"เทศกาลสงกรานต์" หรือช่วงปีใหม่ไทยนี้ นอกจากเราจะได้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังมีพิธี "รดน้ำดำหัว" ที่คนไทยแทบทุกบ้านทำสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีใครรู้ที่มาหรือว่าทำกันไปเพื่ออะไร?

เพราะฉะนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 นี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะมาบอกเล่ารายละเอียดที่มาของประเพณี "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เพื่อให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีนี้กันมากขึ้น

เป็นพิธีโบราณมาจากทางเหนือ

คำว่า 'รดน้ำดำหัว' เป็นคำพูดของชาวเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งในอดีตนั้นการรดน้ำคือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั่นเอง โดยจะใช้น้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูดในการสระผม (คำว่า ดำหัว เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึงการสระผม)

พิธีการเริ่มแพร่หลาย

ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค นอกจากจะทำเพื่อขอขมาผู้ใหญ่แล้ว ยังถือเป็นการชำระสะสางสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิตเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ เข้ามาในวันปีใหม่ จวบจนถึงวันนี้การรดน้ำดำหัวกลายเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทยปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาในวันสงกรานต์ทุกปี

...

ความหมายแฝงของการรดน้ำดำหัว

นั่นคือ เป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย และเพื่อขอโทษขออภัยในปีที่ผ่านมา ที่ผู้น้อยอาจจะเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม รวมถึงเป็นการขอพรจากผู้อาวุโสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดปีอีกด้วย

เปิดวิธีรดน้ำดำหัวฉบับโบราณ vs สมัยใหม่

1.วิธีดำหัวฉบับโบราณ

แบบที่หนึ่ง ดำหัวตนเอง: เป็นพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป

แบบที่สอง ดำหัวผู้น้อย: เช่น ภรรยา บุตร หลาน : เป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากแบบแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (แบบที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง

แบบที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่: เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น : กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน

2.วิธีดำหัวฉบับปัจจุบัน

เน้นไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ และรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ซึ่งการรดน้ำผู้ใหญ่จะทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ก็คือวันที่ 15 เมษายน (วันผู้สูงอายุ) ส่วนการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์จะมีพิธีการมากกว่า คือก่อนที่จะรดน้ำพระสงฆ์ จะต้องรดน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงค่อยรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้นก็รับพร สามารถทำได้ทุกวันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย (13-15) ของสงกรานต์

การไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่นั้น สิ่งที่ต้องเตรียมไปคือน้ำอบไทย น้ำหอม หรือน้ำส้มป่อย เพื่อนำไปผสมกับน้ำที่จะนำไปรดน้ำผู้ใหญ่ ถ้าจะให้ดีควรมีดอกมะลิ หรือกลีบดอกกุหลาบลอยไปด้วย 

สุดท้ายนี้...เอาเป็นว่าอย่าลืมที่จะจัดเตรียมดอกไม้ น้ำอบน้ำปรุง ไปรดน้ำผู้สูงอายุกันนะคะ เริ่มที่พระในบ้านอย่างคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เพื่อที่จะได้สานความผูกพันในครอบครัวให้ยิ่งอบอุ่นและมีความสุขตลอดปีใหม่นี้จ้า.

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ "สงกรานต์ 2562" ได้อีกที่นี่: