“ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ...เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้าจนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ชัยของการพัฒนานี้ มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี” พระราชดำรัสดังกล่าวของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 คงพอจะสะท้อนได้ดีถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที โดยไม่ตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันล่าช้า
เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของมูลนิธิชัยพัฒนา “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกเล่าถึงความทรงจำตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษ ที่ได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญที่ปูทางสู่ชัยชนะแห่งการพัฒนา

...
“มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด” ช่วงแรกที่เข้ามาถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 “ดร.สุเมธ” กังวลว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี เนื่องด้วยร่ำเรียนมาด้านรัฐศาสตร์ การทูต และไม่เคยมีความรู้ใดๆด้านเกษตรกรรม การฟื้นฟูป่า หรือการบริหารจัดการน้ำ...“พระองค์รับสั่งว่าไม่รู้ไม่เป็นไร เดี๋ยว
ฉันสอนเอง โดยสิ่งที่รับสั่งให้ปฏิบัติในการถวายงานช่วงแรกเริ่มคือ มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด…พระองค์ทรงเป็นครูที่มหัศจรรย์ที่สุด ทรงปั้นคนอย่างผมจากที่ไม่รู้อะไรเลยจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษกับการตามเสด็จ แทบจะทุกพื้นที่ที่ทรงงาน นักเรียนของพระเจ้าอยู่หัวที่ชื่อว่า “สุเมธ” จึงไม่เคยยืนห่างพระวรกาย มีหน้าที่ถือเทปบันทึกเสียงอยู่ด้านหลัง และจดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ก่อนนำข้อมูลไปทำรายงานสรุปโดยละเอียด และทูลเกล้าฯถวาย
ย้อนกลับไปวันแรกๆที่ “ดร.สุเมธ” ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยตามเสด็จไปยังพื้นที่ทรงงานจังหวัดนราธิวาส พระองค์ทรงเรียกหา “ถุงเงิน” จนเกิดความงุนงงไปตามๆกัน...“พอดีที่ปักษ์ใต้มีวัวชนอยู่ตัวหนึ่งชื่อถุงเงิน มหาดเล็กคิดว่าทรงอยากทอดพระเนตรวัวชน เลยทูลว่าวันนี้ชนอยู่ที่สงขลา เดี๋ยวชนเสร็จแล้วจะใส่รถมา พระองค์รับสั่งว่าไม่ใช่วัว พร้อมชี้มาที่ผม ผมจึงถูกเอ็ดว่าไปยืนไกลทำไม วันนั้นถึงได้รู้ว่าที่ยืนของผมควรยืนอยู่ใกล้พระองค์” ดร.สุเมธ บอกเล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ปี 2536 เมื่อโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มที่จังหวัดนครราชสีมาว่า “ความทุกข์ของประชาชนไม่ต้องรอเบิกใครเลย เพราะ พระองค์ทรงสั่งการเอง สั่งเดี๋ยวนั้นไปเดี๋ยวนั้น... กลางดึกผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า พบผู้ประสบภัยติดอยู่ในซากตึก แต่เข้าไม่ถึง ต้องการเครื่องสกัดซี-เมนต์แบบเคลื่อนที่จำนวนหนึ่ง คิดเป็นเงินราว 3 แสนบาท ผมตัดสินใจตอบตกลง ครั้งนั้นช่วยชีวิตครูไว้ได้ ถือว่าภารกิจคุ้มค่าและสัมฤทธิผล เพราะชีวิตคนตีค่าไม่ได้”


สำหรับที่มาของคำว่า “ถุงเงิน” สืบเนื่องจาก “ดร.สุเมธ” เป็นผู้ถือเงินสองกระเป๋าคือ กระเป๋าหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารงานและงบประมาณแบบราชการ ใช้สำหรับงานที่สามารถรอได้ ส่วนอีกกระเป๋าเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที
...
“ความทุกข์ความทรมานไม่มีวันหยุดหรอก เขาทุกข์เดี๋ยวนี้ ต้องไปเดี๋ยวนี้เลย” หลายปีก่อนกรุงเทพฯกำลังจะเกิดน้ำท่วมใหญ่จากน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางเหนือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทรงสอบถามถึงสถานการณ์น้ำ หน่วยราชการได้กราบบังคมทูลว่า พรุ่งนี้จะไปดำเนินงาน พระองค์จึงตรัสถามว่า “น้ำหยุดแล้วหรือ ไปเดี๋ยวนี้แหละ คืนนี้เลย น้ำไม่ใช่ว่าเริ่มไหลเวลาแปดโมงครึ่ง แล้วก็สี่โมงครึ่งหยุดพักตามริมตลิ่ง”

“ทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว” นี่คือหลักการสำคัญในการทำงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งทรงวางรากฐานไว้ตั้งแต่วันแรก...“งานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นต้องทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว เรื่องเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในระบบระเบียบของทางราชการ เนื่องจากราชการมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยากพอสมควร จะไม่ทันกับเวลาและปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็ว มูลนิธิฯดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน หากรัฐบาลเห็นสมควรว่ามีประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หรือจะนำแบบอย่างไปทดลองที่อื่นก็ได้...” จากพระราชดำรัสในการประชุมกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539
...
“พื้น” คือโต๊ะประชุม “ดร.สุเมธ” บอกเล่าว่า เมื่อมีประชุมที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 มักจะทรงนั่งพับเพียบบนพื้น มีเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น ที่ทรงประชุมบนโต๊ะ “เพราะไม่มีโต๊ะไหนวางกระดาษยักษ์ของแผนที่ได้ นอกจากพื้น” ความเรียบง่ายและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากกว่าความต้องการของตนเอง คือสิ่งที่ผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดได้เรียนรู้จากพระราชจริยวัตร

“ไม่เรี่ยไร แต่จงทำงานให้ประชาชนศรัทธา” ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มีพระบรมราโชบาย “ห้ามเรี่ยไรนะ” ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิฯ “ดร.สุเมธ” ยอมรับว่า อดกังวลไม่ได้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน แต่พระองค์ก็ทรงอธิบายว่า สาเหตุที่ห้ามเรี่ยไร เพราะไม่มั่นใจว่าเขาเต็มใจหรือเปล่า ไปขอผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็อาจจะให้ด้วยความเกรงใจ สิ่งที่ควรทำคือ เราทำอะไรเล่าให้เขาฟัง เมื่อเขาฟังแล้ว เขาเห็นแล้ว เขาก็มีศรัทธาขึ้นมา พอมีศรัทธาเขาก็จะมาให้เงินเราเอง มูลนิธิฯยึดหลักการนี้มาโดยตลอด จนถึงวันนี้รายชื่อผู้บริจาคก็ยังคงได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารมูลนิธิชัยพัฒนาอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะบริจาค 5 บาท หรือ 100 ล้านบาท เพราะศรัทธาไม่ได้วัดที่จำนวนเงิน
...
“ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น” พระราชดำรัสดังกล่าวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงดังกึกก้องอยู่ในใจชาวมูลนิธิชัยพัฒนาทุกคน ด้วยความสำนึกในภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่

“งานยังไม่เสร็จนะ” ดร.สุเมธเล่าว่า วันหนึ่งขณะเข้าเฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะก้มลงกราบนั้น เป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์มาแตะที่ไหล่ซ้ายอย่างตั้งพระราชหฤทัย พร้อมรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ” ราวกับจะเป็นคำสั่งเสียสุดท้าย ที่ส่งผ่านเลขาธิการมูลนิธิฯคู่พระทัย ถึงประชาชนคนไทยว่า “หน้าที่ของพวกเราคือรักษาแผ่นดิน”
ชัยชนะแท้จริงแห่งการพัฒนาคือ ความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ดีกินดีของประชาชนชาวไทย.
ทีมข่าวหน้าสตรี