรพร้อมใจกันสร้างถวาย ขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ยังมีพระชนม์ชีพ นับเป็นแบบอย่างของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับประชาราษฎร.

อาคีรา