การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพในยุคนี้ พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ให้ลูกๆ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสมอง ก่อนที่ลูกๆ จะเข้าสู่วัยแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียน เรื่องกินของลูกจึงเป็นเรื่องใหญ่ในทุกช่วงวัยที่พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจ จากข้อมูลวิจัยด้านโภชนาการล่าสุด เด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ Thailand MICS 2015-2016 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การยูนิเซฟ พบว่าเด็กไทยมีความผิดปกติในด้านโภชนาการคือ พบภาวะเด็กเตี้ยแคระแกร็นของเด็กไทยสูงที่สุด 13% อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ ภาวะน้ำหนักเกิน สูงสุด 11% ก็อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ เช่นเดียวกับภาวะน้ำหนักน้อย
...
ทำไมอัตราที่สูงมากของภาวะทุพโภชนาการจึงเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ อาจเป็นเพราะในช่วงวัยเตาะแตะ (24-36 เดือน) คุณแม่จะโฟกัสในเรื่องพัฒนาการ เช่น เริ่มพูด เริ่มเดิน เริ่มวิ่ง เริ่มมีวิธีคิดแก้ปัญหา ส่วนเรื่องโภชนาการ วัยเตาะแตะกระเพาะเล็กนิดเดียว เคี้ยวได้ไม่ละเอียด ระบบย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหารของร่างกายยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพฤติกรรมการกิน เช่น กินยาก เลือกกิน อมข้าว เคี้ยวแล้วคายทิ้ง กินไปเล่นไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนการกินอาหารในปริมาณที่วัยเตาะแตะต้องการในแต่ละวัน ส่วนหลักง่ายๆที่จะช่วยให้การจัดโภชนาการที่สมดุลและครบถ้วนให้วัยเตาะแตะได้รับสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองสมวัยก็คือ “หลักการฮีโร่และผู้ช่วย” ที่ต้องทำไปพร้อมกัน ฮีโร่คือ อาหารหลัก 5 หมู่ จัด 3 มื้อต่อวัน เช้า-เที่ยง-เย็น ส่วนผู้ช่วยฮีโร่คือ อาหารว่างระหว่างมื้อจัด 2 มื้อต่อวัน ช่วงสายก่อนมื้อเที่ยงและช่วงบ่ายก่อนมื้อเย็น เช่น นมรสจืด 1 แก้วกับกล้วยลูกเล็กๆ เป็นต้น นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเสริมและเติมโภชนาการที่วัยเตาะแตะควรจะได้รับในแต่ละวันได้ครบ.