มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแสดง โขนรามเกียรติ์ ชุด “ราพณ์พ่ายบารมี พระจักรีครองเมือง” ของคณะโขนเยาวชนจากศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ เมื่อเร็วๆ นี้

ในการแสดงโขนชุดนี้ จับความตอน สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างฝ่ายมนุษย์ ได้แก่ พระราม พระลักษมณ์ กองทัพวานร และกองทัพอสูร ได้แก่ ทศกัณฐ์ และบรรดาไพร่พลอสูร สงครามครั้งนี้ฝ่ายพระรามได้รับชัยชนะ หลังสงครามยุติลงพระรามจึงเดิน ทางกลับนครอโยธยา บรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุง อโยธยา จึงมีการแสดงคำนึงถึงความยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งขบวนทัพ วานร และทัพอสูร ที่ออกแสดงพร้อมกัน การเคลื่อนขบวนของกองทัพพระรามในการเสด็จฯนิวัตกรุงอโยธยา อันประกอบด้วย ขบวนเครื่องสูงแสดงถึงพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ทั้งราชวัติฉัตรธง ตามรูปแบบโขนไทยดั้งเดิม ซึ่งทางศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ได้นำบทบางตอนของ “ครูมืด”-นายประสาท ทองอร่าม ที่ได้ปรับปรุงจากชุดระบำอู่ทอง ของครูมนตรี ตราโมท อันมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการบรมราชาภิเษก เข้ามาร่วมด้วยในตอนท้าย เพื่อให้การแสดงโขนชุดนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

...

โอกาสนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา การแสดงโขนรามเกียรติ์ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงโขนครั้งยิ่งใหญ่ในหัวใจของบรรดาเยาวชนคนโขน คณะครู และคณะผู้ทำงานของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ที่ได้มีโอกาสจัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด “ราพณ์พ่ายบารมี พระจักรีครองเมือง” หน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การที่ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงโขนสถาบันคึกฤทธิ์ในครั้งนี้ถือเป็นมิ่งขวัญแก่การที่มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯจะดำเนินกิจกรรมที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งหากย้อนกลับไปทางสถาบันเริ่มโครงการฝึกเยาวชนโขนไทยมา 9 ปี โดยเริ่มรับสมัครเยาวชนจากชุมชนโดยรอบที่ตั้งของสถาบันคึกฤทธิ์และเยาวชนจากโรงเรียนใกล้เคียง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2553 ตอนนั้นมีเยาวชนเข้าเรียนและฝึกหัด 70 คน ต่อมามีการก่อตั้งศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ขึ้นในปี 2555 จนมาถึงวันนี้ มีเยาวชนผู้สนใจเข้าเรียนศิลปะไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 630 คน นับได้ว่าสถาบันคึกฤทธิ์เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยภายนอกวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนจากหน่วย-งานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรจะเก็บรักษาศิลปะความเป็นไทยไว้ในตัวเยาวชน ให้พวกเขาเป็นกำลังหลักทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะโขนเยาวชน จากศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะโขนเยาวชน จากศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์.