พระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์วันนี้เส้นสายลายพิมพ์ไปกันได้กับพิมพ์ที่สำนักท่าพระจันทร์ บัญญัติให้เป็นพิมพ์เอ คุ้นตากันมากกับองค์ครู องค์เสี่ยดม

ข้อแตกต่าง องค์เสี่ยดมมีเส้นแซมใต้ตัก เส้นเดียว แต่องค์นี้ มีเส้นแซมเส้นสองเหนือฐานคมขวานฐานสิงห์ ทั้งผิวพระก็จับแน่นฝ้ารักดำ

รักดำ มีข้อพิจารณา ในทัศนะผมรักหนา ที่เห็นว่าสีดำนั้น ถ้าบาง ก็เห็นเป็นสีเลือดหมูหรือน้ำตาลอมแดง ที่จริงเป็นรักเดียวกัน

ดูภาพสีทางไทยรัฐออนไลน์ เพ่งดูอีกที พื้นผนังทั้งด้านหน้าหลัง เห็นทั้งส่วนที่ยังดำ และเห็นทั้งส่วนที่อมแดง

ส่วนเรื่องของรักดำจริงๆ ดำสีเดียว บางท่านว่ามีทั้งดำเก่าและดำ (ลง) ใหม่ นั้นค่อยมาคุยกันอีกที

เนื้อพระส่วนที่สึกช้ำ ขาวอมเหลือง หนึกนุ่มซึ้งตา เห็นเม็ดขาว กากดำประปราย...เสริมด้วยหลุมร่อง รอยแยกรอยยุบ รอยปริขอบข้าง ตามธรรมชาติวัดระฆังฯ ทั้งหน้าหลัง...

สำหรับคนเป็นพระ ทั้งพิมพ์ทั้งเนื้อ องค์นี้ดูง่าย แทบไม่ต้องเข้าแว่น

องค์นี้ ก็เป็นเช่นทุกองค์ ที่เคยลงในคอลัมน์ ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ คือเป็นพระ“หน้าใหม่” ไม่เคยตีพิมพ์ในหนังสือวงการ พูดตรงๆ ไม่ผ่านเซียน จึงน่าจะมีคำถาม พระสมเด็จวัดระฆังฯที่ว่าแท้ๆนั้นมีจำนวนเท่าใด

ที่เชื่อกันว่า 84,000 องค์นั้น จริงแท้แค่ไหน

เพราะเท่าที่พยายามนับจากหนังสือพระแท้มาตรฐานวงการ ทุกแม่พิมพ์รวมกัน ยังไม่ถึง 1 พันองค์

ประเด็นที่ตั้งใจคุยวันนี้ ก็คือจำนวนพระ...

คำนำหนังสือสุดยอดพระเบญจภาคี เล่มที่บิ๊กๆพรรคประชาธิปัตย์อุปถัมภ์ ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร เขียน อ้างบันทึกเจ้าคุณทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เมื่อปี 2473 ว่า

“วันเมื่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต มาถึงวัดระฆังฯ (ท่านมรณภาพ ที่วัดอินทรวิหารบางขุนพรหม) พระธรรมถาวร (ช่วง) อายุ 44 ปี มีตัวตนถึงวันเรียงประวัติเรื่องนี้

...

“ได้ตักพระพิมพ์แจก ชำร่วยแก่บรรดาผู้มาส่งศพ สักการะศพ เคารพศพนั้น แจกกันทั่วคนละองค์สององค์ ท่านประมาณราวสามหมื่นองค์ ที่แจกไป

และต่อๆมา ก็แจกเรื่อย เดี๋ยวนี้ (พ.ศ.2473) จะหาสักครึ่งองค์ก็ไม่มี มีแต่จำเพาะคนๆ”

ตามประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านเริ่มสร้างพระ เมื่อปี พ.ศ.2309 มรณภาพปี พ.ศ.2415 มีเรื่องเล่าว่า เจอชาวบ้านท่านก็แจกไปเรื่อยๆ ปากท่านก็ว่า “รับไว้เถิดจ้ะ เอาไว้กันหมากัดวันหน้าจะหายาก”

ส่วนเรื่องแจกพระที่วัดระฆังฯ ไม่เคยได้ยินใครเล่า เล่ากันแต่ว่า ผู้คนที่ไปหามักไปขอหวย

ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร เขียนไว้ท้าย พระราชประวัติ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย ลือไทย) ว่า สมัยที่มีการสร้างพระพิมพ์ที่นครชุม (ทุ่งเศรษฐีฝั่งตรงข้ามเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบัน) ในจารึกหลักที่ 42 กล่าวถึงการสร้างพระพิมพ์จำนวนเท่าอายุผู้สร้างเป็นจำนวนวัน เช่น แม่เฉา อายุ 75 ปี สร้างพระพิมพ์ 27,500 องค์

คงจำกันได้ ประวัติการค้นพบพระพิมพ์กรุทุ่งเศรษฐี เกิดจากสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

ท่านไปอ่านจารึกโบราณที่เมืองกำแพงเพชร ท่านแปลความหมายได้และชี้ไปที่เจดีย์ว่ามีพระพิมพ์

เมื่อสมเด็จฯ ท่านสร้างพระพิมพ์ของท่านบ้าง ท่านก็ควรใช้หลักเดียวกับที่อ่านจากจารึก คือสร้างตามจำนวนอายุของท่าน ประมาณการ ก็ราวๆบวกลบ สามหมื่นองค์

ยึดหลักนี้ ผมก็เชื่อว่า จำนวนพระสมเด็จวัดระฆังฯ ไม่น้อยกว่าสามหมื่นองค์

พระสมเด็จวัดระฆังฯ จะสร้างแค่หลักพันหลักหมื่นก็คงไม่สำคัญเท่ากับองค์พระตรงหน้า...ถ้าทุกอย่างลงตัวว่าเป็นพระ-แท้...นั่นแล เป็นเรื่องที่คนเป็นพระเขาจะใจคุยกัน.

พลายชุมพล