การมีสุขภาพร่างกายที่ดีนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากอาหารการกินของคนเรา หากเราเลือกกินแต่อาหารที่ดี มีประโยชน์ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆ ซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับการกินโรคหนึ่งก็คือ “โรคไต” เพราะในความเป็นจริงแล้วโรคไตนั้นสามารถป้องกันและชะลอได้ ดังนี้

1. ดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ 

2. ตรวจคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นโรคไต เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตแล้ว ก็ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อชะลอการดำเนินของโรค

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคไต

- น้ำหนักตัวเกิน

- เป็นโรคความดันเลือดสูง

- เป็นโรคเบาหวาน

- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต

- สูบบุหรี่

- อายุเกิน 50 ปี

- รับประทานยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาจีน ยาชุด ยาแก้ปวด และอาหารเสริม ซึ่งในยาเหล่านี้มีสารบางชนิดที่ทำให้ไตวายได้

แนวทางการดูแลไตให้แข็งแรง

1. ลดน้ำหนัก

ก่อนอื่นต้องเช็กดูว่าคุณมีน้ำหนักตัวเกินหรือไม่ โดยคำนวณคร่าว ๆ ว่า ถ้าคุณสูง 150 เซนติเมตร ควรมีน้ำหนักประมาณ 40-50 กิโลกรัม ถ้าสูง 160 เซนติเมตร ก็ควรหนัก 50-60 กิโลกรัม หากมีน้ำหนักเกินกว่าที่กล่าวไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนอื่น หรือถ้าเป็นโรคไตอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ไตเสื่อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากมีน้ำหนักเกิน ก็ควรลดน้ำหนักลงประมาณ 5-10% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น เช่น สูง 150 เซนติเมตร น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนักลงเหลือ 57 หรือ 54 กิโลกรัม เพื่อทำให้สุขภาพไตดีขึ้น 

2. ลดความดันเลือดสูง

ค่าความดันเลือดของคนทั่วไป ค่าบนจะอยู่ที่ 90-120 มิลลิเมตรปรอท ส่วนค่าล่างประมาณ 60-80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันค่าบนมากกว่า 140 และตัวล่างมากกว่า 90 จะจัดว่าความดันเลือดสูง

...

คนที่อายุมากกว่า 60 ปี ควรคุมให้ค่าบนน้อยกว่า 150 ส่วนค่าล่างน้อยกว่า 90 

คนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ควรคุมให้ค่าบนน้อยกว่า 140 ส่วนค่าล่างน้อยกว่า 90 

ส่วนคนที่เป็นโรคไตควรต้องคุมความดันเลือดให้ต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่การพิจารณาของแพทย์โรคไตว่าจะต้องคุมความดันอยู่ที่เท่าไร

แนวทางการควบคุมความดันเลือด มีหลักการดังนี้

@ ลดน้ำหนัก พยายามลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากลดน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม จะสามารถลดความดันเลือดได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท

@ ควบคุมอาหารเพื่อหยุดความดันเลือดสูง จานข้าวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งของจานจะเป็นผักและผลไม้ คนไข้ที่เป็นโรคไต ควรกินผักมากกว่าผลไม้

  • - ¼ จานจะเป็นหมวดข้าวแป้ง เน้นเป็นพวกธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี ลูกเดือย ข้าวโพด กินข้าวขาวให้น้อยลง เพราะทำให้น้ำตาลขึ้นเร็ว 
  • - ดื่มนม 1 แก้ว หรือกินเนื้อสัตว์ประมาณ 100 กรัม เช่น อกไก่ หมูไร้มัน อาหารทะเล หลีกเลี่ยงการกินสัตว์เนื้อแดง
  • - ถั่วเขียว ถั่วเปลือกแข็ง พิตาชิโอ ประมาณ 1 ส่วนต่อวัน
  • - น้ำมันประมาณ 1-2 ส่วนต่อวัน
  • - ขนมหวาน รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง กินเป็นโยเกิร์ตไขมันต่ำ 1 ถ้วย น้ำตาล/น้ำเชื่อม/แยม 3 ช้อนชา/สัปดาห์ 

อาหารที่ช่วยให้ความดันเลือดลดลงคือ ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียม เช่น คะน้าสุก ผักโขมลวก แครอตสุก ผักกาดหอม มะเขือเทศ ฟักทอง บร็อคโคลี่ มะระจีนสุก ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ ขนุน แคนตาลูป แตงโม เป็นต้น

@ ลดเค็ม รับประทานโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน (ซีอิ๊วหรือน้ำปลา ประมาณ 4 – 5 ช้อนชาต่อวัน) 

ความเค็มมีอยู่ในอะไรบ้าง ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊ว ชีส เกลือ อาหารกระป๋อง ซุป เบคอน หมูแฮม ขนมกรอบๆ กะปิ ปลาร้า ของหมักของดองต่างๆ 

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์

3.ลดน้ำตาล

ค่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ค่าปกติอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

การที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ ควรเลือกกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งควรเลือกอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55 เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต นมสด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ แครอต ข้าวโพดหวาน น้ำผึ้ง เป็นต้น

ผลไม้ที่ควรกินได้ ได้แก่ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ ส้ม ลูกแพร แก้วมังกร ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า มะม่วง และองุ่น ผลไม้ที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ แตงโม และอินทผลัม

หากทำได้ตามคำแนะนำที่กล่าวมา ก็จะทำให้คุณมีสุขภาพไตที่แข็งแรง และห่างไกลโรคไต 

---------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

อ. นพ.ปริย พรรณเชษฐ์ สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล