การทำงานในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ชุมชน ภาครัฐ และภาคผู้ประกอบการ เป็นการทำงานที่สะท้อนได้ชัดเจนถึงคำจำกัดความที่ว่า “เพราะเรื่องท่องเที่ยว ทำคนเดียวไม่ได้” จึงเป็นที่มาของรูปแบบการทำงานของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่ต้องประสานความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากการให้ความรู้เรื่องเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) เครื่องมือสำคัญที่จะเป็นกรอบการทำงานให้ทุกฝ่ายไปถึงผลสัมฤทธิ์
จากการเปิดตัว “โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ Green Hotel อพท. นำร่องแห่งแรกพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการ เพื่อเปิดรับองค์ความรู้ พร้อมจะทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ โดยปัจจุบันได้มอบโครงการนี้ให้เป็นนโยบายที่ต้องนำไปดำเนินการในพื้นที่พิเศษอื่นๆ ของ อพท. ซึ่งมีพื้นที่ที่ขยายผลนำไปดำเนินการแล้ว เช่น พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เป็นต้น
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. อธิบายถึงโครงการกรีนโฮเทล ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งจากหลายๆ กิจกรรมของ อพท. ที่จะตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ GSTC ตามข้อปฏิบัติด้านที่ 4 คือมิติด้านการเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางสิ่งแวดล้อม
“เราตั้งใจทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการโรงแรมสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ลดการปลดปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งในและนอกพื้นที่พิเศษที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน โดยหากนำเกณฑ์กรีนโฮเทลไปใช้ในสถานประกอบการ ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าร่วมโครงการกรีนโฮเทล นอกจากภาพลักษณ์ที่ดีของโรงแรมที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังเป็นกระแสนิยมที่นักท่องเที่ยวคุณภาพจะเลือกที่พักที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะถือเป็นการรับผิดชอบต่อการเดินทางท่องเที่ยว ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือช่วยผู้ประกอบการโรงแรมลดต้นทุนค่าดำเนินงาน ซึ่งเกิดการลดการใช้ไฟฟ้า ด้วยการปรับเปลี่ยนหลอดไฟ ตลอดจน การลดการใช้น้ำ การคัดแยกขยะ และการรีไซเคิล เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการโรงแรมที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องปฏิบัติตาม 6 ข้อกำหนดเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นกรีนโฮเทล ประกอบด้วย 1. นโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. การพัฒนาบุคลากร 3.ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 4. มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5. มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และ 6. การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน
ในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อพท. ดำเนินกิจกรรมกรีนโฮเทลมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบัน มีโรงแรมที่ได้มาตรฐานกรีนโฮเทลจำนวนรวม 31 แห่ง ทั้งในพื้นที่เมืองพัทยา และพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี ในปีงบประมาณ 2562 โครงการกรีนโฮเทล ยังขยายวงกว้าง เชิญชวนผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมโครงการทั้งในพื้นที่เดิม และพื้นที่ใหม่ๆ ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Active Beach) ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด นอกจากนั้น อพท. ยังให้ความสำคัญเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกตอนนี้ คือ ปัญหาโลกร้อน อพท. จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้สถานประกอบการโรงแรมคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในโรงแรม และแนะนำแนวทางการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้โรงแรมสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการคาร์บอนต่ำต่อไป