ปลายเดือนนี้ มีวันสำคัญของโลกคือ วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของวันสำคัญทางศาสนาเช่นนี้ เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องที่มาที่ไปของตำนานการประสูติของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์ของพุทธมหายาน ที่ว่ากันว่าพระองค์ประสูติออกมาจากพระปรัศว์ (สีข้าง) ของพระมารดา ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อของชาวพุทธนิกายเถรวาท ที่ชาวไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน วันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จึงขอพาแฟนานุแฟนไปดูตำนานเรื่องนี้กันครับ
เรื่องการประสูติของพุทธเจ้านั้นก็มีหลากหลายสำนวน จะขอยกมากล่าวกันสักหน่อย เป็นข้อมูลพื้นฐาน เริ่มจากคัมภีร์ที่ทางเถรวาทเชื่อถือว่าเก่าแก่ที่สุด และเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเอง ซึ่งก็คือพระไตรปิฎกนั่นเอง ในคัมภีร์กล่าวถึงการประสูติไว้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้อนี้ ข้าพระองค์ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้จําเอามาแต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า “ดูก่อน อานนท์! หญิงอื่นๆย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง ส่วนมารดาแห่งโพธิสัตว์ หาเป็นอย่างนั้นไม่, มารดาแห่งโพธิสัตว์ย่อมยืนคลอดโพธิสัตว์” ดังนี้.” (อัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร อุปริ. ม.๑๔/๒๕๑/๓๗๒-๓-๔-๕-๖-๗.)
...
จากความข้างต้น พระไตรปิฎกบาลีได้ให้ข้อมูลไว้ว่า พระมารดาของพระพุทธเจ้าทรงคลอดด้วยท่ายืน ด้วยเหตุนี้น่าจะเป็นต้นเค้าให้คัมภีร์รุ่นต่อๆมาและส่งผลให้งานพุทธศิลป์ทั้งหลายให้ภาพพุทธประวัติตอนนี้เป็นท่ายืน แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการคลอดออกมาจากพระปรัศว์แต่อย่างใด และน่าจะยังไม่มีความเชื่อเช่นนี้ในสมัยอินเดียโบราณ เพราะหลักฐานทางศิลปกรรมในช่วงนี้ไม่พบภาพพุทธประวัติตอนประสูติ แม้แต่ท่ายืนคลอดของพระนางสิริมหามายาก็ตาม แต่กล่าวกันว่า ท่าทางของนางยักษิณีเหนี่ยวกิ่งไม้ในสมัยนี้เป็นต้นแบบให้ท่ายืนคลอดของพระนางสิริมหามายาในสมัยต่อมาครับ
ต่อมาเรามาดูคัมภีร์ของฝ่ายมหายานกันบ้างครับ นั่นคือ คัมภีร์มหากาพย์พุทธจริต คัมภีร์ลลิตวิสตระ และคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน อันเป็นกลุ่มคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-9 อันเป็น สมัยที่ต่อมาจากสมัยอินเดียโบราณ คัมภีร์กลุ่มนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พระโพธิสัตว์ทรงประสูติออกมาทางพระปรัศว์ของพระมารดา
“ครั้งนั้น ไม้มะเดื่อต้นนั้น ได้น้อมลงมาคำนับ ด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์ พระนางมายาเทวีจึงเหยียดพระหัตถ์ขวา ปรากฏเหมือนสายฟ้าอันอยู่ในพื้นอากาศยึดกิ่งมะเดื่อแหงนมองอากาศที่มีน้ำฉ่ำ ทรงประทับยืนอย่างชดช้อย ครั้นแล้วนางอัปสร 60 แสนจากสวรรค์ชั้นกามาพจรเข้าไปเฝ้าทำการรับใช้ในที่ใกล้ๆพระนางเทวีในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์พระมารดาประกอบด้วยฤทธิปราติหารยเห็นปานนี้ครั้นครบ 10 เดือนล่วงไป
แล้ว พระองค์ก็เสด็จออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวาของพระมารดา ทรงมีสมฤติสัมปรชานะ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภ์มลทิน (สิ่งสกปรกในครรภ์) ไม่เหมือนคนอื่นบางคนที่เขาพูดถึงครรภ์มลทินของคนอื่น” (ลลิตวิสตระ อัธยายที่ 7 แสง มนวิทูร : แปล)
“ ในวนอุทยานอันงดงามนั้น พระมเหสีของพระราชาทรง ทราบพระประสูติกาลจึงเสด็จเข้าไปสู่พระแท่นบรรทมที่ประดับด้วยเพดาน (หลังคา) โดยมีนางสนมนับพันเฝ้าปรนนิบัติรับใช้จากนั้นขณะที่ดาวนักษัตรชื่อปุษยะ กำลังเปล่งประกาย พระกุมารก็ได้ประสูติจากพระปรัศว์ของพระเทวีผู้ทรงมีพระจริยวัตรอันบริสุทธิ์พระองค์นั้น เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก โดยไม่มีความเจ็บปวดและไม่มีโรคภัย” (มหากาพย์พุทธจริต สรรคที่ 1 สำเนียง เลื่อมใส : แปล)
“...พระนางทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย จึงใช้พระพาหาเหนี่ยวกิ่งไม้ เหยียดร่างพอสบายในขณะที่จะให้กำเนิดพระกุมารผู้ทรงยศ...
...พระโพธิสัตว์ผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ทรงเคลื่อนออกทางพระปรัศว์เบื้องขวา โดยไม่ทำให้พระมารดาเจ็บปวดเลย...” (มหาวัสตุอวทาน สำเนียง เลื่อมใส : แปล)
จะเห็นว่ามหากาพย์พุทธจริตจะมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ พระนางมายาไม่ได้ยืนคลอด กลับคลอดบนพระแท่นแทน แต่จุดสำคัญของคัมภีร์กลุ่มนี้คือ นับเป็นครั้งแรกที่ระบุว่า พระโพธิสัตว์ประสูติออกมาทางพระปรัศว์ ซึ่งพ้องกับงานพุทธศิลป์ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อย่างเช่น ศิลปะคันธาระ และศิลปะมถุรา ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงประสูติออกมาทางพระปรัศว์ ทำให้เชื่อได้ว่าคัมภีร์กลุ่มนี้มีผลต่องานช่างเป็นอย่างสูงและก็คงจะเป็นแบบอย่างในการเขียนพุทธประวัติรุ่นหลังต่อมาอีกด้วย ทั้งของฝ่ายมหายานเองและฝ่ายเถรวาท
...
เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า นอกจากหลักฐานที่เป็นคัมภีร์พุทธแล้ว ยังพบมีบันทึกของบาทหลวงในศาสนาคริสต์ที่เล่าถึงเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้าด้วย ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 เก่าแก่ใกล้เคียงกับกลุ่มคัมภีร์พุทธมหายานข้างต้นเลยทีเดียว
บันทึกนี้มีชื่อว่า “Against Jovinianus” เขียนโดยนักบุญเยโรม (Jerome) มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการประสูติของพระพุทธเจ้าไว้ว่า
“ท่านผู้สถาปนาศาสนาผู้นี้ (พระพุทธเจ้า) ได้ประสูติออกมาจากสีข้างของหญิงพรหมจรรย์” (Against Jovinianus 1.42)
จะเห็นว่านักบุญท่านก็ยังมีความสับสนอยู่เหมือนกันอย่างเรื่องมารดาผู้บริสุทธิ์นั้น ท่านคงจะสับสนกับเรื่องพระแม่มารีหรืออย่างไรไม่ทราบ หรือท่านอาจฟังมาผิด เพราะคัมภีร์พุทธบรรยายว่าพระโพธิสัตว์ประสูติออกมาอย่างบริสุทธิ์สะอาดหมดจด ไม่ใช่พระมารดาเป็นหญิงพรหมจรรย์ แต่บันทึกนี้ก็นับว่าน่าสนใจทีเดียวที่นักบวชในศาสนาคริสต์ให้ความสนใจในเรื่องราวของศาสนาพุทธในยุคต้นๆนี้ด้วย
...
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการบรรยายถึงตำนานการคลอดอันมหัศจรรย์เช่นนี้ ยังมีผู้ที่มีตัวตนในความคิดของชาวอินเดียที่ประสูติออกมาจากพระปรัศว์อยู่อีกคน ซึ่งท่านอยู่มาก่อนพุทธกาลซะอีกครับ
ซึ่งเมื่อพูดถึงการประสูติอย่างพิสดารมหัศจรรย์แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นเหล่าทวยเทพทั้งหลายแล้วล่ะครับ ซึ่งเทพที่มีตำนานการกำเนิดที่หลากหลายที่สุดองค์หนึ่งก็คือ “พระอินทร์” นั่นเอง การกำเนิดของพระอินทร์ถูกบรรยายไว้หลายแบบ ทั้งแบบมีพ่อมีแม่ บ้างก็บอกว่าเกิดจากแม่โค หลังๆถึงขนาดว่าเกิดมาจากปากของปุรุษะเลยก็มี
“พระจันทร์ได้กำเนิดขึ้นมาจากหทัยของพระองค์ จากพระเนตรของพระองค์ พระอาทิตย์จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พระอินทร์และพระอัคนีได้ประสูติออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ และพระวายุได้มาจากลมหายใจของพระองค์” (ฤคเวท 10.90.13)
และมีการกล่าวถึงการกำเนิดอันแปลกประหลาดอยู่ตอนหนึ่งว่า พระองค์ประสูติออกมาทางพระปรัศว์ของพระมารดา ความตอนนี้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์ฤคเวท อันมีความเก่าแก่มากที่สุดในบรรดาคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดีย แน่นอนว่ามีมาก่อนพุทธศาสนาจะกำเนิดเกิดขึ้น ในคัมภีร์ฤคเวท มณฑลที่ 4 สูกตะที่ 18 มันตระที่ 1-3 ระบุความตอนหนึ่งว่า
...
“นี่คือเส้นทางอันเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับ โดยเหล่าทวยเทพผู้ได้กำเนิดขึ้นมาด้วยเหตุนี้ ผู้หนึ่งอาจกำเนิดขึ้นมาแม้ในขณะที่เขามีกำลังอันมหาศาล อย่าได้ปล่อยเขา มิเช่นนั้น เขาจะสังหารมารดาของตน
นี่มิใช่ทางที่ข้าจะออกมา มันยากที่จะผ่านได้ การออกมาทางพระปรัศว์ซึ่งข้าจะทำ หลายสิ่งยังไม่เสร็จสิ้น ข้าจะต้องทำให้สำเร็จ ข้าต้องต่อสู่กับสิ่งหนึ่งและปัญหาอื่นๆ
ท่านได้มองลงบนพระมารดาที่กำลังจะสิ้นลม คำพูดของข้าบัดนี้ได้ถอนไปเสียแล้ว ข้าเดินไปตามเส้นทางนั้น สู่ที่พำนักของพระตวัษฏา พระอินทร์ทรงดื่มน้ำโสมนับร้อยที่ได้รับการคั้นแล้วจากหินบด”
จากประโยคข้างต้นจะเห็นได้ว่า ชาวอินเดียนั้นรู้จักตำนานการกำเนิดเช่นนี้มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพระเวท ซึ่งมีอายุก่อนพุทธกาลราว 2,000-1,500 ปี และการกำเนิดอย่างอัศจรรย์เช่นนี้ ยังพบได้ในตำนานของสังคมอารยันอื่นๆ เช่น กรีกที่ว่าเทพีอธีนาประสูติออกมาจากเศียรของเทพซุสหรือเทพไดโอนิซุสที่ประสูติออกมาจากอูรุ (ต้นขา) ของเทพซุสนั่นเองครับ
การเกิดจากพระปรัศว์จึงไม่ใช่ของใหม่ที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้กับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ หากแต่เป็นเพราะการคลอดเช่นนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความอัศจรรย์สำหรับบุคคลสำคัญอย่างทวยเทพต่างๆ และส่งผลให้พระสงฆ์ในสมัยหลังผู้รจนาคัมภีร์พุทธประวัตินำตำนานเรื่องนี้มาประกอบเข้ากับเรื่องราวของพระพุทธเจ้าอันเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพื่อเสริมสร้างให้พระพุทธเจ้ามีสถานภาพเหนือล้ำขึ้นไปกว่าคนธรรมดา หรืออาจจะตีความได้ว่าเป็นการกลืนความเชื่อเดิมของพราหมณ์ให้เข้ามารวมกับศาสนาพุทธอาจจะเป็นไปได้
จึงอาจกล่าวได้ว่า ตำนานการกำเนิดจากพระปรัศว์เป็นที่รู้จักกันมาก่อนเกิดพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพุทธศาสนาเจริญขึ้นจึงนำความอัศจรรย์นี้มาเสริมให้กับตำนานพุทธประวัตินั่นเองครับ.
โดย : กฤษณ์ บุญช่วย
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน