วันก่อนไปเที่ยววัดต่างๆ ที่อยุธยา โดยมีเพื่อนที่มีลูกแล้ว พาลูกไปเที่ยวด้วย แถมยังเห็นพ่อแม่คนอื่นๆพาลูกจูงหลานไปเดินเล่นตามวัดวาอาราม ก็รู้สึกประทับใจ ว่าพ่อแม่เดี๋ยวนี้เอาใจใส่บุตรหลาน และกระตือรือร้นอยากให้ลูกๆเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเรา ด้วยการท่องเรือเที่ยวชมบรรยากาศทางน้ำโดยมีไกด์ทัวร์ของท้องถิ่นเล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ในอดีตให้นักท่องเที่ยวได้รับฟังถือเป็นการเพิ่มพูนความรู้มากทีเดียว
ทันใดนั้นก็มีสามี-ภรรยาพูดขึ้นว่า เวลาจะสอนลูกเรื่องประวัติศาสตร์ เราก็แค่พาเค้ามาเที่ยวจังหวัดนั้นๆ แล้วหาไกด์ทัวร์ช่วยอธิบายความเป็นมาของโบราณสถานได้ แต่ถ้าจะสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ นี่สิหาคนสอนให้แทนพ่อแม่ไม่ได้ เลย....โอะโอ แล้วพ่อแม่คนไหนจะให้ใครมา สอนลูก (เด็กเล็ก) เรื่องการเก็บเงิน, การออมทรัพย์ รวมทั้งการใช้เงินละเนี่ย
พูดถึงเรื่อง การสอนบุตรหลานเกี่ยวกับเรื่องการเงิน, การใช้สตางค์ไปจนถึงการเก็บออมทรัพย์สินแล้ว หลายท่านเชื่อว่า คุณแม่จะเป็นผู้ที่สอนลูกได้ดีที่สุด แต่บางครอบครัวขอบอกเลยว่า คุณพ่อต่างหากที่สอนเรื่องพวกนี้ให้ลูกได้ดีกว่า
เอาเป็นว่า หาก พวกคุณเป็นพ่อแม่ที่อยากสอนลูกเรื่องเงินในกระเป๋าตลอดจนคุณค่าของเงิน ละก็ ลองทำอย่างนี้กันไหม เช่น 1.เมื่อลูกของคุณอยู่ในช่วงอายุที่เข้าโรงเรียนได้แล้ว แต่ไม่ใช่ชั้นเตรียมอนุบาลหรืออนุบาลนะ เพราะยังเล็กเกินไปนิด เอาเป็นว่า ถ้าลูกอยู่ในชั้นเรียนประมาณ ป.1-ป.2 ละก็ ถือเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อยแล้ว คุณจึงควรให้เงินเค้าไปบริหารการใช้จ่ายในโรงเรียนจำนวนหนึ่งได้แล้ว เช่น ถ้าให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 20 บาท ก็ลองปล่อยให้เค้าจัดการเรื่องเงินดูก่อนว่า เค้าจะนำเงินไปทำอะไรบ้าง?
...
กระนั้นเด็กๆวัยตัวน้อยตัวนิดนี้ เชื่อว่าคงได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนนะ ดังนั้นเมื่อลูกยังเล็กบางครอบครัวก็อาจให้เงินลูกติดตัวไว้บ้าง แต่บางบ้านก็ไม่ให้ อันนี้ก็แล้วแต่ละกัน
ถ้าพ่อแม่จะรอจนกว่าลูกเรียนชั้น ป.3-ป.4 แล้วค่อยให้เงินเค้าไปโรงเรียนก็ตามสบาย เพราะสิ่งที่อยากแนะนำ คือ ลองให้เงินลูกไปบริหารค่าใช้จ่ายรายวันของเค้า นั่นเอง เพื่อดูสิว่า วันวันนึง เค้าจะใช้เงินซื้ออะไรบ้าง? 2.ในเมื่อลูกยังใช้เงินไม่เป็น พ่อหรือแม่ควรให้คำแนะนำเค้า ว่า ถ้าเค้าได้เงิน 20 บาทไปโรงเรียน ถ้าหิวอาจซื้อขนมทานได้ 10 บาท ส่วนที่เหลืออีก 10 บาทควรเก็บมาใส่กระปุกออมสินไรงี้
3.พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะสอนลูกให้รู้เรื่องการใช้เงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถ้าปล่อยให้โต เด็กจะยิ่งเรียนรู้ยากขึ้น แล้วอาจเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือยก็ได้ แถมพ่อแม่ยังได้พูดคุยกับลูกด้วย.
คนสมถะ