พระผงสี่เหลี่ยมเนื้อปูนปั้น...ชุดตระกูลสมเด็จ ที่เรียกกันว่า พระสมเด็จฯนั้น เรียกกันตามอย่างพระสมเด็จฯ ของ สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง หากจะว่ากันโดยหลักความจริงแล้ว นอกจากวัดระฆัง บางขุนพรหม เกศไชโยแล้ว

การเรียกตามฐานะว่า พระสมเด็จ ได้เต็มปาก คือสมเด็จอรหัง ที่สร้างโดยสมเด็จสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ อีกวัดเดียว

เรื่องสมเด็จอรหัง “ตรียัมปวาย” เขียนไว้ใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จฯ ว่า สมเด็จสังฆราชสุก ท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2363 สมัยที่ถูกย้ายจากวัดราชสิทธาราม วัดพลับฝั่งธนบุรี มาครองวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ได้ปีเดียว ท่านก็สิ้น

“ตรียัมปวาย” เขียนอีกว่า พระสมเด็จอรหัง ส่วนใหญ่ไม่ได้บรรจุกรุ นอกจากบางส่วนที่มีผู้นำไปบรรจุไว้ ที่วัดสร้อยทอง นนทบุรี ภายหลัง

พระสมเด็จอรหัง เป็นพระเนื้อปูนปั้น มีเนื้อสองชนิด คือ เนื้อขาว ซึ่งจะมีวรรณะค่อนข้างขาว หรือขาวหม่นนวลๆ มีบ้างที่ลงรักปิดทอง

ยังมีเนื้อปูนแดง ที่เจือด้วยปูนกินกับหมาก มีวรรณะชมพู หรือปูนแห้ง (ถ้าสีแดงคล้ำ ครูตรียัมปวายท่านว่า เป็นของปลอม) และมีผิวเป็นฝ้านวลๆ

ศิลปะพระสมเด็จอรหัง เป็นพระปฏิมาพุทธศิลป์สมัยใหม่ เข้าใจว่า สมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่าน ได้รับอิทธิพลสืบต่อมา

ปี พ.ศ.ที่ตรียัมปวาย เขียนตำราพระสมเด็จ วงการพระพบพระสมเด็จอรหังน้อยมาก ท่านเขียนว่ามีสองพิมพ์ พิมพ์ (ใหญ่) ธรรมดาขนาดพระสมเด็จวังระฆัง และพิมพ์จิ๋ว

ด้านหลังพระ มีอักขระขอมจารึกว่า “อรหัง” เป็นที่มาของชื่อสมเด็จอรหัง

ลักษณะอักขระจารึก มีสองแบบ แบบเส้นเป็นร่องลึก ซึ่งเป็นแบบธรรมดา และแบบเส้นเป็นทิวนูน ซึ่งมีน้อย เรียกกันว่า หลังแบบตั้งโต๊ะกัง คล้ายการตีตรานูนขึ้นมาบนเนื้อทองรูปพรรณ

...

วงการพระเครื่องปัจจุบัน พบพระสมเด็จอรหังมากขึ้น ผู้รู้เคยรวมไว้ได้มากถึง 8 พิมพ์ และในจำนวนพระที่พบ บางองค์ ก็หลังเรียบ ไม่มีรอยจาร

สมเด็จสังฆราชสุก ประสูติกาล ณ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ.2276 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เดิมอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม แขวงกรุงศรีอยุธยา

หลังกรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดอาราธนามาครองวัดพลับ แล้วทรงสถาปนาให้เป็นพระราชาคณะที่พระญาณสังวร

ทรงดำริว่าเป็นพระคณาจารย์ผู้ช่ำชองพระกัมมัฏฐาน เป็นที่เคารพสักการะ ทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรม มีเมตตาแก่กล้า ถึงกับเลี้ยงไก่เถื่อนให้เชื่องได้ เสมอด้วยไก่บ้าน ผู้คนถวายพระเกียรตินามว่า สังฆราชไก่เถื่อน

ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์เณร ของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

สมัยเป็นพระญาณสังวร ทรงเป็นพระอาจารย์กัมมัฏฐาน และมหาพุทธาคม ของเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง

พระสมเด็จอรหัง องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์สังฆาฏิ เนื้อขาวละเอียด (ไม่มีกรวดทรายปน) ทุกเส้นสายลายพิมพ์ กระทั่งตำหนิพิมพ์ที่หัวฐานทั้งสองด้าน ถูกต้องตรงกับของแท้มาตรฐาน เส้นจารด้านหลังก็ชัดเจน

คำอรหัง...นอกจากมีความหมายว่า ผู้ไกลกิเลส ยังมีความหมายว่า ผู้ควรแก่ปัจจัย 4 และการบูชาอันวิเศษ...นี่คือรหัสพุทธคุณสมเด็จอรหัง...ใครมีไว้ ถือเป็นโชคลาภเฉพาะตัว.

พลายชุมพล