“ลดอุบัติเหตุ เป็นเรื่องของทุกคน” “ฉลองปีใหม่ ใครๆ ก็ไม่ดื่ม” “เมาไม่ขับ” “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” “ง่วงไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย” “ลดเร็วลดเสี่ยง” ฯลฯ และอีกหลากหลายแคมเปญรณรงค์ หวังชวนคนไทยกลับบ้านปลอดภัย ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด

เข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนเริ่มออกเดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนา บ้างก็วางแผนเดินทางท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด ทำให้ช่วงนี้มีปริมาณรถมากเป็นพิเศษ อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. มีข้อแนะนำลดความเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถมาฝากกัน

“นพ.แท้จริง ศิริพานิช” เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้ข้อมูลว่า “ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตถึง 22,000 คน ต่อปี บาดเจ็บกว่า 100,000 คน พิการปีละกว่า 50,000 คน และสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี”

จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนของสังคมไทย เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ ทั้งที่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนนมากมายมหาศาล ส่งผลให้ประเทศไทยสถิติสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ทวีปเอเชีย

หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ เพิ่มโทษคดีเมาแล้วขับ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีช่องว่างให้รอลงอาญา แต่หากโทษไม่สามารถรอลงอาญาได้ จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากกว่าเดิม

ขณะที่สถานบันเทิง ร้านเหล้า ผับ บาร์ ต้องมีบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าก่อนออกจากร้าน อย่างน้อยถ้าปริมาณแอลกอฮอล์เกินกำหนดก็ให้นั่งพักก่อน ไม่ปล่อยให้ออกไปขับขี่ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมาตรการนี้ในต่างประเทศกฎหมายกำหนดให้ร้านเหล้าต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

“การเมาแล้วขับรถมีความผิดตามกฎหมายมีโทษทั้งจำทั้งปรับ เราไม่สามารถไปห้ามปรามทุกคนได้ แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ถ้าคุณดื่มสุรา จงอย่าไปขับรถเลย” นพ.แท้จริง กล่าว

ด้าน “นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะใช้ช่วงเวลาปีใหม่นี้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเฉลิมฉลอง บางคนโชคดีได้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่กลับไม่ถึงบ้าน เพราะความประมาท ขาดสติ ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว จนทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงอยากจะขอให้ทุกคนมาร่วมลดความเสี่ยง ดังนี้

1. ดื่มไม่ขับ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับเบียร์ 1-2 กระป๋อง ทำให้ตัดสินใจช้าลง 1 วินาที สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยการมองลดลง หากถูกจับมีอัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล

2. ลดเร็วลดเสี่ยง รถยนต์ที่ขับด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 60%

3. สวมหมวกนิรภัย ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ 39% ลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 58%

4. คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงได้ถึง 60%

5. เตรียมพร้อมร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากต้องขับรถทางไกล อาจทำให้เกิดการวูบหลับในขณะขับรถได้ ซึ่งควรสังเกตอาการของสัญญาณเตือนหลับใน ได้แก่ หาวบ่อยและต่อเนื่อง กะพริบตาถี่ ใจลอยไม่มีสมาธิ ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมา

6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จิบน้ำบ่อยๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย

7. ควรมีเบอร์ฉุกเฉินเพื่อใช้ติดต่อเมื่อเกิดเหตุ คือ 1669 การแพทย์ฉุกเฉิน 191 แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้าย(ตำรวจ) 1115 ตำรวจท่องเที่ยว 1146 กรมทางหลวง 1197 ข้อมูลการจราจร 1543 อุบัติเหตุบนทางด่วน เป็นต้น

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นสารเสพติดที่ให้โทษต่อสุขภาพของตนเอง และมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เราจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ผลของแอลกอฮอล์ต่อการขับขี่ ดังนี้

1. ทำให้กล้าเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เกิดความประมาทในการขับขี่มากขึ้นเช่นกัน

2. ทำให้รวบรวมสมาธิในการขับขี่ยวดยานพาหนะได้ยากขึ้น

3. มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบกายช้าลง

4. ประสิทธิภาพในการมองและการได้ยินแย่ลง

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุ สสส. สคล. สคอ. และภาคีเครือข่าย รณรงค์ดื่มไม่ขับและขับรถที่ความเร็วไม่เกินมาตรฐาน เพื่อให้การกลับบ้านอย่างปลอดภัย คือของขวัญที่ดีที่สุดของทุกคน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th