การศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆ ทั้งต่อครูและเด็กนักเรียนในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนหลักสูตรทางด้านการเรียน การสอนให้เหมาะสมกับเด็กไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และเพิ่มศักยภาพของเด็กให้มีมากยิ่งขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีอีกหนึ่งสิ่งดีๆ เกี่ยวกับการศึกษามาบอกต่อ นั่นก็คือเรื่อง "วิชาวิทยาการคำนวณ" เรื่องราวดีๆ ที่ว่าจะเป็นอย่างไร จะดีต่อเด็กไทยมากหรือน้อยขนาดไหนนั้น "นายตะวัน เทวอักษร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เล่าให้เราได้ฟังไว้ว่า

นายตะวัน เทวอักษร
นายตะวัน เทวอักษร

จุดเริ่มต้น

ในเรื่องของวิชาวิทยาการคำนวณ ประเทศแรกที่ทำในเรื่องนี้ คือประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยนั้น "วิชาวิทยาการคำนวณ" ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 และเริ่มบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 เป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่นำหลักสูตรการเรียนการสอนนี้มาใช้ด้วยเช่นเดียวกัน

...

แจงความคิด 3 อย่าง

1.การคิดเชิงคำนวณ
การคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking) คือ การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นระบบ ดังนี้
- การย่อยปัญหา
- การจดจำรูปแบบ
- ความคิดด้านนามธรรม
- การจดจำรูปแบบ

2.ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology) ดังนี้
- การใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูล
- การประยุกต์ใช้ความรู้ การประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา
- การสร้างสรรค์ ทักษะในการผลิตหรือสร้างผลงาน ผ่านเทคโนโลยีสื่อสารโดยใช้ความหลากหลายของสื่อดิจิทัล

3.การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and information literacy) คือการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลใช้อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคม ดังนี้
- การคิดอย่างมีวิจารณญาณ 
- การรู้เท่าทันตนเอง 
- ความตระหนักในอิทธิพลของสื่อ 

พื้นฐานในการเรียนรู้ และต่อยอด

วิชาวิทยาการคำนวณ เป็นวิชาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะด้านการคิดเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการค้นหา ประเมิน จัดการ พร้อมทั้งนำเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือทักษะขั้นพื้นฐานในการนำเอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดกับอีกหลากหลายวิชา และถือได้ว่าเป็นทักษะสำคัญสำหรับเด็กไทยที่ก้าวเข้าสู่โลกยุค Digital Age อย่างเต็มตัวอีกด้วย

ทั้งนี้แม้จะผ่านมา 1 ปีแล้วที่ภาครัฐประกาศให้วิชาวิทยาการคำนวณเป็นวิชาภาคบังคับที่เด็กทุกคนจะต้องเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเรียนการสอนวิชานี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่อยู่สำหรับครูไทย เรียกได้ว่าครูยังมีความกังวลถึงวิธีในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน บางโรงเรียนยังมีความสับสนว่าครูในภาควิชาใดจะเป็นครูผู้สอนในวิชานี้ รวมไปถึงสื่อการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กสามารถตอบวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของวิชาวิทยาคำนวณได้

เนื่องจากวิชานี้เป็นวิชาที่ต้องเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning โดยผู้เรียนต้องได้ คิด และปฏิบัติ ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ลองผิดลองถูก หาข้อผิดพลาด และแก้ไขชิ้นงานได้แบบเป็นรูปธรรม อันประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนของเนื้อหา โดยเชื่อมโยงเอาแนวคิดกับหลักการไปใช้งานและปฏิบัติได้จริง และส่วนของภาคปฏิบัติ คือ การลงมือให้เห็นผลแบบเป็นรูปธรรม และจับต้องได้ ผ่านการฝึกฝนการแก้ปัญหาและกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณเองจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและเพิ่มพูนทักษะความรู้เพื่อที่จะสามารถนำไปถ่ายทอดประสบการณ์ต่อได้ในห้องเรียน

...

ร่วมมือกับองค์กรทั่วโลก

ทั้งนี้ในฐานะผู้ออกแบบนวัตกรรมทางการศึกษา และกระบวนการเรียนการสอน เราตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนครูมาโดยตลอด ในส่วนของวิชาวิทยาการคำนวณที่ผ่านมาเราได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง โดยเปิดให้มีการอบรมสัมมนาครูทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงกระบวนการเรียนการสอนผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมให้เด็กเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ในรูปแบบที่ครูทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับบริบทห้องเรียนของตนเองได้ ซึ่งการอบรมนี้จะทำให้ครูเห็นภาพและเกิดไอเดียดีๆ ในการถ่ายทอดความรู้ไปยังเด็ก

นอกจากนั้น อักษร เอ็ดดูเคชั่น ยังได้จับมือร่วมกับองค์กรทั้งระดับโลก และระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและยกระดับการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณให้กับครู อาทิ code.org เว็บไซต์ชื่อดังด้านการเขียนภาษา Coding จากประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึง Micro:bit Educational Foundation ซึ่งแต่งตั้งให้เราเป็นผู้จำหน่ายไมโครบิต บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อการศึกษาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกด้วย

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ทักษะนี้เปรียบเสมือนทักษะพื้นฐานที่เด็กไทยสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม วิชาวิทยาการคำนวณไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กทุกคนที่เรียนต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ต้องการให้เด็กมีทักษะการคิดที่ถูกใช้ในการทำความเข้าใจปัญหา และสามารถสร้างแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ