ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง นโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ประชุมวิชาการประจำปี ของกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 10 กันยายน 2562
“นโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชามาใช้ในประเทศไทย คือ...บทพิสูจน์ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย”
คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ ไม่ได้เป็นการเฉพาะเจาะจงแต่เพียงผู้บริหารประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ หรือนักวิชาการเท่านั้น ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของประเทศ แต่หมายความว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ระบบดำเนินไปข้างหน้าด้วยกันได้
“นโยบายสาธารณะเป็นการสร้างภาพรวมระบบ เปิดพื้นที่ชวนคิด ระบุจุดร่วม ประสานจุดต่าง เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ”
นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ (Health Public Policy) หมายความถึงแนวทางในการปฏิบัติงานของรัฐบาลหรือโครงการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นและมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชนในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและทางกายภาพ ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้ ซึ่งนโยบายสาธารณะทางสุขภาพที่ดีจะต้องสอดคล้องกับค่านิยมและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคทั่วหน้า
และต้องไม่ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ยากจน และมีคุณภาพชีวิตแย่ลง
...
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการอนุญาตให้นำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากตั้งแต่ประเทศไทยประกาศให้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลให้ใช้บังคับ พืชกัญชาก็ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ ย้อนกลับมามองสภาพบ้านเมืองของสังคมไทยในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2522 ที่ประชาชนสามารถปลูกกัญชา ตามบ้านเรือนเอาไว้เพื่อใช้ประกอบอาหารหรือใช้รักษาโรคได้โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด กัญชาจึงถือเป็น ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณกาล
แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากเดิมที่ใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 “ห้ามมิให้ผู้ใด ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นรายๆไป” แต่ภายหลังจากมีการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มาตรา 26/2 ความว่า
“(1) ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษา วิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรม-การ” ซึ่งนโยบายเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ในทาง การแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทุกรายมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และการเข้าถึงกัญชาจะต้องไม่เป็นการจำกัดรูปแบบเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เท่านั้น
แต่ผู้ป่วยจะต้องมีเสรีภาพในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาแผนปัจจุบัน (Modern Drugs) ตำรับยาตามตำรายาแผนไทย ตำรับ Special Access Scheme (SAS) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และตำรับยาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน (Traditional Products)
แม้ว่านโยบายการแก้ไขกฎหมายพระราช-บัญญัติยาเสพติดให้โทษเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณ- สุขของประเทศไทยอย่างกว้าง ขวาง อย่างไรก็ตาม นโยบาย สาธารณะในการควบคุมการนำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศเช่นเดียวกัน
อาจกล่าวได้ว่า นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องระบบสาธารณสุข พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายนั้น ซึ่งขอบเขตของนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพนี้จะต้องครอบคลุมนโยบายด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายด้านสังคม นโยบายด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ ความสำเร็จของนโยบายสาธารณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่
...
ประการที่หนึ่ง เป้าประสงค์ที่ชัดเจน การจะระบุวัตถุประสงค์การดำเนินนโยบายสาธารณะที่ควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้ชัดเจน จำเป็นต้องอาศัยความครบถ้วนของข้อมูลทั้งหมด (Totality of Evidence) ได้แก่ หลักฐานงานวิจัยทางคลินิก (Research) ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Knowledge) ประสบการณ์จากประเทศอื่นเป็นฐานประกอบ (Experience) และผนวกเข้ากับบริบทของสังคมไทย (Local Context)
ทำให้การกำหนดนโยบายการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นไปในลักษณะ Evi-dence-informed Policy-making ซึ่งจะทำให้ทราบถึงระดับการผ่อนปรนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้ง ยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวเมื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ
ประการที่สอง การบริหารราชการแผ่นดิน (Health Politics and Actions) ซึ่งหมายความรวมถึงระบบการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์ การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม เช่น งบประมาณการเบิกจ่ายยากัญชาตามสิทธิประกันสังคม เป็นต้น
ประการที่สาม ความพร้อมของทรัพยากรทางสาธารณสุข (Public Health Resources) ซึ่งหมายความรวมถึงทรัพยากรบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ กล่าวคือจะต้องมีหน่วยงานกลางกัญชาของประเทศที่มีศักยภาพเป็นผู้รับผิดชอบระบบการกำกับดูแลโดยตรง เพื่อให้กลไกการควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผลการนำนโยบายกัญชาไปปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าประสงค์การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านอื่นๆ อาทิ นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์พื้นบ้านหรือแพทย์ทางเลือก เป็นต้น
ประการที่สี่ ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี (Community Health Issues) คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ หมายความรวมถึง ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ระบบดำเนินไปข้างหน้าด้วยกันได้ โดยการที่ประชาชนจะให้การสนับสนุนนโยบายใด แสดงว่านโยบายนั้นจะต้องสอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยม พื้นฐานความคิดความเข้าใจ ความต้องการของประชาชน และวิถีชุมชน
...
ซึ่งความรวดเร็วของการส่งและรับข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนคือ กลไกสำคัญ ที่มีผลต่อการรับรู้ ความคิดความเข้าใจของประชาชน รวมไปถึงการกำหนดค่านิยมของผู้คนในสังคม ดังนั้นการพัฒนาให้บุคคลทางด้านการสื่อสารเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการนำเสนอข่าวสารออกสู่ประชาชน
อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างเอกภาพในการสื่อสารและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ.
หมอดื้อ