พี่แคมปัส จะพาไปดูการพิทักษ์น้ำอย่างยั่งยืน ด้วยพลังจากเยาวชนไทย โครงการดีๆ ที่หลายคนอาจไม่สนใจ แต่เรื่องราวครั้งนี้ อาจไม่ใช่เช่นนั้น กับจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเด็กนักเรียน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีความคิดอยากจะพัฒนาแหล่งน้ำรอบโรงเรียนให้สะอาด และสามารถทำได้สำเร็จ ต่อมาขยายผลออกสู่ชุมชนเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสเพื่อโลกของเรา ด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้ "โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ" แห่งแรกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา โดยโครงการนี้เกิดจากการจับมือเป็นพันธมิตร ระหว่างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ WWF ประเทศไทย เพื่อปลูกจิตสำนึกนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องของการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณชุมชนอย่างยั่งยืน
...
"ลูก้า คิโอด้า" ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า เรามีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการดูแลทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “เยาวชนพิทักษ์สายน้ำ” ที่ร่วมมือกับ WWF ประเทศไทย จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำรอบๆ โรงเรียนแก่นักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งพัฒนาคนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้พิทักษ์น้ำ ซึ่งยังจัดกิจกรรมอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้ต่อยอดโครงการฯ จากโรงเรียนสู่ชุมชน ด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้ “โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการอนุรักษ์น้ำในโรงเรียนชุมชน เพราะเราเล็งเห็นว่า โรงเรียนชุมชนเป็นศูนย์กลางสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำ ให้กับคนในชุมชนในวันนี้และอนาคต พร้อมถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในเรื่องของการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดของน้ำไปจนถึงการดูแลคุณภาพน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคตเพื่อโลกของเรา
ด้าน "เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์" ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย กล่าวว่า เราดำเนินกิจกรรมให้ความรู้เรื่องของการอนุรักษ์น้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยศูนย์การเรียนรู้ “โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ” ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนคลองขนมจีน เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเครือข่ายของโครงการ “เยาวชนพิทักษ์สายน้ำ” ว่าอยากมีนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อเผยแพร่โครงการฯ และแสดงผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อปรับปรุงทรัพยากรน้ำภายในโรงเรียน พร้อมให้ความรู้คนทั่วไปในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดการดูแลรักษาสายน้ำให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จเมื่อโรงเรียนและชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้
...
น้องเต๊าะ-ปนิดา กาวมาตุ อายุ 18 ปี ตัวแทนจากโรงเรียนสาคลีวิทยา กล่าวว่า "หนูเป็นแกนนำนักเรียนของโครงการฯ ตั้งแต่ปี 1 เลยค่ะ หนูช่วยเผยแพร่ความรู้ให้น้องๆ และขยายเครือข่ายสู่เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ สำหรับศูนย์การเรียนรู้ฯ ในวันนี้ เป็นการขยายเครือข่ายสู่ชุมชนด้วยการสร้างศูนย์นิทรรศการ ตอนแรกที่เสนอไปคิดว่าศูนย์การเรียนรู้จะเป็นแค่ศาลาเล็กๆ ที่มีป้ายติดมอบความรู้ และเราไปยืนเล่าเรื่องราวที่เราได้ทำมา แต่พอได้เห็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดตัววันนี้ หนูว่าสวย และยังมีสถานีต่างๆ กับเกมต่างๆ ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีต ว่าเมื่อก่อนน้ำเป็นอย่างไร แล้วมาย้อนดูในปัจจุบันนี้ หนูรู้สึกดีมากที่พี่ๆ ทำให้เราขนาดนี้ หนูก็อยากเชิญชวนให้คนในชุมชนใกล้เคียง และโรงเรียนใกล้เคียงเข้ามาดูศูนย์การเรียนรู้กันค่ะ"
...
ทั้งนี้ ภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 4 สถานี คือ
สถานีที่ 1 น้ำจืดอยู่หนใด
เป็นสถานีที่ให้ความรู้เรื่องของต้นกำเนิดของแหล่งน้ำจืดซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าน้ำที่นำมาใช้อุปโภคและบริโภคมีน้อยกว่า 1% เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงควรเริ่มอนุรักษ์น้ำตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังมีน้ำสะอาดไว้ใช้อย่างเพียงพอ ต่อด้วย
...
สถานีที่ 2 อดีต ปัจจุบัน คลองขนมจีนสายน้ำแห่งชีวิต
เป็นการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของคลองขนมจีน จากอดีตที่น้ำเป็นเหมือนชีวิตของชุมชนขนมจีน ทั้งเรื่องการกิน ใช้ และสัญจรของประชากรทั้งสิ้น 66,700 คนจาก 6 ตำบล ซึ่งมีจำนวนบ้านเรือนกว่า 24,606 ครัวเรือน แต่เมื่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไปก็อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำได้ คนเราจึงควรตระหนักถึงการดูแลใส่ใจแหล่งน้ำ หลังจากเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของสายน้ำ
สถานีที่ 3 โซ่อาหาร และสายใย
ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพ เพราะความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำทำให้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ที่พึ่งพาอาศัย หากน้ำเน่าเสีย หรือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนหายไป ก็ทำให้สายพันธุ์อื่นได้รับผลกระทบเช่นกัน
สถานีที่ 4 โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ
ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักต่อหน้าที่ของการดูแลสายน้ำเพื่อปลูกจิตสำนึกของเยาวชนและคนทั่วไปให้หันมาอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีสถานีพิเศษ ซึ่งเป็นการแสดงโครงงานที่ต่อยอดจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ และได้นำไปปฏิบัติจริง ได้แก่ ผลงาน "กังหันสวย กรองน้ำใส" จากโรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) และ "เครื่องตีน้ำ" โรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล และภายในโรงเรียนสาคลีวิทยา ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ "โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ" ก็มีผลงานที่โดดเด่น ทั้งการเปลี่ยนคุณภาพแหล่งน้ำรอบโรงเรียน จากน้ำเสียเป็นน้ำใส โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน จนต่อยอดไปเป็นโรงเรียนต้นแบบ ให้กับโรงเรียนอีกหลากแห่งในพื้นที่ รวมถึงชุมชนรอบข้าง โดยได้พัฒนาพื้นที่โรงเรียนกว่า 33 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 5 จุด ประกอบด้วย กระชังปลาและกระชังกุ้งฝอย กระชังหอยขม โรงเพาะเห็ด บ่อสายบัว และบ่อแพผัก จนสามารถนำผลผลิตที่ได้มาประกอบอาหารให้เด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนได้รับประทานเป็นอาหารกลางวัน รวมถึงนำไปขาย สร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนด้วย.