ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตขึ้นรวดเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกมากเท่านั้น ทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะมูลฝอย ขยะทางการเกษตร ขยะจากการก่อสร้าง ไปจนถึงขยะจากทะเล สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังบั่นทอนสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
จากข้อมูลสถิติปริมาณขยะของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมสูงถึง 31 ล้านตัน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โรงงาน เขตนิคมอุตสาหกรรม การเร่งขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการเพิ่มกำลังผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า ไทยติดอันดับ 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งแม้เราจะมีความสามารถในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แต่ก็ต้องสูญเสียงบมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงมีการตื่นตัวในแวดวงอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะ และเปลี่ยนขยะให้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง
“อ.จารุพัชร อาชวะสมิต” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกเล่าว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังเป็นเทรนด์งานออกแบบที่น่าจับตามอง โดยหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มใช้กระบวนการจัดการของเสีย ผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design นำวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการผลิตและบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะ และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคต
...
“เมืองไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเก็บของ และไม่ทิ้งของ ในอดีตเรามักเห็นซาเล้งรับซื้อขยะและของเก่า เพื่อนำไปขายต่อให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ แต่ปัจจุบันปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะเหลือทิ้งจากการผลิตมีปริมาณมากจนเกินไป ในฐานะนักออกแบบจึงเล็งเห็นประโยชน์ในการต่อยอด ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล ด้วยการนำขยะเหล่านี้มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย”
อาจารย์คนดังแบ่งปันไอเดียว่า นอกจากขยะจำพวกโลหะ หรือพลาสติก ที่นำกลับไปใช้ใหม่ด้วยตัวเอง อีกกลุ่มขยะที่มีจำนวนมหาศาล และแทบไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ มีที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง หากรู้จักนำแนวคิดด้านการออกแบบวัสดุ ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็จะสามารถชุบชีวิตขยะให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์อีกครั้ง โดยขยะสามารถนำมาสร้างสรรค์ต่อยอดได้ไม่รู้จบ เช่น การนำ “เข็มขัดนิรภัยรถยนต์” ที่ไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม มาสร้างสรรค์เป็น “วัสดุตกแต่งผนังไฮแฟชั่น”, การแปลงขยะการเกษตรสู่โฮมเดคอร์สีสันเจ็บ เพื่อใช้ตกแต่งบ้าน ผนัง และประดับโต๊ะอาหาร แม้แต่ “มุ้งลวด” ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ก็สามารถสร้างสรรค์ใหม่เป็น “กระเป๋ามุ้งลวดปักลาย” มีลวดลาย 3 มิติ นุ่มฟู...ถือเป็นการคิดนอกกรอบ ที่ช่วยแก้ปัญหาขยะทะลักโลกได้อย่างน่าชื่นชม.
...