เรื่องราวดีๆ มีอยู่รอบตัว วันนี้ก็เช่นกัน เราจะพาไปดูเรื่องราวของการนอนหลับ ซึ่งเชื่อว่าคุณๆ อาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่ามี "วันนอนหลับโลก" ด้วย

เราไปฟังเรื่องราวนี้จาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า วันนอนหลับโลก หรือ World Sleep Day 2018 ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม จากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านการหลับจากทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและปัญหาของการหลับ โดยประเทศไทยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 3-10 มีนาคม 2561 ภายใต้คำขวัญ "Join the Sleep World, Preserve Your Rhythms to Enjoy Life : หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง" ด้วยความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และกรมสุขภาพจิต

แล้วคุณๆ รู้หรือไม่? ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า 45% ของประชากรโลก เคยมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการนอน โดยที่ 35% จะเป็นอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ จะมีปัญหาขาดงาน หรือทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาถึง 3 เท่า และการนอนไม่เพียงพอ ยังทำให้การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิในการทำงานต่างๆ ลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาการนอน นอกจากนี้หากนอนหลับไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า 

เมื่อฟังแล้วก็รู้สึกไม่ดี เพราะตัวเองก็เป็นคนนอนไม่ค่อยจะหลับ หากใครเป็นเหมือนกัน โปรดฟังทางนี้ เพราะเรามีเคล็ดลับมาบอกคุณๆ อ่านจบปฏิบัติตาม รับรองคุณจะนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ

...

1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน

2. ถ้านอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบกลางวันเกิน 45 นาที

3. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมงก่อนนอนและงดการสูบบุหรี่

4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลมประเภทต่างๆ และช็อกโกแลต 6 ชั่วโมงก่อนนอน

5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนัก อาหารเผ็ด หรืออาหารหวาน เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมงก่อนนอน ของว่างเบาๆ สามารถรับประทานก่อนนอนได้

6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน

7. ใช้เครื่องนอนที่ทำให้หลับสบาย

8. ห้องนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและถ่ายเทอากาศได้สะดวก

9. หลีกเลี่ยงเสียงรบกวนทั้งหมดและหลีกเลี่ยงแสงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

10. ใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้เตียงนอนเป็นที่ทำงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ

ส่วนข้อ 10 นี้อาจต้องสะดุดนิดๆ อะๆ อย่างไรก็ตาม ใครสนใจชมนิทรรศการวันนอนหลับโลก ก็ไปชมกันได้ที่ อาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างวันที่ 5-9 มี.ค.นี้ 

ก่อนจากกันไป นพ.วิญญู ชะนะกุล รอง ผอ.กลุ่มภารกิจบริการจิตเวชและสุขภาพจิต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกเราเพิ่มเติมว่า การนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ไม่เฉพาะในโรคต่างๆ แม้ในคนปกติที่ไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็สามารถมีอาการนอนไม่หลับได้

สำหรับอาการ คือ นอนหลับได้ยาก หลับแล้วตื่นบ่อย ตื่นแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ คุณภาพการนอนไม่ค่อยดี ตื่นนอนตอนเช้าไวกว่าปกติ ซึ่งคนปกติทั่วไป สามารถเกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นได้ ประมาณ 1-2 คืนต่อสัปดาห์ เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ พบมากขึ้นในผู้หญิง และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ ความวิตกกังวล หรือความเครียด และหากมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง นอนไม่หลับนานกว่า 3 เดือน อาจสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจ หรือโรคทางจิตเวช จึงควรรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับการรักษา มีทั้งการรักษาสาเหตุที่เกี่ยวข้องโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ เช่น การรักษาโรคกรดไหลย้อน การรักษาโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล การรักษาโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม และการรักษาโดยการใช้ยา เช่น การใช้ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า และยาแก้แพ้ 

เอาละ...ใครนอนไม่หลับนานๆ อาจต้องลองใช้ 10 เคล็ดลับการนอนหลับดู เพราะถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจไม่ดีต่อสุขภาพแน่.