“ในส่วนสวนโสภา เป็นวนาพฤกษอุทยาน สมบูรณ์ตามมาตรฐาน ทั่วพิภพจบธราดล แบ่งส่วนเป็นสวนย่อย ไม้ ฤ ใช่น้อยมิปะปน สวนปาล์มสวนไม้สน สวนสมุนไพรและไม้สี อีกสวนไม้หายาก หาลำบากกว่าจะได้มี สวนไม้ในวรรณคดี สวนสุมาลีสุคนธา ยังสวนไม้เบญจพรรณ สารพัดพฤกษโสภา มวลไม้ ‘มะ’ นานา เช่นมะค่าโมงมะพลับไพร นอกนี้มีสวนป่า ซึ่งจะมีมาสมัยใด คลางแคลงไม่แจ้งใจ ไม้มิอาจนับอเนกอนันต์ มวลไม้ในสวนนี้ มากชนิดมีประมาณพัน ป้ายชื่อบอกรู้กัน อักขราไทยและลาติน”
บทนิพนธ์อันไพเราะนี้ ประพันธ์โดยคุณ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้สถาปนา มูลนิธิเสวตร-โสภา องค์กรที่ดูแลสวนพฤกษชาติโสภาที่เราจะไปชมกัน ดังนั้น จึงควรทำความรู้จักท่านผู้สร้างสรรค์สวนนี้ไว้ก่อนสักนิดนะครับ
คุณเสวตรเป็นชาวระยอง เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2452 เรียนหนังสือเก่ง สามารถจบเนติบัณฑิตที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่ออายุเพียง 22 ปี และต่อมาก็สำเร็จปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของจังหวัดระยองครั้งแรกในปี พ.ศ.2489 จากนั้นก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระยอง ติดต่อกันถึง 8 สมัย เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ฯลฯ ท่านถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 10 ตุลาคม 2545 สิริรวมอายุได้ 93 ปี
...
แม้จะเป็นนักการเมืองผู้ประสบความสำเร็จ แต่คุณเสวตรก็มีความรักในบทกวีและอุทิศเวลาส่วนหนึ่งให้กับงานนิพนธ์ อาทิ แต่งสุภาษิต “หนักก็เอาเบาก็สู้” แต่งคำฉันท์เรื่อง “วีรชน” และ “รักนิรันดร์” ตลอดจน “สวนโสภาคำกลอน” ดังที่ยกบางตอนมาไว้เบื้องต้นนั่นแหละครับ
ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณเสวตรมีอารมณ์โรแมนติกจนกลั่นออกมาเป็นนิพนธ์อันไพเราะได้ก็คือ คุณ โสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ ภริยาสุดที่รักและคู่ชีวิตยาวนานของคุณเสวตรนั่นเอง
และด้วยเหตุที่คุณโสภาเป็นบุตรีของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คือ ท่าน ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้เป็นทั้งนักประพันธ์วรรณกรรมและผู้แต่งเพลงละครเวทีอันลือลั่นในอดีต อาทิ กุหลาบในมือเธอ บ้านไร่นาเรา ศรอนงค์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติไทยฉบับที่ 5 (ใช้ช่วงปี 2475-2477) ซึ่งแต่งทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ อีกด้วย
ดังนั้น จึงแน่นอนว่าคุณโสภาผู้เป็นเชื้อสายของท่านขุนวิจิตรมาตราจึงได้รับสืบทอดสายเลือดกวีมาด้วย และเมื่อได้สมรสกับคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ทั้งสองท่านจึงได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะเอาไว้มากมาย
หนึ่งในผลงานนั้นได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “ทะเลรัก” สร้างในปี 2496 จากบทประพันธ์ของขุนวิจิตรมาตรา (นามปากกา “กาญจนาคพันธุ์”) กำกับการแสดงโดยเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ออกแบบฉากและจัดเครื่องแต่งกาย โดยโสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ประจำปี 2560 นี้เอง
ด้วยความรักและชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน คุณเสวตรและคุณโสภาจึงได้สะสมวัตถุโบราณหรือ “ของเก่า” โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา มีตั้งแต่ของจีน สุโขทัย จนถึงยุครัตนโกสินทร์ และเมื่อมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี ท่านก็ได้เก็บสะสมไว้หลายชิ้นด้วยกัน
ซึ่งศิลปวัตถุโบราณล้ำค่าเหล่านี้ก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ที่เรือนไทยที่เรากำลังจะกล่าวถึง
เรือนไทยที่สวนโสภานั้น ได้รื้อถอนมาจากเรือนไทยโบราณอายุราว 150 ปี ในแถบภาคกลาง แล้วจ้างช่างชาวอยุธยามาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่สวนนี้ในราวปี 2520 เมื่อนำโบราณวัตถุมาจัดตั้งแสดงก็เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เรือนไทยพร้อมกันกับสวนพฤกษชาติโสภา โดยมี ฯพณฯ องคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ.2523 เพื่อให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาวัฒนธรรมและพืชพรรณของไทยเรา ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเสวตร-โสภา และก็มีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมตลอดเวลานับแต่นั้นมา ผู้ชมท่านหนึ่งได้เขียนให้ความเห็นในเน็ตว่า
...
“ผมไประยองเพื่อไปดูบ้านหลังนี้แหละ เป็นบ้านไทยที่มีเสน่ห์มาก เป็นของคุณเสวตร และคุณโสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ อยู่แถวบ้านเพ เป็นทางเดียวกับไปท่าเรือที่ข้ามไปเกาะเสม็ด ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับบ้านทรงไทยของ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ซอยสวนพลู มีข้อแตกต่างบ้างบางประการ แต่ล้วนมีเสน่ห์น่าหลงใหลทั้งคู่...”
อ่านแล้วก็ต้องไปค้นหาเรื่อง “ตำนานเรือนไทยในซอยสวนพลู” ที่คุณชายคึกฤทธิ์เขียนไว้ในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” นสพ.สยามรัฐ ฉบับ 1 พ.ค. 2534 ซึ่งท่านรจนาไว้บางตอนดังนี้
“...บ้านไทยนั้นขึ้นต้นด้วยการขุดหลุมตามจำนวนเสาที่จะต้องใช้ และหลุมนั้นค่อนข้างจะกว้าง เมื่อขุดหลุมเสร็จก็เอาเสาลงใส่ไว้ แต่ยังไม่กลบ รอให้เอาฝาและเครื่องบนต่างๆใส่ให้เข้าที่กันก่อน ตามที่ช่างที่ปรุงบ้านเขาทำสลักเอาไว้ ในการนี้ก็ต้องขยับเขยื้อนเสาให้เข้ากับฝาบ้าน และส่วนอื่นๆของบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงยังกลบเสาไม่ได้ ต่อเมื่อทุกอย่างเข้าที่ดีแล้วจึงได้ลงมากลบเสาที่โคนให้แน่นหนาต่อไป
การปลูกบ้านของผมก็เป็นไปในทำนองนี้ อาศัยแบบโบราณทั้งสิ้น ทั้งบ้านไม่มีตะปูเลยแม้แต่ดอกเดียว เพราะของเก่านั้นทำสลักไม้มาเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องใช้ตะปู แต่บังเอิญช่างที่ทำนั้นเป็นคนสมัยนี้ คุ้นกับตะปู ผมดูหน้าเห็นไม่สู้จะสบายใจนัก ผมก็เลยอนุญาตหาที่ลึกลับให้ตอกตะปูได้ดอกหนึ่งลงไปในบ้านนี้ เพื่อให้เป็นที่สบายใจของชาวสมัยใหม่ ตะปูดอกนั้น ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่...”
...
และ “เมื่อผมปลูกเรือนเพิ่มเติมจากเรือนหลังใหญ่ขึ้นอีกสองหลังดังนี้ ผมก็ต้องต่อนอกชานให้แล่นถึงกันเป็นธรรมดา และนอกชานก็เป็นนอกชานที่กว้างขวางเอาการอยู่ ตั้งต้นหมากรากไม้ได้มาก เพราะผมเป็นคนชอบเล่นต้นไม้อยู่แล้ว และในขบวนวรรณคดีไทยนั้นผมอ่านเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ไม่จบ เพราะได้ใจตรงคำพรรณนาเรื่องต้นไม้และดอกไม้บนนอกชานของขุนช้างนี้...”
คำพรรณนาที่คุณชายพูดถึงนั้นคือคำรำพันที่นาง วันทอง คร่ำครวญอาลัยต้นไม้ เมื่อจะต้องจากไปกับ ขุนแผน และครูดนตรีไทยท่านนำไปใส่ไว้ในเนื้อเพลงไทยเดิม “แขกลพบุรี” ที่มีท่อนต้นว่า “ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ทั้งเกตุแก้วพิกุล ยี่สุ่นศรี จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี จำปีเอ่ยสักกี่ปีจะมาพบ...”
เรือนไทยที่สวนโสภาก็มี 3 หลังกับนอกชานกว้างขวางเช่นกัน (คำว่า “หลัง” นั้น หมายถึงห้องต่างๆที่อยู่บนระเบียงเดียวกันนั้น) แน่นอน บนนอกชานก็มีกระถางต้นไม้ตั้งวางเรียงรายอยู่ และเมื่อมองจากชานเรือนออกไปก็จะแลเห็นมวลไม้นานาพรรณเขียวขจีอยู่บนพื้นที่ 30 กว่าไร่ ดังคำฉันท์ “ในสวนขวัญ” ที่คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ นิพนธ์ไว้ด้วยความรักต้นไม้ บางตอนมีดังนี้ครับ
“นานาผกาพรรค์ พิศวรรณะชวนชม
ส่งกลิ่นประทิ่นฉม สุวคนธปนกัน
กาหลงและจำปี มะลุลีลดาวัลย์
คัดเค้ากะพ้อจันทร์ มะลิซ้อนสะอาดสี
ซ่อนกลิ่นกุหลาบคั่น มะลิวัลยราตรี
นางแย้มประยงค์มี รสฟุ้งจรุงใจ ฯ”
ครับ ถ้าอยากจะเห็นและดมกลิ่นอันจรุงใจเหล่านี้ก็ต้องไปทัศนาด้วยตนเองที่สวนพฤกษชาติโสภา พร้อมกับเยี่ยมชมเรือนไทยที่มี “ของเก่า” ตั้งแสดงให้ชมไว้หลากหลายตระการตา ดังตัวอย่างภาพที่นำมาลงไว้อันเป็นบางส่วนเพียงน้อยนิด
...
มูลนิธิเสวตร-โสภา ได้ทำการบูรณาการเรือนไทยและพรรณไม้ทั้งหมด โดยมีการติดชื่อและคำอธิบายไว้ที่ต้นไม้กับสิ่งที่ตั้งแสดงจนเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ แล้วทำพิธีเปิด “สวนพฤกษชาติโสภา” ขึ้นอีกครั้ง โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นาย สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานี้เอง และเปิดให้พี่น้องชาวไทยเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยเก็บค่าบำรุงสถานที่ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท มีโบรชัวร์สวยงามแจกประกอบครับ
สวนพฤกษชาติโสภา ตั้งอยู่ใกล้ตลาดบ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ไปเที่ยวภาคตะวันออกเมื่อไหร่ก็หาเวลาแวะเยี่ยมชมนะครับ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันพฤหัสบดี ตั้งแต่ 09.00-16.30 น. เพียงผ่านประตูเข้าไปก็จะได้ยินเสียงเพลงไทยเดิมต้อนรับเสนาะโสตอย่างยิ่งเลยครับ.
โดย : อุดร จารุรัตน์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน