“โรคอ้วน” เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารในปริมาณที่มากเกินไปที่ร่างกายต้องการ ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ร่างกายขาดการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่โทรสั่งก็มีอาหารมาเสิร์ฟตรงหน้าแล้ว ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยมีอัตราประชากรโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ จนกระทั่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ 

โรคอ้วน นับเป็นโรคสำคัญโรคหนึ่ง เพราะหากเป็นโรคอ้วนแล้ว จะนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ ตามมาอีก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “โรคอ้วน”

- มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 32.5 และมีโรค NCDs บางโรค ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับ และไขมันในเลือดสูง

- มีค่า BMI เกิน 37.5
หากมีข้อใดข้อหนึ่ง ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็น “โรคอ้วน”

การรักษาโรคอ้วน

...

เป็นการทำให้น้ำหนักตัวเกินกลับมาสู่ภาวะปกติเช่นคนทั่วไป โดยมีวิธีการที่คนทั่วไปสามารถลงมือปฏิบัติได้เอง คือ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และติดตามดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคุณเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมาก (เกิน 100 กิโลกรัม) และได้ลองลดน้ำหนักด้วยตัวเองประมาณ 6 เดือนแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์ก็จะพิจารณาเรื่อง “การผ่าตัด” ซึ่งแม้ว่าการผ่าตัดจะเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด คนไข้ก็จำเป็นจะต้องดูแลเรื่องการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้น้ำหนักกลับไปขึ้นอีกครั้ง

เกณฑ์พิจารณาในการผ่าตัด

- เป็นโรคอ้วน

- คนไข้พยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเองแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

- อายุ 18-65 ปี เนื่องจากถ้าอายุน้อยหรือมากเกินไป จะส่งผลต่อการผ่าตัด

- คนไข้จะต้องมีความตั้งใจและเข้าใจการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์เป็นเพียงผู้ชี้แนะ การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย คนไข้จะต้องตั้งใจและทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากทำได้ตามคำแนะนำของแพทย์ การรักษาก็จะประสบความสำเร็จ

- ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากมีการตรวจที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของคนไข้ได้ แพทย์ก็จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติม

- ไม่มีข้อห้ามเฉพาะบางอย่าง เช่น ตั้งครรภ์อยู่ ก็ควรคลอดให้เรียบร้อยก่อน, เพิ่งรักษาโรคมะเร็ง ก็ควรรอให้ร่างกายแข็งแรงก่อน เป็นต้น

การผ่าตัด

ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนซึ่งเป็นที่นิยมมี 2 วิธี คือ

1.Gastric Bypass การทำบายพาสกระเพาะอาหาร เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำกันมากที่สุด คือ แบ่งกระเพาะออกเป็นส่วนใหญ่กับส่วนเล็ก จากนั้นจึงนำลำไส้ส่วนปลายไปต่อกับกระเพาะเล็กๆ ที่ตัดแบ่งไว้ ทำให้อาหารไม่ผ่านลำไส้ส่วนที่ดูดซึมอาหารได้ดี ส่งผลให้คนไข้กินอาหารได้น้อยและรู้สึกอิ่มเร็ว นอกจากนี้การผ่าตัดบายพาสกระเพาะยังทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น หรือหายจากโรคเบาหวานได้

...

2. Sleeve Gastrectomy เป็นการลดขนาดของกระเพาะอาหารให้เล็กลง เพื่อให้เหลือกระเพาะอาหารที่เพียงพอต่อการรับปริมาณอาหารที่เหมาะสมของคนเป็นโรคอ้วน


---------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตทางศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล