รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 47 ได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐและกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ในขณะที่การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขซึ่งมีผลมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 258 ช (5) ได้กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้รับ “บริการสุขภาพปฐมภูมิ” ที่มีประสิทธิภาพมีความเป็นธรรม มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561
นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้อธิบายความหมายของ “บริการสุขภาพปฐมภูมิ” ว่าเป็นบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มุ่งหมายดูแลสุขภาพของบุคคลในเขตพื้นที่รับผิดชอบในลักษณะองค์รวม ตั้งแต่แรก ต่อเนื่องและผสมผสานครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งเชื่อมโยงกับครอบครัว ชุมชนและบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งจะมี “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” เป็นกลไกและกระบวนการในการประสานความร่วมมือ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ การส่งต่อผู้รับบริการและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
นายแพทย์สฤษดิ์เดช เจริญไชย รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ บอกว่าที่มาของ “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ว่าเกิดจาก 3 ส่วนคือ ส่วนแรกเกิดจากปัญหาอุปสรรคในบริบทระบบสุขภาพปัจจุบันของไทย เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นและมีโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น ต้องการการดูแลที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนที่สองคือหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีภาระงานมากไม่สามารถดูแลแบบองค์รวมและต่อเนื่องได้ ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาซับซ้อนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงไม่สามารถทำได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกันประชาชนยังขาดความรอบรู้สุขภาพที่จำเป็น สังเกตได้จากเวลาไปโรงพยาบาลหมอตรวจใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที ตรวจเสร็จก็จ่ายยา เวลาที่หมอได้พูดคุยกับคนไข้เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคนไข้จึงมีค่อนข้างน้อย ทำให้การดูแลไม่เหมาะสม ส่วนที่สาม คือ ค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการผลักดันภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้และเพื่อให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น ด้วยการผลักดันให้มี “พระราชบัญญัติสุขภาพปฐมภูมิ” เพื่อกำหนดกลไกการจัด “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับ “บริการสุขภาพปฐมภูมิ” ที่มีประสิทธิภาพมีความเป็นธรรม มีคุณภาพและมีมาตรฐาน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐานใกล้บ้าน ด้วยแนวทางการพัฒนาในรูปแบบคลินิกหมอครอบครัว
ปัจจุบัน “พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ฉบับนี้ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศ หรือจะเริ่มนับหนึ่งภายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 นี้ โดยตามกลไกภายใน 10 ปี จะต้องจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีเพิ่มขึ้นและช่วยลดรายจ่ายของประเทศได้ในระยะยาว ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ มีกลไกหลัก 6 ด้าน ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เกิดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพเท่าเทียม ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เรื่องแรก คือ การลงทะเบียน จะเป็นการลงทะเบียนที่มีชื่อแพทย์คู่กับประชาชน ต่อไปประชาชนคนไทยทั่วประเทศจะมีหมอประจำตัวหรือหมอประจำครอบครัวที่ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่ก่อนป่วย ป่วยมาก จนถึงการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน มีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่ก่อนแรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการจับคู่กัน ต่อไปประชาชนจะมีผู้รับผิดชอบสุขภาพ เรื่องที่ 2 คือ เรื่องข้อมูลสารสนเทศ ต่อไปประชาชนที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลกลับมาแล้วดูแลต่อเนื่องในชุมชนจะมีข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา มีแนวทางการวางแผนอย่างไร จะมีข้อมูลจากโรงพยาบาลใหญ่ส่งกลับมาที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. เรื่องที่ 3 คือการผลิตและพัฒนาบุคลากรสหวิชาชีพ เช่น หมอเวชศาสตร์ครอบครัว ทีมผู้ให้บริการ เช่น พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพ จะมีการวางแผนและผลิตบุคลากรเหล่านี้ในสัดส่วนที่เหมาะสม เรื่องที่ 4 มีกลไกด้านการเงินที่สนับสนุนการบริการตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เรื่องที่ 5 กลไกส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการสุขภาพของตนเองมากขึ้นทั้งในระดับพื้นที่ในระดับอำเภอ เป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลตรงกับความต้องการมากขึ้น และ เรื่องที่ 6 มีกลไกการดูแล กำกับ ติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมและเป็นธรรม
นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ” นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทย ที่สามารถตอบสนองการปฏิรูประเทศโดยตรง ถือเป็นหลักประกันสำคัญว่ารัฐบาลหรือคณะกรรมการปฏิรูปฯ ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าการดำเนินการนี้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายใน 10 ปี จะมีทีมหมอครอบครัว มีแพทย์ประจำครอบครัวครบ 65 ล้านคนตามจำนวนประชากรของประเทศ
“ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการมี “พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ” คือการมีกลไกการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีมาตรฐานและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิ อันเป็นการสร้างความเป็นธรรมและความมั่นคงด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมและประเทศ การมี “พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ” จึงนับเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศให้เดินหน้ามุ่งสู่ความยั่งยืน”