เมื่อปี 2550 เกิดอุบัติเหตุสายการบินวันทูโกตกที่ภูเก็ต ยังผลให้มีผู้โดยสารพร้อมลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
คำถามที่ตามมาภายหลังคือ “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก” มีสมมติฐานมากมาย อาทิ สภาพอากาศไม่ดี ความบกพร่องทางกายภาพของเครื่องบิน การนำร่องมีปัญหา หรือแม้แต่ “สมรรถภาพของนักบิน!” ทำให้องค์กรที่ควบคุมความปลอดภัยทางการบินนานาชาติต้องยื่นมือเข้ามาสอบสวน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อันจะนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า “อุบัติเหตุครั้งนี้สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?”
นอกจากนี้ศาลฝรั่งเศสยังยื่นมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการระบุตัวผู้ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ ที่แม้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยแต่เพราะมีผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของการรับคำฟ้องจากญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคำตอบออกมาว่า ... “อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หนำซ้ำยังเป็นอุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น!!”
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาอาศัยข้อเท็จจริงจากผลสอบสวนว่า “เครื่องบินตกเพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจนำเครื่องลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย” แต่ทว่าความผิดพลาดต่อการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้มีต้นเหตุที่แท้จริงคือ “นักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนดไว้ต่อสัปดาห์ ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า จิตใจมีความเครียดสะสม ซึ่งเป็นผลจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ”
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจ จึงทำได้ไม่ดีพอ...และสิ่งที่น่าตระหนกอันเป็นเหตุให้ศาลเพิ่มโทษขึ้นไปอีกคือ ผู้บริหารของสายการบินกลับปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า...นักบินไม่ได้ทำงานหนักหรือเกินกำหนด! ด้วยความพยายามแก้ไขเอกสารบันทึกชั่วโมงการปฏิบัติงานเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงนี้เอาไว้ใต้พรม...
...
แต่ในที่สุดเมื่อความจริงถูกเปิดเผยว่า “มีการละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร” ผู้บริหารสายการบินจึงถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก!!
ย้อนกลับมาใกล้ตัวเรา แต่เปลี่ยนจากงานสายการบิน เป็นงานด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย พบว่า พล็อตเรื่องของสองเหตุการณ์นี้คล้ายกันอย่างมาก แต่มีผลสรุปต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขไทยทั้งแพทย์และพยาบาลนั้น ถือว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก
ทั้งเนื่องจากนโยบายทางการเมืองและการขาดความเอาใจใส่ในการดูแลด้านสุขภาพของตนเอง ผลทำให้แม้อัตราการเกิดน้อยลง แต่กลับมีปริมาณครั้งของการเจ็บป่วยที่ต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่านโยบายป้องกันโรคของรัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ดูได้จาก ตัวเลขการเข้ารับการรักษาเฉพาะแบบผู้ป่วยนอกปีละมากกว่า 300 ล้านครั้งและเพิ่มขึ้นทุกๆปี (ทั้งๆที่ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 60 ล้านคนเศษ แสดงว่าแต่ละปีเฉลี่ยแล้วคน 1 คนเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกปีละ 4-5 ครั้ง หรือไป รพ.เดือนเว้นเดือนนั่นเอง)
ในขณะที่บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลมีการเพิ่มในอัตราที่จำกัดกว่ามาก จึงไม่น่าแปลกต่อข่าวความไม่พอใจในการรับการรักษาพยาบาลทั้งเรื่อง รอนานและคุณภาพการรักษา และตามมาด้วยการกระทบกระทั่งและความรุนแรงที่แพทย์พยาบาลถูกกระทำ จนนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องและความสัมพันธ์ที่แย่ลง
ผลการสำรวจจำนวนชั่วโมงการทำงานบุคลากรสาธารณสุขในภาครัฐที่ทำขึ้นล่าสุดเมื่อต้นปี 2562 พบว่า แพทย์พยาบาล 60-70% ต้องทำงานต่อเนื่องกันเกิน 24 ชม.โดยไม่ได้พักผ่อน และหากเทียบเคียงชั่วโมงการทำงานมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่หลายประเทศตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ จะพบว่า แพทย์พยาบาลไทยส่วนใหญ่ล้วนต้องทำงานเกินชั่วโมงทำงานมาตรฐานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2-3 เท่า
หรือพูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ทุกวันนี้ในโรงพยาบาลรัฐใช้เงินจ้างแพทย์หรือพยาบาล 1 คนต่อเดือน แต่ “บังคับ” ให้ทำงานเสมือน 2–3 แรง!! ...
แล้วแบบนี้จะไปพูดถึง “ความปลอดภัยของผู้ป่วย” ได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติงานยังไม่มีความปลอด ภัยในตัวเองเลย...ผลการสำรวจเรื่องมาตรวัดความสุข มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศนับหมื่นคนตอบกลับมาว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ทำงานแบบไม่มีความสุข
...
ผลการสำรวจเรื่องความผิดพลาดในการรักษา พบว่าอย่างน้อย 60-70% ยอมรับว่ามีหรือเคยพบเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่...ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ในทุกโรงพยาบาลล้วนมี “อุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น” อยู่ทุกวัน และที่สำคัญคือ “อุบัติเหตุนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่กลับถูกละเลยไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขที่สาเหตุ”...
หรือเพราะทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรสาธารณสุขขึ้นมา ก็จะตามมาด้วยคำถามว่า “แล้วจะหาใครมาทำงาน?” แต่ไม่มีใครถามว่า “แล้วความปลอดภัยของผู้ป่วยนั้น ใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบ”
อุบัติเหตุสายการบินวันทูโก จบลงด้วยคำพิพากษาที่เสมือนเป็นคำสั่งเตือนมายังผู้บริหารสายการบินทั่วโลก แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย ยังจบลงด้วยพล็อตนิยายอมตะอันไม่เคยเปลี่ยนแปลง
คือการตั้งกรรมการสอบผู้ปฏิบัติงาน การเล่นข่าวผ่านสื่อ และปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยไม่เคยมีการแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่อย่างใด...
เมื่อไรเราจะมีอัศวินขี่ม้าขาวหรือรัฐบุรุษ ที่ทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อคะแนนเสียง แต่เพื่อป้องกันอนาคตที่ดีกว่าของระบบสาธารณสุขไทย.
ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (กรรมการแพทยสภา)