พระศิวะและพระพิฆเนศ และ พระแม่ปารวตี (พระอุมา)

เมื่อกล่าวถึงพระพิฆเนศ ก็คงจะไม่มีชาวไทยคนไหนไม่รู้จักเทพเจ้าองค์นี้อย่างแน่นอน เพราะเป็นเทพที่ชาวไทยจำนวนมากนับถือศรัทธาในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ หรือเรียกได้ว่าเป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น พระพิฆเนศเป็นเทพองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมใดๆ เพื่อเป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ รวมทั้งพระองค์สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป

รูปลักษณ์และตำนานความเป็นมาของพระพิฆเนศนั้นก็ถือว่าพิสดารยิ่งนัก เพราะอย่างที่ทราบกันว่าพระองค์มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีที่มาครับ แถมยังมีการเล่าขานกันไว้หลากหลายตำนานเสียด้วย แต่จะขอยกตำนานที่เป็นที่มีผู้เชื่อถือมากที่สุดมาเล่าสู่กันฟังเพียงตำนานเดียว คือพระองค์ถือกำเนิดมาจากเหงื่อไคลและแรงอธิษฐานของพระแม่ปารวตีหรือพระอุมาผู้เป็นมเหสีของพระศิวะ แต่ในยามที่เทพองค์น้อยนั้นถือกำเนิดมา เป็นช่วงเวลาที่พระศิวะไม่อยู่ที่เขาไกรลาส พระพิฆเนศจึงไม่เคยรู้จักพระศิวะผู้เป็นบิดาเลย

บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ.
บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ.

...

วันหนึ่งขณะที่พระแม่ปารวตีกำลังสรงน้ำ โดยสั่งให้พระพิฆเนศคอยเฝ้าภายนอกไว้ไม่ให้ผู้ใดบุกรุกเข้ามา ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระศิวะเสด็จกลับมา จึงถูกพระพิฆเนศขัดขวางไว้มิให้ล่วงล้ำเข้าไปด้านใน ทำให้พระศิวะมีโทสะและเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดจนพระพิฆเนศถูกพระศิวะใช้ตรีศูลตัดเศียรขาดสิ้นชีพไป

เมื่อพระแม่ปารวตีทราบเรื่องเข้าก็ทั้งโศกเศร้าและกริ้วเป็นที่สุด พระนางต่อว่าพระศิวะอย่างรุนแรงที่สังหารบุตรชายของนาง พระศิวะเมื่อได้ทราบว่าเด็กที่ตนสังหารนั้นเป็นใครก็รีบหาทางชุบชีวิตให้ฟื้นคืน แต่เนื่องจากเศียรของพระพิฆเนศนั้นไม่เหลืออยู่แล้ว องค์ศิวะจึงส่งตรีศูลออกไปหาศีรษะอื่นมาต่อให้ทันแก่กาล และศีรษะที่ได้กลับมานั้นก็อย่างที่เราท่านทราบกันละครับ ว่าคือหัวของช้าง!

หลังจากคืนชีพให้พระพิฆเนศแล้ว พระศิวะยังได้ประทานพรให้ด้วยว่า ในการประกอบพิธีทั้งหลายทั้งปวง จะต้องมีการทำพิธีบูชาพระพิฆเนศก่อน เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิผลของพิธีการนั้นๆ

พระพิฆเนศ.
พระพิฆเนศ.

พระพิฆเนศแม้จะเป็นเทพในร่างวัยเยาว์ แต่ก็มีพลังอำนาจล้นเหลือ แม้แต่เหล่าอสูรและเทวดายังยำเกรง และที่สำคัญทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก ดังเช่นตำนานตอนหนึ่งที่ว่า คราหนึ่งพระนางปารวตีได้นำผลมะม่วงมาถวายพระศิวะหนึ่งผล แต่ปรากฏว่าโอรสทั้งสองคือ พระคเณศและพระขันฑกุมารโอรสองค์โต อยากกินมะม่วงผลนั้นด้วยกันทั้งคู่ พระศิวะจึงทดสอบสติปัญญาของโอรสทั้งสอง ด้วยบททดสอบว่าหากผู้ใดเดินทางได้รอบโลกครบ 7 รอบและกลับสู่วิมานได้ก่อน โอรสผู้นั้นก็จะได้รับผลมะม่วงไป

พระขันฑกุมารรีบขี่นกยูงพาหนะของตนเหาะออกไปโดยเร็ว แต่พระพิฆเนศกลับเดินประทักษิณรอบพระบิดา 7 รอบ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์ผู้สร้างโลกและทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำประทักษิณรอบพระองค์เจ็ดรอบ ถือว่าเท่ากับได้เดินทางรอบโลกเจ็ดรอบแล้วเช่นเดียวกัน” พระศิวะได้ฟังดังนั้นก็ยินดีในคำตอบและความชาญฉลาดของพระพิฆเนศยิ่งนัก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสติปัญญาอันล้ำเลิศของเทวดาองค์น้อยที่เหล่าเทพและมนุษย์ยอมรับนับถือครับ

ในดินแดนไทยเรานั้น มีการบูชาพระพิฆเนศมาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ เห็นได้จากโบราณวัตถุสมัยขอมที่มีศิลาสลักรูปพระพิฆเนศอยู่ด้วย และในปัจจุบันก็มีการสร้างรูปพระพิฆเนศไว้บูชาตามเทวสถานรวมถึงวัดวาอารามต่างๆมากมาย อาทิ เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ใกล้เสาชิงช้า, วัดเทพมณเฑียร ซึ่งก็อยู่ในละแวกเสาชิงช้าเช่นกัน, วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม, พิพิธภัณฑ์พระคเณศ กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ และแม้แต่หน่วยราชการ เช่น กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยช่างศิลป ก็ได้อัญเชิญภาพพระพิฆเนศมาเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานและสถาบันด้วยครับ

การสักการบูชาขอพรพระพิฆเนศนั้นทุกคนสามารถทำได้ โดยกล่าวกันว่าวันที่จะเริ่มต้นครั้งแรกในการบูชานั้นควรเริ่มในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดี เพื่อถวายตัวเป็นผู้ศรัทธาหรือเป็นลูกศิษย์ของพระพิฆเนศ จากนั้นวันต่อไปก็สักการะตามปกติ จะวันใด เดือนใด หรือเป็นฤกษ์ยามใดก็ถือเป็นมงคลทั้งสิ้น

...

พระพิฆเนศผู้เปี่ยมด้วยปัญญา.
พระพิฆเนศผู้เปี่ยมด้วยปัญญา.

ของที่ใช้ในการบูชาห้ามใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิด ให้ถวายผลไม้ที่สุกแล้วเป็นหลัก เช่น อ้อย น้ำอ้อย นมวัว ขนมโมทกะ (หรือขนมต้มแดง ขนมต้มขาวของไทย) หรือขนมหวานลาดูป ตลอดจนข้าวสาร เกลือ พืช ผัก งา สมุนไพร ธัญพืชและเครื่องเทศก็สามารถใช้ถวายได้

โดยส่วนใหญ่จะเห็นผู้คนที่นับถือพระพิฆเนศรวมตัวกันในเทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ โดยจะทำพิธีกันในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ ในวันนั้นพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศอินเดียและในอีกหลายประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในพิธีจะมีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่จำนวนมากแล้วแห่แหนองค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเลเพื่อส่งเสด็จสู่สวรรค์

...

เป็นเรื่องน่าสนใจนะครับที่พระพิฆเนศได้รับการเคารพบูชาจากผู้คนมากมายหลายชาติหลายศาสนาทั้งๆที่พระองค์เป็นเทพวัยเยาว์เมื่อเทียบกับเหล่าเทพองค์อื่นๆในคติความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดู หากจะสรุปอย่างง่ายๆก็คงเพราะความเชื่อในพลังอำนาจของพระองค์ที่ทรงเป็นเทพแห่งความสำเร็จ และเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง จึงเชื่อกันว่าผู้ที่บูชาพระองค์ก็จะประกอบกิจการทั้งปวงได้สำเร็จลุล่วง

แต่หากมองให้ลึกลงไป เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของพระพิฆเนศนั้นไม่ได้มาโดยง่ายเพียงแค่ใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ประเภทชี้นิ้วครั้งเดียวก็สำเร็จทุกสิ่ง แต่หากมองให้ลึก พระองค์ก็เป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งที่เคยถูกบิดาสังหารด้วยโทสะตั้งแต่การพบกันครั้งแรก และแม้จะได้เกิดใหม่แต่ก็มีรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาด ไม่ได้มีรูปโฉมงดงามอย่างเทพองค์อื่น และในช่วง แรกพระองค์ก็ไม่ได้รับความเคารพจากมวลหมู่เทพ พระองค์ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะได้รับการยอมรับจากเหล่าทวยเทพจนได้กลายมาเป็นปฐเมศ หรือเทพองค์แรกที่ได้รับการเคารพก่อนมวลหมู่เทพอื่นๆ นั่นจึงเป็น เรื่องที่พวกเราต้องจดจำไว้ว่าเมื่อขอพรแล้วต้องลงมือทำด้วย จึงจะประสบความสำเร็จครับ

...

ท่านผู้อ่านที่สนใจอยากรู้เรื่องราวของพระพิฆเนศ ขณะนี้ทางทีวีช่อง 8 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ก็มีการนำเสนอ ซีรีส์ใหม่ล่าสุดจากอินเดีย เรื่อง “พิฆเนศ มหาเทพไอยรา” ซึ่งใช้ทุนสร้างมากกว่า 2,000 ล้านบาท ด้วยการถ่ายทำที่จัดว่าสมบูรณ์แบบที่สุด นอกเหนือไปจากเรื่องราวของมหาเทพผู้ทรงภูมิปัญญาซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษา แล้วยังได้นำเสนอเรื่องราวในแง่มุมที่แตกต่าง คือพระพิฆเนศแม้จะเป็นเทพ แต่พระองค์ก็ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆจึงจะประสบความสำเร็จได้ ซีรีส์เรื่องนี้จึงน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมในการดำเนินชีวิตได้อีกมากครับ.


โดย : รายทาง
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน