ทุกวันนี้ เราสามารถมองเห็นพื้นที่เกือบทุกส่วนของโลกใบนี้ได้ไม่ยากจากภาพถ่ายดาวเทียม มีการคิดค้นโครงการ “โบราณคดีจากอวกาศ” โดยการนำภาพถ่ายจากดาวเทียมมาใช้ในการวิเคราะห์หาแหล่งโบราณคดีที่อาจจะยังไม่ถูกค้นพบ ประกอบกับใช้ในการตรวจสอบหากิจกรรมของเหล่าโจรที่มักจะขุดค้นหาสมบัติในแหล่งโบราณคดีต่างๆทั่วโลก
เทคโนโลยีช่วยให้มนุษยชาติค้นพบแหล่งโบราณคดีที่สาบสูญได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้บรรยากาศของความตื่นเต้นในการผจญภัยเข้าไปหานครลึกลับเฉกเช่นในอดีตค่อยๆจางหายลงไปด้วยเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยโดยเฉพาะภาพถ่ายจากดาวเทียมนั้นจะเปิดเผยบรรดาสารพัดแหล่งโบราณคดีที่สาบสูญให้นักโบราณคดีเห็นได้โดยง่ายเสมอไปหรอกครับ เพราะภาพถ่ายดาวเทียมที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดีอย่างกูเกิล เอิร์ธ (Google Earth) ก็ดี หรือกูเกิลแม็ป (Google Map) ในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นก็เป็นเพียงแค่ “ภาพ” ที่ถ่ายลงมาจากมุมสูงเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการทะลุทะลวงลงไปถึงระดับผิวดินแต่อย่างใด ซึ่งถ้าแหล่งโบราณคดีหรือนครโบราณเหล่านั้นปรากฏให้เห็นในพื้นที่โล่งแจ้งอย่างชัดเจนโดยไม่มีหมู่แมกไม้หรือสิ่งใดมาบังเอาไว้ ภาพถ่ายดาวเทียมย่อมต้องเปิดเผยให้เห็นถึงกลุ่มโครงสร้างนั้นๆโดยง่ายอยู่แล้ว
ด้วยข้อจำกัดตรงนี้นี่ล่ะครับที่ยังเป็นความหวังของกลุ่มคนที่หลงใหลในการออกค้นหาขุมทรัพย์ในตำนานและนครที่สาบสูญ เพราะลองจินตนาการถึงภาพถ่ายดาวเทียมของผืนป่ารกชัฏในประเทศกัวเตมาลาหรือเม็กซิโก อันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรมายาดูสิครับ คุณผู้อ่านคิดว่าป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลผืนนี้จะซุกซ่อนความลับเอาไว้มากมายขนาดไหนกัน? คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนสัปดาห์นี้จึงขอพาแฟนานุแฟนออกสำรวจผืนป่าเขียวขจีไปพร้อมๆกันเลยครับ
...
เพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรส ผู้อ่านทุกท่านจะลองหยุดพักสายตาตรงนี้แล้วเปิดกูเกิลแม็ปขึ้นมาดูพื้นที่ของประเทศเม็กซิโกและกัวเตมาลาประกอบไปด้วยก็ได้นะครับ ลองค้นหาชื่อเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง “ติกัล” (Tikal) หรือ “ปาเลงเก” (Palenque) แล้วลองซูมออกมาดูบรรยากาศโดยรอบของเมืองโบราณสิครับ ท่านจะพบว่านอกจากกลุ่มอาคารโบราณสถานที่มีเพียงแค่กระจุกเล็กๆแล้ว พื้นที่โดยรอบนั้นมีแต่ป่าสีเขียวเข้ม มองผ่านภาพถ่ายดาวเทียมแล้วไม่ทราบเลยว่ามันมีอะไรซุกซ่อนอยู่ใต้ดงป่าเหล่านั้นบ้าง ถ้าจะทราบให้แน่ชัดก็คงต้อง “ถางป่า” ทั้งหมดออกไปเสียก่อน ซึ่งเราคงไม่สามารถทำได้ แต่ทราบกันไหมครับว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สามารถ “ลบ” ผืนป่าอันไม่พึงประสงค์นี้ออกไปได้แบบง่ายๆ!!
เทคโนโลยีที่ว่านี้มีชื่อว่า “ไลดาร์” (LiDAR) ครับ
หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อเทคโนโลยีไลดาร์กันมาบ้างแล้ว เพราะเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 ก็เคยมีการใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้เพื่อค้นหาเมืองโบราณในประเทศกัมพูชาใกล้บ้านเรามาก่อนแล้วด้วยเช่นกันครับ และผลลัพธ์ของการตรวจด้วยไลดาร์ ณ ประเทศกัมพูชาในครั้งนั้น ก็ทำให้ได้เห็นว่ามีเมืองโบราณของอาณาจักรขอมที่น่าจะมีอายุราวๆ 900 ถึง 1,400 ปีก่อนยังคงซุกซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ห่างจาก “นครวัด” ไปเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้นเอง แถมเมืองที่ว่านี้ยังมีขนาดใหญ่เกือบจะเทียบเท่ากับเมืองพนมเปญในปัจจุบันเลยทีเดียว
ว่าแต่เจ้าไลดาร์นี้คืออะไร ทำไมมันถึงมีความสามารถที่น่าทึ่งถึงเพียงนี้ จริงๆแล้วไลดาร์นั้นเป็นชื่อย่อมาจากคำว่า “Light Detection And Ranging” หมาย ความว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่จะตรวจจับแสงและระยะ หรือก็คือเลเซอร์สแกนพื้นที่ที่ทำงานคล้ายๆกับค้างคาวตอนออกล่าเหยื่อนั่นล่ะครับ อุปกรณ์ไลดาร์นี้จะติดตั้งขึ้นไปกับเครื่องบินหรืออาจจะเป็นเฮลิคอปเตอร์แล้วให้บินผ่านภูมิประเทศที่ต้องการจะทำการสแกน มันจะวัดระยะทางของเป้าหมายด้วยแสงเลเซอร์ที่ส่งออกไป และวัดสัญญาณที่สะท้อนกลับมา หลังจากนั้นก็จะคำนวณความแตกต่างของระยะเวลาและความยาวคลื่นเพื่อนำมาสร้างเป็นภาพสามมิติของภูมิประเทศ และด้วยว่าเลเซอร์ของไลดาร์นั้นไม่ได้สะท้อนที่ผิวของต้นไม้หรือใบไม้ ดังนั้น มันจึงทะลุผืนป่าลงไปยังพื้นดินได้ทันที นั่นจึงหมายความว่าภาพสามมิติที่ได้ออกมาจากการประมวลผลของไลดาร์นั้นจะไม่มีผืนป่ามากวนใจเลยน่ะสิครับ!!
...
ดังนั้น เมื่อหันกลับไปมองผืนป่าของประเทศกัวเตมาลาและเม็กซิโกอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรมายาโบราณ เชื่อสิครับว่าคงจะมีเมืองโบราณคล้ายๆ กับที่ค้นพบด้วยไลดาร์ในกัมพูชาซ่อนตัวอยู่อีกมากมายมหาศาล ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เลยนำเอาเจ้าเทคโนโลยีไลดาร์มาติดตั้งกับอากาศยานแล้วบินถ่ายภาพเหนือผืนป่าเหล่านี้เสียเลย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจากการบินถ่ายภาพเหนือพื้นที่กว่า 2,100 ตารางกิโลเมตร ได้เปิดเผยให้เห็นถึงกลุ่มอาคารลึกลับกว่า 60,000 แห่งใต้ผืนป่าเขียวขจีที่นักโบราณคดียังไม่เคยรู้จักมาก่อนน่ะสิครับ!!
ใช่แล้วครับ ไม่ได้พิมพ์ตัวเลขผิดหรือพิมพ์เลข 0 เกินมาแต่อย่างใด แหล่งข้อมูลต้นทางอย่างเช่น เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของโครงการสำรวจป่าของอารยธรรมมายาโบราณด้วยไลดาร์ก็ได้ให้ตัวเลขของโครงสร้างที่ค้นพบจากภาพสามมิติเอาไว้ที่ “หกหมื่น” เช่นกันครับ โดยที่ในช่วงต้นปี ค.ศ.2018 นั้น ทีมสำรวจได้ส่งเครื่องบินขึ้นถ่ายภาพเหนือพื้นที่ป่าเพียงแค่ประมาณ 2,100 ตารางกิโลเมตรก่อน (จากทั้งหมด 14,000 ตารางกิโลเมตร) โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 10 บริเวณหลัก ครอบคลุมแถบเพเตน (Peten) ของประเทศกัวเตมาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครที่โด่งดังในยุคคลาสสิก (Classic Period) ที่รุ่งเรืองอยู่ในช่วงปี ค.ศ.250 จนถึงปี ค.ศ.900 อย่าง “ติกัล” ไปจนถึงนครที่อาจจะไม่ได้โด่งดังมากนักอย่าง
...
โฮลมุล (Holmul) วิตซนา (Witzna) และนครชื่อเรียกยากอย่าง “ชมาคาบาตูน” (Xmakabatun) ซึ่งผลลัพธ์จากไลดาร์ได้เปิดเผยให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วชาวมายาโบราณที่รุ่งเรืองอยู่เมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อนนั้น มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมมากกว่าที่นักโบราณคดีในปัจจุบันเคยเสนอกันมากมายนัก เรียกได้ว่าชาวมายาโบราณควรจะมีความเจริญรุ่งเรืองใกล้เคียงกับชาวกรีกหรือไม่ก็จีนโบราณเลยทีเดียวล่ะครับ
ก่อนหน้านี้ ด้วยว่าแนวความคิดแบบดั้งเดิมของชาวตะวันตกมักจะเสนอว่าชนโบราณจากดินแดนโลกใหม่ (New World) เช่นชาวมายาโบราณนั้นไม่น่าจะมีความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมอันสูงส่งขึ้นมาได้ในพื้นที่เขตร้อนของโลก (Tropics) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของประเทศกัวเตมาลาและเม็กซิโก ทำให้ในอดีตชนโบราณแห่งอเมริกากลางเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า “คนเถื่อน” หรือไม่ก็เป็นพวก “อนารยชน” ด้วยมีพิธีกรรมการบูชายัญอันโหดร้ายที่มักจะมีเลือดและการเซ่นสังเวยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
แต่หลังจากที่การขุดค้นทางโบราณคดีเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เราทราบว่าชาวมายาโบราณไม่ใช่คนเถื่อนอย่างที่คิด พวกเขามีความสามารถหลากหลายทั้งทางด้านวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ พวกเขารู้จักเลขศูนย์ รู้จักดวงดาวมากมายบนท้องฟ้า มีการคำนวณที่สลับซับซ้อนของระบบปฏิทินไปจนถึงการคำนวณวงโคจรของดวงดาวโดยเฉพาะดาวศุกร์ที่พวกเขานับถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสงคราม
...
พวกเราทราบว่าในยุครุ่งเรืองที่นักโบราณคดีเรียกขานว่ายุคคลาสสิกนั้น ชาวมายาโบราณสร้างเมืองกระจัดกระจายอยู่กลางผืนป่ารกชัฏของเม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เบลีซและเอลซัลวาดอร์ แต่ละเมืองมีการรบพุ่งทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างถนน เพื่อติดต่อค้าขายระหว่างกัน ชาวมายาโบราณไม่มีสัตว์ใหญ่ที่จะใช้ลากจูงเพื่อขนย้ายก้อนหินขนาดยักษ์ ทว่าพวกเขาก็สามารถรังสรรค์วิหารและพีระมิดองค์มหึมาขึ้นมาได้หลากหลายแห่ง
ภาพจากไลดาร์เผยให้เห็นว่าภายใต้เงาไม้สีเขียวชอุ่ม ซึ่งนักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ตั้งของหนองบึงและไม่น่าจะมีชนกลุ่มใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ได้นั้น แท้ที่จริงแล้วมีหลักฐานของโครงสร้างอาคารดึกดำบรรพ์ปรากฏให้เห็นกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งบริเวณ ทำให้เดิมทีที่เคยเสนอกันว่าชาวมายาโบราณในยุครุ่งเรืองน่าจะมีประชากรเพียงแค่ราว 5 ล้านคนนั้น ตอนนี้ตัวเลขล่าสุดที่มีการเสนอกันหลังจากได้เห็นภาพอาคารจากไลดาร์ก็คือราวๆ 10 ถึง 15 ล้านคนเลยทีเดียวล่ะครับ!!
นอกจากนั้นภาพสามมิติแบบไร้ซึ่งผืนป่ามากวนใจได้เผยให้เห็นว่านครของชาวมายาโบราณแต่ละแห่งนั้นเชื่อมต่อกันด้วยทางหลวงขนาดใหญ่แบบยกพื้นสูง ซึ่งเดาได้เลยครับว่าในอดีตจะต้องเคยมีกองคาราวานสินค้า หรือไม่ก็ชาวมายาโบราณจากเมืองต่างๆสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น นอกจากนั้นทางหลวงนี้ยังได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ชนิดที่ว่าในช่วงหน้าฝนที่มักจะเกิดอุทกภัยได้ง่ายๆนั้น ทางหลวงสายนี้ก็ถูกยกให้สูงจนสามารถใช้สัญจรระหว่างเมืองได้สบายๆ แถมยังมีหลักฐานว่าชาวมายาโบราณมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีเยี่ยม เพราะมีการค้นพบภาพโครงสร้างของสิ่งที่ดูคล้ายคูคลอง เขื่อนและบ่อกักเก็บน้ำด้วยเช่นกัน
เท่านั้นยังไม่พอนะครับ เพราะว่าจากอาคารร่วม 60,000 แห่งที่ค้นพบนี้ นักโบราณคดียังเห็นสิ่งที่ดูคล้ายกำแพงเมือง เชิงเทินและป้อมปราการ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงภาพของสงครามในดินแดนของชาวมายาโบราณได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าสงครามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่อารยธรรมมายาโบราณจะล่มสลายเท่านั้นหรอกครับ ทว่ามันมีการรบเกิดขึ้นประปรายตลอดช่วงประวัติศาสตร์หลายพันปีของชาวมายาโบราณ และการรบแต่ละครั้งก็กินเวลานานเอาการทีเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่นักโบราณคดีให้ความสนใจจากสภาพภูมิประเทศที่ได้จากไลดาร์ก็คือพื้นที่ว่างโล่งที่ชาวมายาโบราณไม่ทำกิจกรรมอะไรบนนั้นเลยนี่แหละครับ เพราะในปัจจุบันเรามักจะไปใส่ใจกับอาคารอย่างวิหารหรือพีระมิด แต่ในมุมมองของนักโบราณคดีแล้ว พื้นที่ที่ชาวมายาโบราณจงใจไม่นำมาใช้ประโยชน์ก็น่าจะสื่อความหมายบางอย่างที่ควรค่าแก่การศึกษาเช่นกันครับ
โครงการสแกนผืนป่าของกัวเตมาลาวางแผนเอาไว้ว่าในสามปีนี้จะตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดราว 14,000 ตารางกิโลเมตร แต่ลองจินตนาการดูเล่นๆสิครับว่า แค่นักโบราณคดีทำการสแกนพื้นที่ไปเพียง 2,100 ตารางกิโลเมตร ผลลัพธ์ที่ได้ยังเปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อชาวมายาได้มากขนาดนี้ ถ้าการสแกนพื้นที่ทั้งหมดเสร็จสิ้น และทำการลงพื้นที่สำรวจผืนป่าพร้อมทั้งตีความพื้นที่กันอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ (มีการเสนอกันว่าน่าจะใช้เวลาศึกษากันนานเป็นร้อยปีเลยล่ะครับ) เชื่อสิครับว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง ตำราประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชาวมายาโบราณคงจะต้องถูกนำออกมาปัดฝุ่นแล้วนั่งเรียบเรียงเขียนใหม่กันยกกระบิอย่างแน่นอนเลยล่ะครับ.
โดย : ชัค บาห์ลัม
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน