ในยุคปัจจุบัน เราเสพติดกับรสหวาน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องออกมารณรงค์ให้ประชาชนลดหวานเพื่อลดโรคภัยที่สืบเนื่องจากการบริโภคน้ำตาลจนเกินพอดี ทำให้น่าคิดว่าในอดีตนั้นบรรพบุรุษของเราได้ลิ้มรสความหวานจากน้ำตาลกันตั้งแต่เมื่อไหร่
ในภาษาไทยคำว่าน้ำตาลนั้นคงมีที่มาจากต้นตาลโตนดที่ได้จากการปาดงวงตาล ซึ่งเมื่อเคี่ยวให้งวดจนข้นเหนียวแล้วก็กลายเป็นน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลแว่น ส่วนน้ำตาลทรายนั้นทุกท่านย่อมทราบดีว่าทำมาจากอ้อย ว่าแต่อ้อยล่ะ มีต้นกำเนิดมาจากไหน? คำถามนี้ชักยาก เชื่อว่าน้อยคนจะตอบได้ คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จึงสรรหามาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ
จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่าอ้อยในปัจจุบันนั้นเป็นพันธุ์ผสมมาหลายต่อหลายรุ่นเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ส่วนในยุคแรกเริ่มนั้นแบ่งอ้อยออกได้ 4 กลุ่ม คือ
1.อ้อยปลูกดั้งเดิม (S.officinarum L.) เป็นอ้อยที่เกิดแถบเกาะนิวกินี มีลำต้นใหญ่ ใบยาวและกว้าง มีน้ำตาลมาก เปลือกและเนื้อนิ่ม มีสีสวย ซึ่งเรารู้จักกันในนามของ “อ้อยเคี้ยว” แต่เดิมชาวเกาะนิวกินีปลูกไว้ใช้รับประทานสด อ้อยชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลกในสมัยเริ่มแรกเป็นอย่างมาก อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันก็สืบเชื้อสายมาจากอ้อยชนิดนี้
2.อ้อยป่าแถบร้อน (S. spontaneum L.) ขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบร้อนและชุ่มชื้น มีอยู่หลายร้อยชนิดแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด มีอายุยืน ขึ้นอยู่เป็นกอ มีลำต้นใต้ดิน ลำต้นผอมและแข็ง ไส้กลวง มีความหวานน้อย ในประเทศไทยเรียกว่า แขมพงหรืออ้อยป่า
...
3.อ้อยอินเดีย (S. barberi Jesw.) มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นอ้อยที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติระหว่างอ้อยปลูกดั้งเดิมกับอ้อยป่าแถบร้อน ลักษณะเด่นคือมีลำต้นขนาดเล็ก ใบเล็ก ข้อโป่ง มีความหวานสูง เปลือกและเนื้อนิ่ม อ้อยขาไก่ในประเทศเราอาจเป็นอ้อยพวกนี้
4. อ้อยป่านิวกินี (S. robustum Brand. et Jesw.ex Grassl.) มีถิ่นกำเนิดแถบเกาะนิวกินี เปลือกแข็ง ไส้ฟ่าม มีลำต้นใหญ่ แข็งแรง อาจสูงถึง 10 เมตร มีความหวานต่ำ ชาวเกาะใช้ปลูกทำรั้ว อ้อยชนิดนี้พบว่ามีในประเทศไทย นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของอ้อยปลูกดั้งเดิม
อ้อยแพร่หลายจากเกาะนิวกินีไปยังหมู่เกาะใกล้เคียงมานานนับหมื่นปี และแพร่กระจายออกไปพร้อมกับการเดินเรือของหลายชนชาติในหลายยุคสมัย โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อ 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเมื่ออ้อยไปถึงอินเดียก็เกิดการแพร่หลายแบบก้าวกระโดด เนื่องจากแต่เดิมมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากอ้อยในรูปของการเคี้ยวกิน หรืออย่างมากก็คั้นเป็นน้ำอ้อย ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่สะดวกกับการเก็บรักษาและขนส่งไปยังที่ไกลๆ
จนกระทั่งในช่วงราชวงศ์คุปตะ เมื่อประมาณ ค.ศ.350 ชาวอินเดียค้นพบวิธีทำให้น้ำอ้อยตกผลึกเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลอ้อยกลายเป็นสินค้าสำคัญ อ้อยจากอินเดียถูกนำเข้าไปในจีน และไปยังตะวันออกกลางในเวลาต่อมา ซึ่งในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศอิหร่านได้มีการพัฒนาวิธีการทำน้ำตาลทรายให้คุณภาพดียิ่งขึ้น ส่วนชาวอียิปต์ก็พัฒนาต่อจนทำให้น้ำตาลทรายแบบดั้งเดิมที่มีสีคล้ำและมีรสขมเจือปน กลายเป็นน้ำตาลทรายขาวด้วยการกรองและแยกกากน้ำตาลออกจากน้ำตาลซ้ำถึง 2 รอบ
สำหรับชาวยุโรปเริ่มรู้จักอ้อยในยุคที่ อเล็กซานเดอร์มหาราช นำทัพบุกมาถึงอินเดีย พวกเขาได้พบกับ “The reed that gives honey without bees.” หรือ “ต้นอ้อที่ให้น้ำผึ้งโดยปราศจากผึ้ง” ซึ่งก็คือต้นอ้อยนั่นเอง หลังจากนั้นอีกนานกว่าพันปี เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการออกสำรวจทางทะเลเพื่อหาดินแดนใหม่โดยชาวยุโรป พวกเขาก็นำอ้อยไปปลูกตามดินแดนเกาะแก่งต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการค้นพบทวีปอเมริกาซึ่งเหมาะกับการปลูกอ้อย ก็มีการแข่งขันกันขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของชาติมหาอำนาจทางทะเลทั้งหลาย เนื่องจากน้ำตาลในยุคนั้นราคาสูงมากถึงระดับที่เรียกว่าทองคำสีขาว (white gold) จนทำให้เกิดการออกล่าชาวแอฟริกันใส่เรือมาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงานปลูกอ้อย
...
ในช่วง ค.ศ.1501-1867 มีชาวแอฟริกันราว 12,570,000 คน ถูกจับไปเป็นแรงงานทาสตามไร่อ้อยในทวีปอเมริกา ซึ่งระหว่างทางจะมีทาสตายไปเพราะความทุกข์ทรมานบนเรือค้าทาสประมาณ 25% หมายความว่ามีคนตายไประหว่างทางนับล้านคนที่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในตัวเลขข้างต้น และทาสที่ถูกนำไปใช้แรงงานอย่างโหดเหี้ยมก็ต้องล้มตายไปเพราะความเป็นอยู่อันแสนทารุณอีกหลายล้านคน กว่าจะถึงยุคที่มีการต่อต้านไม่ซื้อน้ำตาลจากประเทศที่ใช้แรงงานทาส ทำให้การทารุณกรรมต่อทาสทุเลาลงบ้าง
เราพักเรื่องโหดร้ายเอาไว้แค่นี้ดีกว่า แล้วมาดูความสำคัญของอ้อยทางด้านวัฒนธรรมประเพณีกันบ้าง แฟนานุแฟนย่อมคุ้นกันดีอยู่แล้วกับขบวนขันหมากงานแต่งที่ต้องมีต้นกล้วยต้นอ้อย ซึ่งบางท่านบอกว่าต้นอ้อยหมายถึงความหวาน ส่วนต้นกล้วยหรือหน่อกล้วยหมายถึงความเจริญงอกงาม เมื่อเสร็จพิธีเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องทำการปลูกกล้วยและอ้อยร่วมกัน หากต้นกล้วยต้นอ้อยงอกงาม ก็เชื่อกันว่าความรักของคู่บ่าวสาวจะมีอนาคตที่ดีสืบไป
...
ในพิธียกเสาเอกขึ้นบ้านใหม่ก็นิยมใช้หน่อกล้วยหน่ออ้อยมามัดติดกับเสาเอกที่จะปักเป็นต้นแรกของการปลูกบ้าน ซึ่งหลังพิธีก็นิยมนำไปปลูก ซึ่งน่าจะเป็นกุศโลบายให้ทุกบ้านมีต้นกล้วยและอ้อยไว้ใช้ประโยชน์นั่นเอง นอกจากนี้ ในพิธีไหว้พระจันทร์ของชาวจีนก็ต้องนำอ้อยคู่มาผูกเป็นซุ้มสำหรับแขวนโคมไฟในการทำพิธีด้วยเช่นกัน
ย้อนกลับมาเรื่องความรัก สำหรับศาสนาฮินดูนั้น มีเทพสำคัญองค์หนึ่งที่มีอาวุธทำจากต้นอ้อย เทพองค์นั้นก็คือกามเทพนั่นเอง กามเทพเป็นเทพหนุ่มรูปงาม มีอาวุธเป็นคันธนูที่ทำจากต้นอ้อย สายธนูนั้นเป็นผึ้งเกาะเรียงต่อกัน มีลูกศรเป็นดอกไม้หอม 5 ชนิด นี่กระมังที่มักพูดกันว่าความรักมีแต่ความหอมหวาน
บางความเชื่อของชาวภารตะเล่าถึงกำเนิดของอ้อยไว้ว่า ฤาษีวิศวามิตร เป็นผู้สร้างขึ้น ตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์กล่าวว่า ท้าวตรีศังกุ เป็นกษัตริย์ที่มีความปรารถนาอันแรงกล้า อยากจะขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แต่ว่าถูกหมู่เทวดากีดกัน ท้าวตรีศังกุจึงไปอ้อนวอนพระฤาษีวิศวามิตร ซึ่งท่านก็ได้สร้างสวรรค์ชั่วคราวขึ้นให้ในเมืองมนุษย์ ต่อมาเหล่าเทพเกรงอำนาจของพระวิศวามิตรฤาษี จึงยอมให้ท้าวตรีศังกุขึ้นสวรรค์ได้ทั้งเป็น สวรรค์แดนมนุษย์ที่สร้างไว้ก็ไม่ได้ใช้งาน จึงค่อยๆเสื่อมสลายไป แต่ยังมีอ้อยซึ่งเป็นอาหารทิพย์หลงเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้ ส่วนตำนานกำเนิดอ้อยทางชวานั้นเล่าว่า พระอิศวร ลงมาปราบหมูป่าที่ทำลายข้าวด้วยอาวุธที่ทำจากไม้รวกเหลาปลายแหลม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นกำเนิดของพันธุ์อ้อยในดินแดนชวา
...
สำหรับในไทยเรานั้น วรรณกรรมเก่าแก่ในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งอาณาจักรสุโขทัย ที่มีการกล่าวถึงอ้อยไว้หลายต่อหลายแห่งก็คือ “ไตรภูมิพระร่วง” ดังเช่นในบทที่กล่าวถึงนรกบ่าวหรือนรกขนาดเล็ก 16 ขุม ที่รายล้อมอยู่รอบนรกใหญ่ทั้ง 8 ขุม โดยกล่าวถึงอ้อยอยู่ในการเปรียบเปรยนรกบ่าวขุมที่ 13 ความว่า
...นรกบ่าวอันดับนั้นเป็นคำรบ 13 ชื่อว่าสังฆาฏนรกผู้ชายแรงทำชู้ด้วยเมียท่าน ผู้หญิงทำชู้จากผัวตน ครั้นว่าตายไปเกิดในนรกนั้นๆ มีผู้หญิงก็หลายมีผู้ชายก็มาก ฝูงยมบาลเอาหอกแทงตนเขาบาดขาดวิ่นนักหนา มีเลือดและน้ำหนองย้อยนักหนา ดุจดังวัวอันท่านเอาหอกแทงเป็นหลายแง แลมีเลือดอันย้อยเต็มตัวทุกแห่ง แลคนนรกนั้นจมอยู่ในแผ่นเหล็กแดงจมลงครึ่งตน เขาทุกคนเทียรย่อมเอามือพาดเหนือหัวเขาร้องไห้อยู่นักนา ตนเขาฝังอยู่ในนั้นดังคนแสร้งฝังไว้แล ยังมีเขาเหล็กแดงอัน 1 ลุกเป็นเปลวไฟแลกลิ้งเข้ามาแลมีเสียงอันดัง เสียงฟ้าแลกลิ้งมาทั้งสองข้างหนีบตนเขาดังท่านหนีบอ้อยดังนั้นเป็นหลายคาบแลฯ...
จากความข้อนี้แสดงว่าในสมัยสุโขทัย รู้จักการหนีบหรือหีบคั้นเอาน้ำอ้อยออกมาแล้ว และยังมีอีกหลายแห่งในไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงอ้อยขนาดเท่าลำต้นหมาก ตัวอย่างเช่นตอนที่กล่าวถึง พระยาศรีธรรมาโศกราช ซึ่งจะขอยกแบบถอดความเป็นภาษาปัจจุบันมาเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย
...อยู่มาวันหนึ่ง ในเมืองนั้นยังมีหมู่เทวดานำเอาอ้อยลำใหญ่เท่าลำต้นหมากพร้อมด้วยผลไม้มากมายจากป่าหิมพานต์มาถวาย อ้อยเหล่านั้นมีรสหวานอร่อยยิ่งนัก พระองค์โปรดเกล้าฯให้หีบอ้อยเหล่านั้นแล้วทรงอังคาสเลี้ยงดูพระสงฆ์ 60,000 รูป พร้อมด้วยภัตตาหารในพระราชมนเทียร...
...เช้าวันนั้น พระนางอสันธิมิตตาราชเทวีทรงลุกจากที่บรรทม ทรงชำระพระองค์เสร็จแล้ว ทรงจัดเตรียมข้าวยาคูและอาหารนานาชนิด พร้อมด้วยหมากพลูอังคาสเลี้ยงดูพระสงฆ์ 60,000 รูป พระนางทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก แล้วทรงกราบไหว้อำลาพระสงฆ์ เสด็จเข้าสู่พระราชมนเทียร พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ประทับนั่งบนแท่นที่ประทับ ทอดพระเนตรเห็นลำอ้อยที่เหล่าเทวดานำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสวามีนั้น จึงทรงปอกอ้อยท่อนหนึ่ง แล้วเสวยท่ามกลางนางพระกำนัลทั้งหลาย...
การกล่าวถึงอ้อยว่ามีขนาดใหญ่โตเนื้อนิ่มเคี้ยวง่าย รสหวานอร่อย มีให้กินมากมาย น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนในยุคนั้นให้ความสำคัญกับอ้อย มาก จึงถูกนำมากล่าวถึงในลักษณะที่ต้องการให้ผู้อ่านจินตนาการถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งของสวรรค์ชั้นฟ้า ป่าหิมพานต์ หรือความเป็นอยู่ของผู้มีบุญบารมี เพื่อโน้มน้าวให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารในลำดับต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
เห็นไหมครับว่า อ้อยนี่เป็นสิ่งสำคัญอยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานในระดับตำนานเลยเชียวล่ะครับ.
โดย :ปุณณ์
ทีมงานนิตยสาร ต่าย'ตูน