ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งวัยเด็ก เพราะนอกจากจะเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญระหว่างคนในครอบครัวแล้ว สมาร์ทโฟน ยังเต็มไปด้วยแหล่งรวมความรู้ โซเชียลมีเดีย และที่สำคัญคือมีเกมต่างๆ มากมายอยู่ในนั้น ซึ่งเด็กๆ สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากไม่แบ่งเวลาในการใช้สมาร์ทโฟนและเล่นเกม ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่ภาวะของ “โรคติดเกม”

“โรคติดเกม” คืออะไร

“โรคติดเกม” เป็นอาการติดเกมจนควบคุมไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะเลือกเล่นเกมเป็นอันดับแรกตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่นๆ แม้กระทั่งกิจวัตรในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ และล่าสุด นับเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) บรรจุอาการผิดปกติในการเล่นเกม หรือการติดเกม ลงในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ “International Classification of Diseases 11th revision” (ICD-11) ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต กลุ่มการติดสารเสพติดและการเสพติดพฤติกรรม ซึ่งอาการติดเกมนี้มักมีอาการคล้ายกับการติดสุรา สารเสพติดหรือการพนันได้

ในต่างประเทศพบว่ามีอุบัติการณ์การติดเกมตั้งแต่ 0.75 - 27.5% ซึ่งความแตกต่างนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ เกณฑ์การประเมิน โดยในช่วงวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ตอนต้นมักเป็นช่วงที่มีอุบัติการณ์สูงสุด ส่วนในประเทศไทย พบว่ามีเด็กวัยรุ่นติดเกมอยู่ประมาณ 15% และมักพบการติดเกมในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิง แต่ผู้หญิงอาจพบการติดการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าเด็กผู้ชาย

...

สาเหตุ

- พันธุกรรม เป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบความผิดปกติของสารเคมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดการรางวัล (reward processing) โดยปกติ คนเราจะมีความสุขจากการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การดูหนังฟังเพลง แต่หากพบว่าสมองส่วนจัดการรางวัลมีความผิดปกติ เขาจะไม่มีความสุขจากการทำกิจกรรมทั่วๆ ไป จึงหันไปพึ่งความสุขจากเกมแทน

- โรคทางจิตเวช ปัจจุบันพบว่าโรคทางจิตเวชเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง และโรคเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ได้กล่าวมา เช่น เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เขาไม่มีความสุข ซึ่งอาจใช้การเล่นเกมเป็นทางออก เด็กที่เป็นสมาธิสั้น จะขาดความยับยั้งชั่งใจ จึงอาจไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของตนได้

- ครอบครัว ปัจจุบันครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีการหย่าร้างมากขึ้น ซึ่งการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจส่งผลให้การดูแลลูกไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ไม่สามารถฝึกระเบียบวินัยให้เด็กได้ไม่เต็มที่ รวมถึงไม่มีเวลาให้กับลูก พ่อแม่จึงเลือกใช้สมาร์ทโฟนให้เด็กๆ เล่น หรือบางครั้งก็เป็นความเข้าใจผิดของพ่อแม่ว่าถ้าไม่ซื้อให้ เด็กจะตามเพื่อนไม่ทัน หรือบางครอบครัวก็มีความเครียดสูง มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งมีผลต่อการเลี้ยงดูเด็ก และทำให้เขาต้องใช้เกมเป็นที่พึ่งของชีวิต


- เกม ในปัจจุบันนี้เกมมักถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณลักษณะที่จะติดได้ง่ายๆ เช่น เกมที่ต้องมีการใช้เงินซื้อของ ซื้อไอเทมต่างๆ เพื่อเลื่อนระดับของการเล่นเกม หรือบางคนเวลาเล่นเกมเก่ง เขาจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้นำ มีคนมานับถือ เขาสามารถช่วยเหลือผู้อื่นในเกมได้ ทำให้เขาเกิดความภูมิใจแบบไม่เหมาะสม ทั้งที่เขาน่าจะมีความภูมิใจในชีวิตจริงมากกว่า หรือเด็กบางคนอาจจะเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าสื่อสารกับคนปกติ แต่หากเป็นการสื่อสารผ่านเกม เขากลับทำได้ดีกว่า จึงทำให้เขาหันไปใช้สื่อพวกนี้มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกของความจริง นอกจากนี้ ในปัจจุบัน มีการผลิตเกมที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต มีเกมสำหรับผู้หญิงมากขึ้น ส่งผลให้เด็กผู้หญิงหันมานิยมเล่นเกมกันมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะของการติดเกมได้เช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้มักส่งผลซึ่งกันและกัน เช่น เด็กที่เป็นสมาธิสั้นอาจถูกดุว่าตำหนิบ่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมและปัญหาการเรียนของเขา ทำให้ขาดความภาคภูมิใจ คบกับกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหาพฤติกรรมและการเรียนเช่นกัน และชักชวนกันไปเล่นเกม หรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ จนกระทั่งถูกให้ออกจากการเรียน รวมถึงนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การใช้สารเสพติด พฤติกรรมทางเพศได้

ผลกระทบ

การติดเกมนั้นส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านของวัยรุ่นไทย ดังนี้

@ การเรียน เด็กจะไม่มีสมาธิในการเรียน ส่งผลให้ผลการเรียนไม่ดี ไม่มีความสุขในการเรียน เพราะคิดถึงแต่เรื่องเล่นเกม และอาจนำไปสู่การออกจากการเรียนได้

@ สัมพันธภาพในครอบครัว พบว่าเด็กเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในครอบครัวน้อยลง เพราะไม่มีเวลาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว

@ ปัญหาทางจิตเวชต่างๆ เด็กที่ติดเกมมากๆ มักจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน มีความโดดเดี่ยว และอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ปัญหาการใช้สารเสพติดและปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ

@ ทางร่างกาย

สายตา การเพ่งหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ นานเกินไป จะส่งผลให้ดวงตามีความอ่อนล้า ตาแห้ง พร่ามัว และรู้สึกไม่สบายตา

โรคอ้วน เนื่องจากการเล่นเกมทำให้เด็กมีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ไม่ได้ขยับร่างกายไปไหน รวมถึงอาจรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น

- กล้ามเนื้อและกระดูก การนั่งเล่นเกมทั้งวัน ทำให้เด็กมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เช่น คอ ไหล่ ข้อมือ

- ปัญหาการนอน เด็กที่มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเข้านอน จะรบกวนระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้หลับได้ยากและมีเวลานอนน้อยลง

@ อารมณ์ เนื่องจากเล่นเกมมากเกินไป ทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นมาจึงรู้สึกงัวเงีย ไม่สดชื่นแจ่มใส รวมถึงความเครียดที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่างๆ ทั้งด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และประเภทเกมที่มีความก้าวร้าวรุนแรง อาจส่งผลให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมรุนแรง

หลังจากรู้จัก “โรคติดเกม” เข้าใจถึงสาเหตุ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแล้ว เรามาทำความเข้าใจว่าเมื่อไหร่จึงจะสงสัยว่าบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดเป็น “โรคติดเกม” นี้หรือไม่ แล้วจะรักษาหรือป้องกันคนที่เรารักจากปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างไรในตอนถัดไปนะครับ

...

-----------------------------------------------------------------


แหล่งข้อมูล


ผศ.นพ. คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล