ปัจจุบันพบว่า “โรคเบาหวาน” เป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยไปกว่าโรคมะเร็ง เพราะโรคเบาหวานก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาหลายประการ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะทุพพลภาพ หรืออาจเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเกิดแผลเบาหวาน

การเกิดแผล (ulceration) เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการเกิดแผลก่อให้เกิดภาวะความพิการจากการถูกตัดอวัยวะ และอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเบาหวานที่มีเกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าได้

ร้อยละ 14-15 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า

ร้อยละ 8-59 ของผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเกิดแผลซ้ำ

ผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้า มีโอกาสมากถึงร้อยละ 50 ที่จะต้องถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าอีกข้างหนึ่ง หลังจากถูกตัดข้างแรกในระยะ 2-5 ปี

ความรู้ความเข้าใจเรื่องเบาหวานจึงมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดแผล การกลับมาเป็นซ้ำของแผล และลดการต้องถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าลงได้

...

สาเหตุของการเกิดแผลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แผล (ulcers) ที่เกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าผู้ป่วยเบาหวาน มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งมักทำงานร่วมกัน โดยมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

• ภาวะโรคเส้นประสาท (neuropathy)
• ภาวะขาดเลือด (ischemia)
• ภาวะติดเชื้อ (infection)
สาเหตุอื่นอาจมีดังต่อไปนี้
• ภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูง (venous hypertension)
• แรงกดทับ (pressure)
• แผลจากภาวะเฉพาะโรค เช่น แผลหลอดเลือดขอด เป็นต้น
• การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (accidental injury)

ภาวะโรคเส้นประสาท (neuropathy)

เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการทำให้เกิดแผลที่เท้า โดยพบได้ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผล ภาวะโรคเส้นประสาทมักเกิดก่อนภาวะแทรกซ้อนอื่นของเท้า ซึ่งเกิดได้กับทุกส่วนของระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่

• ภาวะโรคเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory neuropathy) ผิดปกติ

เป็นสาเหตุของการเกิดแผลที่พบได้บ่อยที่สุดในภาวะโรคเส้นประสาท ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชา ไม่มีความรู้สึกที่เท้าและขาส่วนล่าง

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะทางเส้นประสาทรับความรู้สึกเมื่อไปเหยียบเศษแก้ว เศษไม้ อาจไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าตนเองได้มีแผลแล้ว

• ภาวะโรคเส้นประสาทสั่งการ (motor neuropathy) ผิดปกติ

ภาวะนี้ทำให้กล้ามเนื้อขาส่วนหน้าฝ่อ เกิดการผิดรูปของเท้า (foot deformity) กระดกข้อเท้า งอข้อเท้า เหยียดข้อเท้าได้น้อยลง เมื่อข้อเท้าเคลื่อนไหวได้น้อยลง ทำให้เท้าบริเวณหน้าส่วนล่างรับแรงกดมากขึ้น เกิดจุดที่ไวต่อการกดทับ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่ายขึ้น

• ระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ผิดปกติ

ภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการทำลายผิวหนัง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ขาผู้ป่วยเบาหวานอุ่นขึ้น ขนร่วง ทำให้เกิดรอยแตกที่เท้าได้ง่าย รอยแตกที่เท้าเป็นเส้นทางให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ภาวะนี้ยังมีผลทำให้กระดูกเกิดการแตกหักเล็กๆ จนในที่สุดอุ้งเท้าจะอ่อนแอและพังทับลงไป เกิดลักษณะเท้าที่สั้น รูปร่างเท้าที่ผิดไปนี้เรียกว่า “ชาโค่ (Charcot foot))

ภาวะขาดเลือด (ischemia)

พบในผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดแผลถึงร้อยละ 38-52 ภาวะนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ตามมา โดยพบว่าการดำเนินของโรคหลอดเลือดแดงแข็งในผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดขึ้นเร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

ภาวะติดเชื้อ (infection)

ซึ่งทั้งภาวะโรคเส้นประสาท (neuropathy) และภาวะขาดเลือด (ischemia) เป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้มีการติดเชื้อ การติดเชื้ออาจทำให้เกิดแผลลุกลามกลายเป็นแผลมีหนอง กระดูกอักเสบและเป็นหนองได้ในระยะเวลาอันสั้น แผลติดเชื้อที่เกิดขึ้นอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกปวดแผล เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชา เพียงแค่เห็นเท้าบวมแดงและอาจมีไข้ ฉะนั้นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเท้า จึงมีความสำคัญมาก

...

ลักษณะเท้าที่อาจก่อให้เกิดแผลเบาหวาน มีดังนี้

• การมีผิวหนังเท้าแห้ง แตกเป็นร่อง
• เท้าที่มีตาปลา หูด ปุ่มปม หนังหนา
• เท้าที่มีเล็บเท้าผิดรูป เล็บเท้าขบ เท้าที่มีเล็บติดเชื้อรา
• เท้าที่มีแผลรองเท้ากัด
• เท้าที่มีนิ้วเท้าผิดรูป
• เท้าผิดรูป มีแง่งกระดูก
เท้าดังที่กล่าวมาเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกตัดขา เท้า หรือนิ้วเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้

การสูญเสียการรับรู้ทางระบบประสาท
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
การติดเชื้อ
การมีประวัติการมีแผลที่เท้าหรือนิ้วเท้า
มีประวัติการถูกตัดขา เท้าหรือนิ้วเท้า
การมีเท้าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผล
การได้รับบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ
การมองแย่ลง
อายุที่เพิ่มขึ้น
เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
เชื้อชาติ คนผิวดำและเชื้อชาติสเปน (Hispanic) มีความเสี่ยงสูง

...

หลังจากที่ได้รู้ถึงสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดแผลเบาหวานแล้ว สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องของการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันแผลเบาหวาน รอติดตามกันนะครับ

-------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

หนังสือคู่มือความรู้ภาคประชาชนเรื่อง “แผลเบาหวาน” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์จุมพล วิลาศรัศมี