เว็บไซต์ Medical News Today เผยแพร่งานวิจัยว่าด้วยความเชื่อมั่นต่อวัคซีน หรือ Vaccine Confidence Project โดยทีมวิจัยจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine (LSHTM) เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกว่าทำไมถึงมีกลุ่มคนที่ไม่มั่นใจในการ

ฉีดวัคซีน ตีพิมพ์ในวารสาร EBio Medicine เมื่อไม่นานมานี้ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 66,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลก พบว่า 41% ของคนฝรั่งเศส 36% ของคนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 28% ของคนรัสเซีย 27% ของคนมองโกเลีย 25% ของคนกรีซ ญี่ปุ่น และยูเครน มีความคิดว่าการฉีดวัคซีนไม่น่าจะปลอดภัย และส่วนหนึ่งมีทัศนคติเชิงลบต่อการฉีดวัคซีน

ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างบังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอาร์เจนตินา มีคนเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่คิดว่าการฉีดวัคซีนไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียง

กับอินโดนีเซีย คือ 3% ไทย 6% ที่มีความเชื่อว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย โดยถ้าแบ่งเป็นภูมิภาคหรือทวีป พบว่า 15.8% ของคนยุโรปมีทัศนคติเชิงลบต่อการฉีดวัคซีน ขณะที่ในเอเชียคนที่ไม่มั่นใจต่อการฉีดวัคซีนมีเพียง 4.4% เท่านั้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ใช้ตัวชี้วัดใหม่ที่มีมาตรฐานเข้มงวดเพิ่มขึ้นในการตรวจประเมินหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐด้านวัคซีนของประเทศไทย (WHO Benchmarking of the National Regulatory Authority of Thailand) โดยมีสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลดังกล่าว

...

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการของประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมคุณภาพวัคซีนก่อนจำหน่ายและการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันในคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งการตรวจประเมินที่ผ่านมาผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินเกณฑ์มาตรฐานครบทุกตัวชี้วัดตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2549

“ทั่วโลกมีห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพภาครัฐด้านวัคซีนเพียง 12 แห่ง ที่ตรวจวิเคราะห์วัคซีนให้กับองค์การอนามัยโลก โดยห้องปฏิบัติการสถาบันชีววัตถุเป็นห้องปฏิบัติการหนึ่งเดียวในประเทศอาเซียน และเป็นหนึ่งในสองห้องปฏิบัติการในเอเชียที่เป็น WHO Contracted Laboratory หรือห้องปฏิบัติการอ้างอิงให้กับองค์การอนามัยโลก” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกและว่า การที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับคัดเลือกให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนให้กับองค์การอนามัยโลกนั้น ทำให้หลายประเทศเชื่อมั่นในศักยภาพ มีการส่งเจ้าหน้าที่มารับการอบรมกับสถาบันชีววัตถุ เช่น ประเทศจีน อิหร่าน เนปาล มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ภูฏาน และบังกลาเทศ และได้รับเชิญให้ไปฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยควบคุมกำกับภาครัฐในต่างประเทศด้วย

คุณหมอสุขุม บอกด้วยว่า การผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศ ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกยอมรับในศักยภาพของประเทศไทยในการควบคุมรุ่นการผลิตวัคซีนและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนขององค์การอนามัยโลกให้กับองค์การสหประชาชาติ เพื่อใช้ในประเทศยากจน

“การมีมาตรฐานในระดับโลกและระดับสากล ทำให้ประเทศไทยสามารถดูแลคุณภาพวัคซีนที่นำเข้ามาใช้กับคนในประเทศเราได้อย่างทัดเทียมมาตรฐานประเทศที่เจริญ รวมถึงหากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน หรือยาชีววัตถุเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศผู้ใช้ เป็นการผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรมผู้ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง” คุณหมอสุขุมย้ำ

ทั้งนี้ การที่ประชาชนไม่มั่นใจในคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของวัคซีน ส่วนหนึ่งมาจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน IBP e-lot release เป็นแอปพลิเคชันใหม่ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน โดยแอปพลิเคชันนี้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้าไปตรวจสอบว่าวัคซีนที่ส่งมาตรวจสอบคุณภาพนั้นอยู่ในขั้นตอนใด มีความคืบหน้าในการตรวจประเมินไปถึงระดับใด

...

“เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน IBP e-lot release มาแล้ว เวลาต้องการที่จะตรวจสอบข้อมูลวัคซีน ผู้ใช้สามารถนำเลขรับรองรุ่นของวัคซีนมาค้นหาในแอปพลิเคชันได้เลย โดยระบบจะแสดงข้อมูลประกอบด้วย ชื่อผลิตภัณฑ์ หมายเลขรุ่นการผลิต ผู้ผลิต ผู้นำเข้า วันผลิต และวันหมดอายุ เพื่อจะได้มั่นใจว่าวัคซีนที่ได้รับมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง” คุณหมอสุขุมให้ข้อมูลพร้อมกับบอกว่า“ผู้ที่สนใจในแอปพลิเคชัน IBP e-lot release และใช้ smart phone ระบบ android สามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชันได้จาก Google Play Store ส่วนระบบ IOS กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาต ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้น และอ่านคำแนะนำในการติดตั้งแอป– พลิเคชันได้จากเว็บไซต์ สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ http://biology.dmsc.moph.go.th/post-view/145”

...

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์แอปพลิเคชันนี้ไปยังผู้รับบริการ ผู้ใช้วัคซีน ผู้จัดซื้อ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพื่อการเข้าถึงข้อมูลวัคซีนที่ได้มาตรฐานสำหรับคนไทยต่อไป.