เคยรู้สึกถึงอาการ “สมองล้า” มั้ย
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สมองมึน งง เบลอ คิดอะไรไม่ออกสมองไม่แล่นและเหนื่อยล้าจากการทำงาน บางคนที่เป็นมากๆ อาจถึงขั้นสับสนจนลืมอะไรหลายๆอย่างไปเลย
อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะอาการ “สมองเบลอ” อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราหันมาดูแลสุขภาพกันให้มากขึ้นกว่าเดิม
แม้ว่าสมองของคนเราจะมีน้ำหนักเพียง 2% ของน้ำหนักร่างกาย แต่อวัยวะที่มีน้ำหนักเพียง 2% นี้ กลับต้องการออกซิเจนไปเลี้ยงถึง 20% ของออกซิเจนที่สูดหายใจเข้าไป โดยการเข้าไปนั้นจะมีเลือดเป็นตัวพากลูโคสและออกซิเจนที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญเข้าไปเลี้ยงสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (Prefontal cortex) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด ความจำ ซึ่งถ้าเราทำงานหนัก ต้องใช้ความคิดมากๆ แต่ได้รับอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาการสมองล้า เบลอ คิดอะไรไม่ออก สมองไม่แล่น ความคิดความอ่านช้า จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้
เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอาการสมองล้า เบลอ ต้องเริ่มต้นปฏิบัติการ รีเฟรชชิ่ง ...สมอง โดยเริ่มจากอาหารบำรุงสมอง การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากช่วยให้ร่างกายเราเจริญเติบโตแล้ว ยังช่วยบำรุงให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
...
สารอาหารที่มีผลต่อการทำงานของสมอง มีตั้งแต่ กรดไขมัน ช่วยสร้างเซลล์ประสาทในการรับรู้ กรดอะมิโน จากโปรตีน ใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาท กลูโคส จาก คาร์โบไฮเดรตเป็นเชื้อเพลิงสำคัญกับสมองในการสร้างพลังงาน ธาตุเหล็ก และวิตามินบี ช่วยเสริมสร้างให้สมองโลดแล่น มีความคิดเฉียบคม และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยามที่อ่อนเพลีย
นอกจากนี้ ยังมีสารประกอบในกลุ่ม ไบโอ-อะมิโน เปปไทด์ คอมเพล็กซ์ ที่มีงานวิจัยยืนยันว่าช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานสมอง โดยสารเหล่านี้อาจมีในอาหารเสริม หรือซุปไก่สกัด ที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองช่วยให้เลือดสามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ การคิด ตัดสินใจได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ซุปไก่สกัด มีผลช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้จดจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้นในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีภาวะเครียด วิตกกังวลสูง เหนื่อยล้า
นอกจากอาหารแล้ว การรีเฟรชชิ่งสมองยังอาจทำได้โดยการจัดระบบและพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น ถ้ารู้สึกว่ามีอาการสมองล้าควรอยู่ห่างจากงานสักพัก เพราะถ้าคุณเหนื่อยแล้วยังฝืนที่จะใช้งานสมองหนักเกินไป อาจเกิดภาวะสมองว่างเปล่า คิดอะไรไม่ออก ต้องปล่อยให้สมองว่าง โล่งๆ เป็นการพักสมองก่อนจึงค่อยกลับมาทำงานอีกครั้ง จะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดื่มน้ำเยอะๆ น้ำเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย การดื่มน้ำจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้เลือดและสมอง คนที่ดื่มน้ำน้อยบางครั้งนอกจากสมองล้าแล้ว ยังมีอาการปวดกระบอกตาร่วมด้วย การดื่มน้ำนอกจากจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการคิดให้เฉียบคม ฉับไวมากขึ้น
สมองที่ตึงเครียด บางครั้งอาจต้องการการออกไปพักผ่อนเช่นเดียวกับร่างกาย เมื่อรู้สึกมีอาการสมองล้า ความคิดตื้อๆ อาจต้องออกไปเดินเล่น สูดอากาศดีๆภายในนอกอาคาร ฟังเพลงบรรเลง หรืออาจจะหยิบกระดาษขึ้นมานั่งวาดรูปเล่นๆแบบไม่ต้องมีการวางแผน จะช่วยให้อาการล้าของสมองดีขึ้นได้
สำคัญที่สุดคือ การจัดสรรเวลา ทุกวันเราใช้ชีวิตไปกับการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา จนร่างกายและสมองถูกใช้งาน
ตลอดทั้งวัน ที่บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย สมองล้า เบลอ เพื่อไม่ให้ชีวิตดูยุ่งยากยุ่งเหยิง ต้องวางแผนและจัดระเบียบชีวิตให้มีความสมดุล ลดความตึงเครียดในแต่ละวัน รวมถึงต้องมีเวลาให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง อาจหากิจกรรมสนุกๆ ที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เช่น เรียนทำขนม ดูหนัง ฟังเพลง หรือหาวิธีฝึกสมองให้ไว ให้เรามีทักษะใหม่ๆอยู่เสมอ เช่น เรียนภาษา เล่นเกมครอสเวิร์ด เกมซูโดกุ เพื่อพัฒนาสมองให้ฉลาด ฉับไวอยู่เสมอ
...
อีกกิจกรรมที่มีผลต่อการทำให้สมองคลายความอ่อนล้าได้มาก ก็คือ การออกกำลังกาย ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีกิจกรรมที่ต้องบอกว่าเนือยนิ่ง เคลื่อนไหวน้อย เช่น เล่นเกม แชตออนไลน์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เสียสุขภาพโดยไม่รู้ตัว ถ้าต้องการให้ร่างกายและสมองฟิตพร้อมอยู่เสมอ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ เดินวิ่ง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มระดับออกซิเจนในสมองและกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ทำให้สมองสดใส ร่างกายกระปรี้กระเปร่า หน้าตาสดใสขึ้นด้วย
สุดท้ายคือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการชาร์จพลังให้กับตัวเอง มีการศึกษาพบว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการนอนก็คือ ระหว่าง 22.00-02.00 น. เพราะเป็นช่วงที่สมองหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินทำให้นอนหลับสนิทขึ้น ข้อเสียของการนอนน้อยคือ ง่วงนอน เบลอแต่เช้านี้ ซึมเซาตลอดทั้งวัน อารมณ์ปรวนแปร หงุดหงิดง่าย มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างช้าลง และอาจหลับในโดยไม่รู้ตัว หากมีพฤติกรรมนอนน้อยสะสมเรื่อยๆ จะส่งผลเสียในระยะยาว ระบบภายในร่างกายจะแปรปรวนและสูญเสียสมดุล โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการจดจำที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานลดลงไปด้วย
...
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่มักละเลย เราจึงพบว่าทุกวันนี้ อัตราการป่วยด้วยโรคสมองล้าเส้นเลือดสมองตีบและตัน มีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวัยที่อายุน้อยลง
ถึงเวลารีเฟรชชิ่งสมองกันแล้ว...!!!