วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนหันมาดูแลไตกันมากขึ้น ซึ่งวันไตโลกปีนี้ตรงกับวันที่ “8 มีนาคม 2561” ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์โรคไต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของทุกคน จึงไม่ควรรอให้ถึงวันไตโลกแล้วจึงค่อยมาดูแล เราควรเริ่มดูแลไตของเราเสียตั้งแต่วันนี้
รู้จักไต และโรคไต
“ไต” เป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว มี 2 ข้าง อยู่บริเวณเอว ไตมีหน้าที่หลักๆ สำคัญ ดังนี้
• ทำหน้าที่ขับของเสียในร่างกาย ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ทั้งการกิน นอน เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย ทำงาน ใช้ชีวิตประจำวัน ล้วนต้องมีของเสียที่ไตต้องขับออกมา โดยจะขับออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ
• รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
• ควบคุมระดับความดันโลหิต
• กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจาง
หากไตมีความผิดปกติ ไม่สามารถขับของเสียของร่างกายออกทางปัสสาวะได้ คนไข้จะเริ่มมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะบ่อย เท้าบวม ปวดหลัง ปวดเอว ความดันโลหิตสูง ค่าโพแทสเซียมสูง ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะซีด โลหิตจาง เป็นต้น
เมื่อร่างกายเราเจริญเติบโตเต็มที่ ไตก็จะสามารถทำงานอย่างเต็มที่คือ 100 ถึง 120% หากเรามีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคใดๆ ไตก็จะแข็งแรงดี แต่เมื่อเราเริ่มอายุเพิ่มขึ้นทุกวันๆ หรือมีโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การทำงานของไตก็จะค่อยๆ เสื่อมลงไปเรื่อยๆ จากที่เคยปกติดี ก็อาจจะสามารถทำงานได้เพียง 20%, 15% หรือ 10% เท่านั้น นั่นหมายความว่าไตทำงานได้น้อยมาก และไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนเรา เพราะมีของเสียคั่งในร่างกายจำนวนมาก หากไม่รีบรักษา ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด
...
นอกจากนี้ คนเป็นโรคไตก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีก อาทิ
@ โรคหัวใจ เกิดอาการแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะเมื่อมีของเสียคั่งในร่างกายจำนวนมาก ระบบหัวใจก็จะรวนไปด้วย และโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจก็มากขึ้นตามไปด้วย
@ โรคความดันโลหิตสูง เมื่อไตเสื่อมแล้ว ก็จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง หรือคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมานานๆ ก็จะส่งผลให้ไตเสื่อม ซึ่ง 2 โรคนี้เป็นการเกิดโรคที่ซ้ำไปซ้ำมา และจะยิ่งทำให้ไตเสียมากขึ้น
@ เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก เมื่อความดันโลหิตสูงมากๆ ก็มีโอกาสที่เส้นเลือดในสมองจะแตก รวมถึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตมากกว่าคนปกติ 6-7 เท่า
@ โรคเกาต์ คนไข้โรคไตจะมีค่ายูริกสูงกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้มีอาการปวดข้อจากผลึกยูริกไปสะสม นั่นก็คือเป็นโรคเกาต์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จึงต้องรักษาโรคเกาต์ควบคู่ไปด้วย
สาเหตุ
1.การเป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
2.ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดต่างๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs หากใช้ในปริมาณมาก และต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้ไตเสื่อมในเวลาต่อมาได้
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคไต
คนไทยทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2560 คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากถึง 17% อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 15-20% ต่อปี นอกจากนี้โรคไตยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 6 อีกด้วย
คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตในอนาคต รวมถึงคนไข้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไตก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
--------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
นพ.อดิศร ปุทมารักษ์ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล