นับตั้งแต่มีการเปิดเสรีทีวีดิจิทัล เมื่อปลายปี 2556 อุตสาหกรรมโทรทัศน์เมืองไทยก็ต้องเผชิญวิบากกรรมถาโถมไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางสงครามแย่งชิงเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาผู้ประกอบการจำนวนมากยอมยกธงขาวทิ้งสมรภูมิรบในสภาพเลือดอาบ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนกลับกลืนเลือดแบกรับต้นทุนมหาศาล และตั้งหน้าตั้งตาผลิตรายการคุณภาพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าของดีจริงครองความเป็นเบอร์หนึ่งไว้ได้ ยังไงๆก็เอาชนะใจคนดูยุคใหม่ โกยทั้งเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา

หนึ่งในคนทำทีวีมือเก๋าที่เลือกดับเครื่องชนเพื่อวัดใจคนดูยุครักง่ายหน่ายเร็ว คือ เจ้าพ่อเรียลลิตี้โชว์เมืองไทย “หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” บิ๊กบอสแห่งค่ายเฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป ผู้ร่วมปลุกปั้นรายการปฏิบัติการล่าฝัน “อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย” เมื่อ 14 ปีก่อน จนฮิตฮอตทั่วประเทศ และเป็นเรียลลิตี้โชว์เรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของยุค เขาพิสูจน์ให้เห็นว่า ในขณะที่คนทำทีวีครึ่งค่อนวงการต้องเก็บกระเป๋าหนีตายไปตั้งหลักไกล รายการคุณภาพอย่าง “เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย”, “มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์” และ “มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์” กลับทำเรตติ้งไล่บี้ละครหลังข่าว ขายโฆษณาได้นาทีละเป็นแสน!!

...

เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมทีวีเมืองไทย ทำไมเราเผชิญวิกฤติหนักกว่าชาวโลก

ปัจจัยแรกคือเศรษฐกิจไม่ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภคน้อยลง ทำให้แอดเวอร์ไทเซอร์ไม่มีงบมาลงโฆษณา ปัจจัยที่สองมาจากการเกิดแบบไม่คุมกำเนิดของทีวีดิจิทัล ถ้าเปิดประมูลมาร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วเจ๊งครึ่งหนึ่งถือว่าศึกษาพอสมควร แต่ถ้าเปิดประมูลร้อยช่อง แล้วเหลือรอดแค่ 10-20% แสดงว่าคุณทำธุรกิจพัง!! ทั้งๆที่ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมทีวีเมืองไทยกำลังเฟื่องมาก ทุกคนแข่งกันพัฒนาตัวเอง มีรายการเมืองนอกเข้ามาเต็มไปหมด แต่พอเกิดวิกฤติทีวี ผู้ผลิตทุกเจ้าก็ต้องเซฟคอสต์เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด นั่นแสดงว่าการพัฒนาของวงการทีวีไม่มีเลย คงเหลือแค่ไม่กี่บริษัทที่พยายามกัดฟันสู้ต่อ แต่พูดได้เลยว่าส่วนใหญ่กำลังหนีตาย ปัจจัยที่สามที่มีอิทธิพลสูงคือ การเติบโตของสื่อออนไลน์ เด็กรุ่นใหม่ดูทีวีเป็นเซ็กกันสกรีน แต่ใช้

มือถือเป็นเฟิสต์สกรีน คำถามคือพอคนดูมือถือเยอะกว่าทีวี ทำให้เกิดการแชร์เรตติ้งไปยังจออื่นๆ ที่ไม่ใช่ทีวี ส่งผลให้กระแสการซื้อโฆษณาต่อสปอตลดลงตามเรตติ้งที่ต่ำลง ภาพรวมของทุกรายการเรตติ้งต่ำลงหมด อุตสาหกรรมทีวีจึงดร็อปลง ส่วนปัจจัยที่สี่ที่ฉุดให้อุตสาหกรรมทีวีดิ่งลงคือ การเกิดขึ้นของธุรกิจออนไลน์ ซึ่งต้องการทำมาร์เกตติ้งผ่านช่องทางออนไลน์ กลุ่มนี้ไม่ใช่ทาร์เก็ตซื้อโฆษณาทีวี แต่เมื่อธุรกิจออนไลน์ขายดี ก็ไปกินส่วนแบ่งการตลาดของโปรดักส์ใหญ่ เงินจึงเหลือน้อยมีงบโฆษณาน้อยลง

พีกสุดเคยขายโฆษณาทีวีได้นาทีละเท่าไหร่

สมัยก่อนพีกสุดทำได้นาทีละ 400,000 บาท ตอนนี้ก็ยังทำได้อยู่นะ (ยิ้ม) เมื่อธุรกิจทีวีเป็นแบบนี้ก็ต้องถามผู้ผลิตว่าจะเดินทางไหน ผู้ผลิตมีสองประเภท ประเภทแรกคือหนีตายก่อน บีบต้นทุนให้ต่ำที่สุด ผมก็เคยคิดจะทำแบบนี้ แต่ไม่ทำ!! เพราะสุดท้ายมันก็เป็นการกินเนื้อตัวเอง เราผลิตรายการห่วยๆออกไป คนดูที่ไหนจะดูรายการของเรา!! ผมเป็นประเภทที่สองที่กัดฟันสู้ต้องเป็นเบอร์หนึ่งให้ได้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมเริ่มโพซิชันนิ่งตัวเองชัดเจนหันมามุ่งผลิตรายการอาหารเป็นหลัก ช่วงนั้นไม่มีบิ๊กฟอร์แมตรายการอาหารเลย ผมเห็นโอกาสว่ามีสปอนเซอร์อาหารเยอะมากจึงมุ่งไปที่การทำรายการอาหาร โดยเริ่มซื้อลิขสิทธิ์รายการ Iron Chef ของญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 พอเปิดรายการปุ๊บ ออกอากาศทางช่อง 7 สินค้าอาหารเกือบทุกอย่างมาซื้อโฆษณากับเราหมด ช่วงนั้นเป็นช่วงพีกมาก รายการเราออนแอร์ชั่วโมงครึ่ง ขายโฆษณาเต็มทั้งรายการ 20 นาที นาทีละ 400,000 บาท จ่ายลิขสิทธิ์ปกติตอนละ 3-4 พันดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นปีเดียวก็มีการเปิดประมูลทีวีดิจิทัล ทำให้เมืองไทยมีทีวี 48 ช่องภายในชั่วข้ามคืน

หลังอุตสาหกรรมทีวีเข้าสู่ยุคเปิดเสรี ต้องวิ่งสู้ฟัดขนาดไหนเพื่อชิง เรตติ้ง และโฆษณา

ในขณะที่คนอื่นประหยัดต้นทุนทุกทาง ผมสู้ด้วยการอัดเงินลงทุนโปรดักชันให้ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อให้เกิดเรตติ้ง และครองความเป็นเบอร์หนึ่ง เฉพาะรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันเดียว 13 ตอน เราลงทุนไป 70 กว่าล้านบาท เป็นเม็ดเงินเยอะมาก แต่ก็มีกำไรไม่ขาดทุน มีเชฟดังๆแจ้งเกิดจากเราหลายคน เช่น เชฟเอียน, เชฟบุญธรรม, เชฟชุมพล และเชฟป้อม สาเหตที่กล้าลงทุนขนาดนี้เพราะเชื่อว่ารายการคุณภาพไม่มีอะไรฟรี จะทำของดีทำให้ถูกๆเป็นไปได้ยาก และคนดูยุคนี้ไม่ได้โง่!!

...

จึงเลือกลงทุนกับสตูดิโอ เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ มาสเตอร์เชฟมีเกมเยอะ ก็ต้องใช้เม็ดเงินเนรมิตให้ฟอร์แมตใหญ่ แต่ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน ทำให้ยอดขายโฆษณาต่อสปอตสูงตามเป้า และถึงอุตสาหกรรมทีวีโดยรวมจะดร็อปลง แต่เราก็ยังยึดรายการอาหารเป็นหลัก เพราะมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่เหลืออีกเยอะ โดยกลางปีที่แล้ว เพิ่งซื้อลิขสิทธิ์รายการอาหารมาเสริมทัพคือ รายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันจากทุกอาชีพ เราสามารถปั้นให้มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์เป็นรายการอาหารที่ทำเรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 7.5

...

อะไรคือหัวใจของความสำเร็จในการทำรายการทีวี

หัวใจสำคัญของรายการทีวีอยู่ที่โปรดักชันและครีเอทีฟ คือโปรดักชันต้องออกมาดูดีไม่ขี้เหร่ ถ่ายออกมาต้องดูดี ทั้งแสงสีเสียง ส่วนครีเอทีฟคือเราจะทำรายการยังไงให้คนดูว้าวจับทางไม่ได้ ทำยังไงให้คนดูมีอารมณ์คล้อยตาม และสำคัญสุดคือเรื่องรสนิยม

เคยถ่ายไปรื้อไป ยกกองทิ้ง เผาเงินเป็น ล้านๆบ้างไหม

(ยิ้ม) ผมต้องไปคุมเองทุกครั้ง และตัดต่อเองทุกตอน เราพยายามถ่ายรายการให้ดีที่สุด มีอยู่ครั้งหนึ่งรู้สึกว่าถ่ายยังไงก็ไม่สวย ดูแข็งมาก ผมเลยสั่งให้เอากล้องถ่ายหนัง 10 กว่าตัว มาถ่ายรายการทีวี วันนั้นทิ้งไปเลยทั้งตอน หมดเงินไป 3 ล้านบาท!! เพราะกล้องถ่ายหนังสวยจริง แต่เก็บภาพเคลื่อนไหวไม่ทัน

...

ธุรกิจทีวีคือการเผาเงินทิ้งทุกวัน จริงหรือเปล่า

ทุกธุรกิจก็เผาเงินหมดนะ ถ้าทำไม่จริงจัง!! ผมทำวงการนี้มาพอสมควร แต่บางครั้งเดาทางผิด เคยทำรายการไปแค่ 8 ตอน ต้องถอนตัวก็มี เพราะเรตติ้งไม่ได้ สปอนเซอร์ไม่เข้า แต่ละตอนต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นล้าน ตรงกันข้ามถ้าเราตีโจทย์แตก ทำด้วยความเข้าใจ รักในสิ่งที่ทำจริงๆ ศึกษาอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่ามีช่องว่างของมันอยู่ ที่จะแทรกตัวขึ้นมาทำเรตติ้งได้

คนดูยุคนี้เรื่องมากขี้เบื่อ เปลี่ยนใจง่าย จะแก้โจทย์นี้ยังไง

ผมว่าทุกธุรกิจอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ยิ่งเป็นอุตสาหกรรมทีวียิ่งต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น เพราะมีคู่แข่งเยอะ คนทำทีวีต้องมีความแปลกใหม่ตลอดเวลา รายการทีวีที่ซื้อเข้ามาแล้วว้าวๆ ก็คงอยู่ไปได้ไม่กี่ซีซัน หรือถ้าอยู่มายาวนานแล้ว ทำยังไงให้คงอยู่ไปได้อีก ก็ต้องปรับเปลี่ยนรายการให้น่าสนใจตลอด อย่างเชฟกระทะเหล็กอยู่มาได้ 6 ปี ถือว่ายาวที่สุดในโลกแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังขอบคุณเรา ผมมองว่าทีวีเป็นงานอาร์ต จึงไม่เชื่อเรื่องทำเซอร์เวย์ตลาด ถ้าในมุมของคนทำรายการทีวี จะมองเทรนด์จากต่างประเทศว่ามีรายการไหนเป็นท็อปเทนโลก แล้วมาดูว่าอันไหนมีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย และเอามาปรับใช้ให้ถูกจริตคนไทย

อะไรคือเสน่ห์และความท้าทายของการทำธุรกิจทีวี

ผมชอบธุรกิจทีวีเพราะชอบคิดให้มันมีอะไรใหม่ๆตลอดเวลา ชอบดูรายการใหม่ๆของต่างประเทศ ความสนุกสำหรับผมคือ เมื่อเราคิดอะไรออกมาแล้วคนชอบ ทำให้ภูมิใจ ขณะเดียวกันถ้าเรตติ้งสูงเราได้สตางค์เราก็สนุกกับมัน ถ้ารายการโคตรดีเลยแต่ไม่ได้สตางค์ ผมก็ไม่ทำ มีที่ไหนของดีทำแล้วไม่ได้สตางค์

ชีวิตนี้เคยพลาดหนักๆบ้างไหม มีอิ่มตัวถึงขั้นคิดวางมือไหม

พลาดแล้วกลับมาไม่ได้เลย ก็ตอนทำรายการหนึ่ง ทำแค่ 8 ตอน แล้วต้องปิด!! ส่วนรายการที่พลิกตัวกลับมาได้คือเชฟกระทะเหล็ก ตั้งแต่ตอนเปิดรายการแรกๆ เราตีโจทย์ผิดว่าคนไทยชอบเอนเตอร์เทน มีดาราเยอะๆมากกว่าจะดูการคุกกิ้งจริงจัง พอทำเสร็จปั๊บรู้เลยว่าเราดูถูกคนดู คนดูไม่ได้โง่!! เราโดนด่าเละตั้งแต่เทปแรก เรตติ้งก็ไม่ได้ บ้านผมติดอยู่ในแบงก์ ถ้าเกิดขายโฆษณาไม่ได้ บ้านต้องโดนยึด ถ่ายไปแล้ว 4 ตอน ก็ต้องพลิกเกมโดยตัดต่อใหม่ เอาดาราทิ้งหมด และเน้นเชฟแทน กระแสด่าเบาลง พอถึงตอนที่ 5 เราถ่ายใหม่หมดเปลี่ยนรูปแบบเลย โดยเอาเชฟมาเพิ่มขึ้น สามารถพลิกจากเรตติ้ง 1 กว่า ขึ้นเป็น 3.5 ภายในเวลา 4 อาทิตย์ ที่จริงผมคิดไว้ว่าอยากเลิกทำงานแล้วไปบวช ตอนนี้ทำเพราะมีภาระ แต่ไม่อยากทำงานไปจนตาย เพราะเชื่อว่าตอนตายจิตสุดท้ายทำให้เราไปเกิดในภพภูมินั้น ถ้ายังทำงานอยู่แล้วตายตอนนี้ ผมต้องไปอยู่ในนรกชัวร์ๆ ผมอยากเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ปีนี้อายุ 49 แล้ว ถ้าวางมือได้ก่อนอายุ 55 ก็ถือเป็นบุญ.

ทีมข่าวหน้าสตรี